Kindtizen

ภารกิจเสี่ยงตายสายข่าวเกาหลีเหนือ


หนึ่งในงานที่ยากที่สุดของนักข่าวคือการรายงานข่าวเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลนั้นเป็นไปได้ยาก ทั้งจากนโยบายการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด และการที่ประชากรล้วนถูกจับตามองโดยรัฐบาล

หากรัฐบาลตรวจสอบพบการเปิดเผยข้อมูลกับบุคคลภายนอก ผู้ให้ข้อมูลอาจต้องโทษร้ายแรงถึงประหารชีวิตเลยทีเดียว ความจริงที่แสนจะตลกร้ายคือ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง ทำให้เรื่องราวของเกาหลีเหนือควรค่าแก่การทำข่าวมากที่สุด เพราะไม่ค่อยมีใครรู้ความเป็นไปในประเทศนี้เลย


มีนักข่าวมากมายที่ล้มเหลวกับการคุ้ยหาความจริงของเกาหลีเหนือ และบางรายก็ทำได้แค่พาดหัวข่าวเรียกแขก รายงานข่าวลือจากแหล่งข้อมูลนิรนามที่ไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย

ยกเว้น “จิโระ อิชิมารุ” นักข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นวัย 58 ปี หัวเรือใหญ่ของสำนักข่าว ASIAPRESS ในโอซาก้า และหัวหน้าทีมข่าวเกาหลีเหนือ

นักข่าวชาวญี่ปุ่นสามารถทำข่าว “ตามความเป็นจริง” เกี่ยวกับเกาหลีเหนือได้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา “แหล่งข่าว” ของเขาภายในดินแดนที่ปิดกั้นข้อมูลแห่งนี้ ล้วนเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ข้อมูลข่าวที่เป็น “ความจริง”

ผลการสืบค้นบางส่วนของเขารวมอยู่ใน “North Korean VJ” (2011) ภาพยนตร์เปิดตัวของเทศกาลภาพยนตร์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือระดับนานาชาติ ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดทางออนไลน์เมื่อวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเผยความจริงในเกาหลีเหนือคือ สภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนของประชาชน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร้อารยะ ซึ่งเป็นความจริงสองข้อที่รัฐบาลพยายามอย่างหนักเพื่อปกปิดมาตลอด 


พลเมืองชาวเกาหลีเหนือหลายชีวิตเป็นเด็กกำพร้าและต้องอยู่อย่างอดอยาก แม้ว่าวิกฤตอาหารขาดแคลนที่รู้จักกันในชื่อ Arduous March เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1994 – 1998 จะผ่านพ้นไปนานแล้วก็ตาม พวกเขาต้องยืนหยัดต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามปราบปรามการประท้วง ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเปิดเผยถึงชาวเกาหลีเหนือผู้ก่อตั้งตลาดมืด Jangmadang ด้วย

จิโระพยายามรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเองในช่วงแรก แต่ก็ต้องยกธงขาวเพราะนโยบายการเฝ้าระวังของรัฐบาลเกาหลีเหนือที่จับตามองนักข่าวในประเทศเป็นพิเศษ


“หลักการทำงานของสื่อสารมวลชนคือ การไปภาคสนามและพูดคุยกับผู้คน ผมเลยไปเกาหลีเหนือ แต่กลายเป็นว่าผมถูกรัฐจับตามอง รัฐบาลเกาหลีเหนืออนุญาตให้ผมรู้เฉพาะสิ่งที่เขาอยากให้ผมรู้เท่านั้น… ผมยอมแพ้กับการรายงานข่าวด้วยตัวเอง และเริ่มเครือข่ายแหล่งข่าวในปี ค.ศ. 2013 แค่คนเกาหลีเหนือเท่านั้นที่จะทำข่าวได้ มีแค่พวกเขาที่สามารถเป็นพยานยืนยันความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตผู้คนในประเทศนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญและทรงพลังมาก” จิโระกล่าวกับ The Korea Times ระหว่างการสัมภาษณ์ผ่าน Zoom 

