Kind Global

โกโก้กับเบื้องหลังที่ไม่โก้: ความหอมหวานบนความไม่เท่าเทียมของห่วงโซ่อุปทาน


จากเมล็ดโกโก้สู่การเป็นช็อกโกแลต เบื้องหลังที่มาของขนมหวานยอดฮิตกลับเต็มไปด้วยรสชาติหวานอมขมกลืนของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ขณะที่จุดหมายคือความอร่อยให้ผู้คนทั่วโลกได้ลิ้มรส แต่ระหว่างทางกลับต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อและความไม่เป็นธรรมมากมาย

เพราะผลผลิตโกโก้ส่วนใหญ่มาจากทวีปแอฟริกาใต้ จึงอาจกล่าวได้ว่าช็อกโกแลตในมือผู้บริโภคทั่วโลกนั้น มีส่วนผสมของประเทศโกตดิวัวร์กับประเทศกานาอย่างละนิดละหน่อย ท่ามกลางตลาดช็อกโกแลตที่มีมูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และชะตาของผลผลิตที่อยู่ในกำมือผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทางอย่างฟาร์มโกโก้ เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้กลับทำรายได้ต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐต่อวัน

เส้นทางสู่การเป็นขนมหวานระดับโลก

เมล็ดโกโก้จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมหวานอย่างช็อกโกแลต

1. ปลูก หมัก และตากแห้ง

อันดับแรก เกษตรกรจะปลูกต้นโกโก้โดยใช้เมล็ดจากฝักโกโก้มาเพาะ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะไปต่อที่กระบวนการหมักโดยปิดด้วยใบตอง และตากให้แห้งบรรจุลงบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งภายในประเทศต่อไป

2. ขนส่งภายในประเทศ ทำความสะอาด และส่งออก

เมล็ดโกโก้ที่ผ่านกระบวนการตากแห้งแล้วจะเดินทางต่อไปยังคลังทำความสะอาดสินค้าหรือโรงงานแปรรูป และเตรียมพร้อมสำหรับส่งออกไปยังโรงงานผลิตช็อกโกแลตทั่วโลก

3.แปรรูป เข้าสู่กระบวนการผลิตช็อกโกแลต

โรงงานแปรรูปจะทำงานจากการคัดแยก คั่ว และบดเมล็ดโกโก้ และทำให้กลายเป็น โกโก้ลิเคอร์ (Cocoa Liquor) หรือเนื้อโกโก้เหลว โกโก้บัตเตอร์ (Cocoa Butter) หรือไขมันจากโกโก้ และ โกโก้เค้ก (Cocoa Cakes) ที่เหลือจากการแยกโกโก้บัตเตอร์ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นผงโกโก้ต่อไปได้ ผลผลิตจากโกโก้เหล่านี้จะนำไปผสมส่วนผสมอื่น ๆ เช่น น้ำตาลหรือนม เพื่อผลิตเป็นช็อกโกแลตต่อไป

การทำฟาร์มและการค้าโกโก้ถือเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมช็อกโกแลต ปริมาณวัตถุดิบต้นทางที่เพียงพอคือปัจจัยสำคัญที่แปรตรงกับราคาขายต่อผู้บริโภค

แล้วโกโก้พวกนี้มาจากไหนกันแน่?

ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในโลกของห่วงโซ่อุปทานโกโก้

การปลูกโกโก้มีข้อจำกัดทั้งด้านอุณหภูมิ น้ำ และความชื้น กลายเป็นว่าภูมิภาคที่ต้นโกโก้จะเติบโตได้จึงเหลือแค่ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาตอนกลางและตอนใต้ และทวีปเอเชีย เท่านั้น

ประเทศผู้ส่งออกโกโก้รายใหญ่ของโลก 5 อันดับแรกประกอบด้วย ประเทศโกตดิวัวร์ มีมูลค่าการส่งออกโกโก้ถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศกานา 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศแคมารูน 680 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเอกวาดอร์ 657 ล้านเหรียญสหรัฐ และประเทศเบลเยียม 526 ล้านเหรียญสหรัฐ