“อย่างที่คุณเห็น สถานการณ์ในซีเรียก็อันตรายสำหรับนักข่าวต่างชาติ ทั้งกลุ่ม ISIS และการบริหารงานของอัสซาดที่ใช้ความรุนแรงมาก่อนเลย กลายเป็นว่าประชาชนต้องเผยแพร่ข่าวสารด้วยตนเอง การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือและอุปถัมภ์นักข่าวพลเมืองท้องถิ่นเกิดขึ้นแล้วเช่นกันในยุโรป ส่วนเราเริ่มต้น (นักข่าวพลเมืองท้องถิ่น) มาก่อนประมาณ 5 – 6 ปีแล้ว”

จิโระได้มีโอกาสเยือนประเทศเกาหลีเหนือ 3 ครั้ง แต่เขาไปประเทศจีนประมาณ 90 ครั้ง เพื่อพูดคุยกับชาวเกาหลีเหนือประมาณ 900 คน จิโระเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ โดยได้รับข้อมูลจากพลเมืองท้องถิ่น แหล่งข่าวของ ASIAPRESS พร้อมกับแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อพิพาทคาบสมุทรเกาหลีด้วย

“North Korea VJ” สำเร็จได้ด้วยเครือข่ายแหล่งข่าวเหล่านี้เช่นกัน สายข่าวชาวเกาหลีเหนือ 3 คนได้บันทึกภาพชีวิตผู้คนในเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 – 2011 ด้วยการซ่อนกล้อง และส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้กับทีมข่าวของจิโระ ซึ่งจะนัดเจอกันบริเวณชายแดนจีน-เกาหลีเหนือ


การสร้างเครือข่ายนั้นไม่ง่ายเลย พวกเขาใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับสมาชิกทีมนักข่าวอิสระ 10 คน ที่ประจำตามภูมิภาคต่าง ๆ ในเกาหลีเหนือ อย่างน้อยที่สุดต้องใช้เวลาถึง 1 ปีสำหรับการพิจารณาผู้สมัครเข้าทีมข่าว (ที่ส่วนมากสมัครเพราะต้องการค่าตอบแทน) ว่าสามารถเชื่อใจได้หรือไม่ เพราะคนเกาหลีเหนือใช้เวลาเดินทางไปกลับระหว่างเกาหลีเหนือและจีนโดยเฉลี่ย 1 ปี เมื่อทีมของจิโระและผู้สมัครเริ่มไว้ใจกันและกัน เขาถึงจะเปิดเผยตัวตนและอธิบายถึงภารกิจในการหาข่าว ระหว่างขั้นตอนการสร้างความเชื่อใจ ผู้สมัครชาวเกาหลีเหนือจะได้ทำงานทั่วไป พร้อมได้รับค่าตอบแทนในขณะที่เรียนรู้วิธีการหาข่าว

“สิ่งสำคัญคือการเดินทางไปประเทศจีน พูดคุยกับชาวเกาหลีเหนือที่อพยพจากประเทศทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ช่วงแรกพวกเราก็ระแวงกันเอง แต่เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราสามารถคิดและตัดสินใจได้ว่าพวกเราสามารถเชื่อใจกันได้หรือไม่ ผ่านการพบปะและพูดคุยกันเรื่อย ๆ หลังจากขั้นตอนนี้ เราจะเริ่มจากโปรเจกต์เล็ก ๆ ก่อน สร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกันผ่านคำมั่นสัญญา เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำเสนอข่าวของชาวเกาหลีเหนือให้ทั่วโลกได้รับรู้ มันเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่ก็เป็นพื้นฐานสำหรับงานสายข่าวทั้งหมด”

หลายฟุตเทจจากเครือข่ายนี้ได้รับการเผยแพร่ออกอากาศในสื่อของเกาหลีใต้ รวมถึงสื่อต่างชาติอื่น ๆ เช่น BBC และ CBS ความจริงที่ถูกเปิดเผย ทำให้หลายคนตกใจกับความยากลำบากที่ชาวเกาหลีเหนือต้องเผชิญ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือผู้คนในเกาหลีเหนือ