อันดับ (2019)ประเทศผู้ส่งออกโกโก้มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)
1โกตดิวัวร์3,575
2กานา 1,851
3แคมารูน 680
4เอกวาดอร์ 657
5เบลเยียม 526


โกตดิวัวร์และกานาครองสัดส่วนการส่งออกโกโก้มากถึง 70 % จากทั่วโลก การส่งออกโกโก้นี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และแม้ว่าผู้ส่งออก 4 อันดับแรกจะมาจากภูมิภาคใกล้เส้นศูนย์สูตรทั้งหมด แต่เบลเยียมก็เบียดติดอันดับเข้ามาเช่นกัน

ในทางกลับกัน ประเทศที่นำเข้าโกโก้มากที่สุดเป็นประเทศในทวีปยุโรป ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าการนำเข้า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเยอรมนี 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศสหรัฐอเมริกา 931 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศมาเลเซีย 826 ล้านเหรียญสหรัฐ และประเทศเบลเยียม 719 ล้านเหรียญสหรัฐ

อันดับ (2019)ประเทศผู้นำเข้าโกโก้มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)
1เนเธอร์แลนด์ 2,283
2เยอรมนี 1,182
3สหรัฐอเมริกา 931
4มาเลเซีย826
5เบลเยียม719


โกโก้ที่ผู้นำเข้าอันดับสามอย่างสหรัฐฯ นำเข้ามา ส่วนใหญ่มาจากโกตดิวัวร์ กานา และเอกวาดอร์ ผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่อย่าง Mars Hershey Cargill และ Blommer ล้วนมีฐานที่ตั้งโรงงานและสำนักงานใหญ่ในอเมริกา

สุดท้ายปลายทางจึงไม่น่าแปลกใจเท่าไร เมื่อประเทศผู้นำเข้าโกโก้รายใหญ่เหล่านี้ กลายเป็นประเทศผู้ครองตลาดการส่งออกช็อกโกแลตเช่นกัน

5 อันดับประเทศผู้ส่งออกช็อกโกแลตอันดับแรกคือ ประเทศเยอรมนี มีมูลค่าการส่งออกถึง 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเบลเยียม 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศอิตาลี 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเนเธอร์แลนด์ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศโปแลนด์ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อันดับ (2019)ประเทศผู้ส่งออกช็อกโกแลตมูลค่า
(ล้านเหรียญสหรัฐ)
1เยอรมนี 4,924
2เบลเยียม3,143
3อิตาลี2,100
4เนเธอร์แลนด์1,992
5โปแลนด์1,834


สำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากการเป็นผู้นำเข้าโกโก้มากที่สุดในโลก ยังเป็นประเทศที่แปรรูปโกโก้มากที่สุดในโลกเช่นกันโดยแปรรูปมากกว่า 600,000 ตันต่อปี และครองอันดับที่ 4 สำหรับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากช็อกโกแลต

เบลเยียมเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทอย่างมากในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมช็อกโกแลต ทั้งการนำเข้าเมล็ดโกโก้จากประเทศแหล่งวัตถุดิบและการส่งออกทั่วทวีปยุโรป นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานช็อกโกแลตระดับโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งออกช็อกโกแลตทุก ๆ ปี ดังที่เห็นจากมูลค่าการส่งออกซึ่งสูงถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กะเทาะเปลือกโกโก้: โครงสร้างราคาของช็อกโกแลตหนึ่งแท่ง

เรื่องน่าเศร้าที่พอจะเดาออกจากโครงสร้างราคาของช็อกโกแลตคือสัดส่วนราคาที่แบ่งกันไป ได้แก่ บริษัทผู้ค้าปลีกรับส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 44.2 % โรงงานผู้ผลิตช็อกโกแลตคิดเป็น 35.2 % โรงงานแปรรูปคิดเป็น 7.6 % เกษตรกรคิดเป็น 6.6 % การทำการตลาด 4.2 % และที่เหลือประมาณ 2.1 % คือค่าใช้จ่ายภายในกระบวนการขนส่ง