จิโระกล่าวว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในเกาหลีเหนือนั้นดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เขาเผยแพร่ภาพยนตร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจจากตลาดมืด Jangmadang และการรายงานของสื่อที่เปิดเผยถึงความโหดร้ายภายใต้ระบบการปกครองของเกาหลีเหนือ

Photo Credit: @micha_braendli/ Unsplash

“พวกเรา นักข่าวและประชาคมระหว่างประเทศ สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในเกาหลีเหนือได้ทีละเล็กทีละน้อย ผ่านการรายงานข่าวด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมรู้มาว่าเจ้าหน้าที่รัฐของเกาหลีเหนือพยายามจะลดการทรมานผู้ต้องขัง… ในวิดีโอคุณจะได้เห็นความทุกข์ทรมานของชาวเกาหลีเหนือ แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็จะได้รับรู้ถึงความพยายามอย่างสุดกำลังของชาวเกาหลีเหนือที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสังคมผ่านตลาดมืด Jangmadang”


อย่างไรก็ตามประเทศนี้ก็ยังไร้ซึ่งเสรีภาพทางการเมือง กล่าวคือประชากรชาวเกาหลีเหนือก็ยังตกอยู่ในสังคมที่รัฐสามารถคุกคามและละเมิดพวกเขาได้เสมอ จิโระเสริม

“แต่ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนทางความคิด พลเมืองชาวเกาหลีเหนือถูกลิดรอนเสรีภาพในการคิด การพูด หรือการแสดงออก เนื่องจากสังคมเกาหลีเหนือมีไว้เพื่อตระกูลคิมเท่านั้น เห็นได้จากค่านิยมเสาหลัก 10 ประการ” 

“เกาหลีเหนือเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียที่ล้มเหลวในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมแค่อยากรู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร และหลังจากได้เห็นกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 ผมจึงเลือกเรียนภาษาเกาหลี”


ความสงสัยในเกาหลีเหนือ

สมัยที่จิโระยังเป็นนักเรียน เขาเพียงแค่สงสัยในประเทศลึกลับแห่งนี้ “เกาหลีเหนือเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียที่ล้มเหลวในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมแค่อยากรู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร และหลังจากได้เห็นกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 ผมจึงเลือกเรียนภาษาเกาหลี ต้องขอบคุณความสามารถด้านการใช้ภาษาเกาหลีของผม ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสเจอผู้คนทั้งชาวเกาหลีใต้และชาวเกาหลีเหนือในปีค.ศ. 1990 และผมเริ่มอยากรู้ความเป็นไปของเกาหลีเหนือ”

เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลี หลังจากจบการศึกษาและทำงานที่บริษัทโฆษณาประมาณ 2 ปี จิโระสมัครเป็นผู้สื่อข่าวที่ Mainichi Shimbun หนึ่งในหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะเป็นนักข่าวเฉพาะทางของประเทศเกาหลีเหนือ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่ได้เข้าทำงานที่ Mainichi Shimbun เนื่องจากการเลื่อนขั้นเป็นนักข่าวเฉพาะทางนั้นต้องลงสนามข่าวในประเทศนานถึง 7 ปี จิโระจึงเลือกที่จะเป็นนักข่าวอิสระเพื่อทำงานข่าวด้านเกาหลีเหนือโดยเฉพาะ 

ปัจจุบัน ชื่อจิโระ อิชิมารุ คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญข่าวเกาหลีเหนือในประเทศญี่ปุ่น พร้อมประสบการณ์ร่วม 30 ปี แต่เขาก็ต้องเสี่ยงอันตรายอยู่หลายครั้งเพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูล

“ผมถูกทหารและตำรวจจีนควบคุมตัว ตอนไปชายแดนหลายครั้ง และผมไม่อยากพูดถึงมันอีก” เขากล่าว

ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นระบุว่า ปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการพบสมาชิกสายข่าวนั้นทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนนั้นเข้มงวดขึ้น พร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นไปตามกาลเวลา