จากผู้ถือครองวัตถุดิบตั้งต้นของขนมหวานทั่วโลกและส่งออกโกโก้เป็นตัน ฟาร์มโกโก้กลับทำรายได้เพียง 6.6 % ซึ่งน้อยที่สุดในบรรดาผู้ค้าโกโก้

รายได้ที่ต่ำเตี้ยนำมาซึ่งปัญหาระดับชาติในอุตสาหกรรมการผลิตโกโก้

ธนาคารโลกได้กำหนด “เส้นความยากจน” หรือเกณฑ์รายรับต่อวันที่ใช้วัดระดับความยากจน ต่ำสุดอยู่ที่ 1.9 เหรียญสหรัฐ (57.48 บาท) ต่อวัน และเกษตรกรชาวกานาได้รับค่าแรงเพียง 1 เหรียญสหรัฐ (30.25 บาท) ต่อวันเท่านั้น ส่วนเกษตรกรชาวโกตดิวัวร์ได้รับค่าแรงต่ำถึง 0.78 เหรียญสหรัฐ (23.60 บาท) ต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนไปมาก

เหตุเพราะรายได้อันน้อยนิด ปัญหาที่ตามมาคือเกษตรกรไม่สามารถแบกรับต้นทุนในการปลูกโกโก้ได้ไหว เหล่าเกษตรกรจึงต้องจ้างแรงงานเด็กยากจนที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ และเด็กเหล่านี้ยังต้องเผชิญสภาพการทำงานที่โหดร้าย แลกกับรายได้เพียงน้อยนิด หรืออาจจะไม่ได้อะไรเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบัน การทำฟาร์มโกโก้บางส่วนมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ฟาร์มโกโก้เถื่อนเหล่านี้เร่งปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างภาวะโลกร้อนให้เร็วขึ้น และทำลายระบบนิเวศภายในประเทศ ส่งผลให้สัตว์หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์

ปัญหาที่พันกันเป็นปมยุ่งเหยิงเหล่านี้ต้องการการจัดการอย่างเร่งด่วน แล้วเหล่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโกโก้ แก้ไขมันอย่างไรบ้าง?

มาตรการแก้ไขปัญหา

Mars, Nestle และ Hershey หนึ่งในผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ของโลก ได้กำหนดข้อผูกพันทางการค้าเพื่อจะลดการใช้แรงงานเด็กในฟาร์มโกโก้มามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ เช่น UTZ Certified หรือ Rainforest Alliance, and Fairtrade กำลังพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าได้ โดยการสร้างมาตรฐานการค้าโกโก้ ผ่านการรับรอง UTZ Certified ซึ่งผลผลิตโกโก้ที่ได้มาตรฐานนี้มาจากฟาร์มที่ปลูกโกโก้อย่างรับผิดชอบต่อสังคม ยั่งยืน และไม่มีการใช้แรงงานเด็ก


มากไปกว่านั้น ประเทศโกตดิวัวร์และประเทศกานาได้ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหา โดยการกำหนดราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน สำหรับสัญญาการซื้อขายล่วงหน้า มุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตเกษตรกรผ่านสหภาพผู้ค้าโกโก้ หรือที่รู้จักกันในนาม COPEC (Chamber of Petroleum Consumers)

แม้ว่านโยบายเหล่านี้จะเริ่มแสดงผลให้เห็นบ้างแล้ว แต่ปัญหายังคงเหลืออีกมากและการแก้ไขก็ยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อปลดแอกทั้งการใช้แรงงานเด็กและความยากจนของแรงงานทุกคนในห่วงโซ่อุปทานอันแสนขมขื่นของขนมหวานระดับโลกให้สำเร็จ


ที่มา


เรื่องโดย

ภาพโดย