“เราระงับโปรเจกต์ถ่ายวิดีโอประมาณปี ค.ศ. 2015 เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย หลังจากรัฐบาลเกาหลีเหนือจริงจังกับการปราบปรามมากขึ้น ผมรู้มาว่ามีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อสอดแนมภายในเมือง และมีการตรวจค้นร่างกายบ่อยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ถึงอย่างนั้น เราก็ยังได้รับข้อมูลจากสายข่าวเป็นครั้งคราวผ่านโทรศัพท์”

สมาชิกสายข่าวในเกาหลีเหนือเองก็พยายามพัฒนาหาหนทางส่งข้อมูล และหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เช่นกัน

“เราพยายามจะขอข้อมูลจากเอกสารราชการลับ เนื่องจากสามารถนำกลับมาถ่ายรูปที่บ้านได้ การถ่ายฟุตเทจนั้นต้องพกกล้อง และส่งข้อมูลยากกว่าด้วย เราพิสูจน์ความน่าเชื่อถือข่าวของเราด้วยเอกสารราชการลับแทน”

โดยล่าสุด ASIAPRESS ได้เปิดเผยข้อมูลจากเอกสารราชการลับ โดยมีใจความว่า ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ยืนยันการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ และให้คำแนะนำการรับมือ COVID-19 สำหรับตำรวจและทหาร ซึ่งรวมถึงการสังหารบุคคลหรือสัตว์ที่ข้ามพรมแดนมายังเกาหลีเหนือ 

แม้ว่าจะเป็นงานที่เสี่ยงชีวิต แต่จิโระก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำงานนี้ ไม่ใช่แค่เพราะงานของเขานั้นทำให้ชาวโลกเข้าใจเกาหลีเหนือมากขึ้น แต่เพราะสมาชิกสายข่าวในเกาหลีเหนือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และกลายเป็นแรงบันดาลใจของเขาไปแล้วเช่นกัน

“นอกจากนักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว เราอยากรายงานเกี่ยวกับเกาหลีเหนือต่อไปเพื่อให้โลกเข้าใจประเทศนี้มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนได้”


“มันไม่ง่ายเลยสำหรับคนญี่ปุ่นที่ต้องทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคาบสมุทรเกาหลี และทำงานร่วมกับคนเกาหลีเหนือ” เขากล่าว “แต่ผมดีใจนะที่ผมทำได้ ผมเรียนรู้อะไรเยอะมากจากคนเกาหลีเหนือ และเรากลายมาเป็นเพื่อนกัน พวกเราไม่ใช่ครอบครัวก็จริง แต่ผมก็เป็นห่วงพวกเขา นี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมยังทำงานตรงนี้ต่อ”

จิโระหวังว่าสถานการณ์ในประเทศเกาหลีเหนือจะดีขึ้น เพื่อที่เขาจะได้เริ่มทำสารคดีชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีเหนือท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 เพราะสิ่งนี้ก็เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวเกาหลีเหนือเช่นกัน

“ตอนนั้นผมอยากสื่อสารให้ทุกคนเห็นว่า สังคมเกาหลีเหนืออยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ผ่าน “North Korea VJ” แต่สำหรับสารคดีใหม่นี้ หลังจากทีมของเราหยุดถ่ายทำฟุตเทจเพราะเป็นห่วงกันเรื่องความปลอดภัย ผมหวังว่าเราจะมีโอกาสได้นั่งคุยกับสมาชิกสายข่าวที่รับหน้าที่ถ่ายวิดีโอ ได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขาทุกคน ให้พวกเขาได้แบ่งปันการผจญภัยระหว่างถ่ายทำ รวมไปถึงชีวิตประจำวันทั่วไปของพวกเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากสถานการณ์ COVID-19 มันเป็นหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์เกาหลีเหนือ และของโลก ผมหวังว่าชาวเกาหลีใต้เองก็จะได้เรียนรู้จากสารคดีเหล่านี้เช่นกัน”



ที่มา


เรื่องโดย