Kind Creatures

แมวกับชนเผ่าเร่ร่อน: หลักฐานที่แสดงว่า เราตกเป็นทาสของเจ้าเหมียวมานานนับพันปี!


ปัจจุบันหลาย ๆ บ้านคงมีแมวประจำครอบครัวกันมากขึ้น ทำให้นายท่านของเราทั้งหลายถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะในสหรัฐฯ นักวิจัยพบว่า แมวเป็นสัตว์นักล่าที่ฆ่านกป่าท้องถิ่นราว 1.3-4.0 พันล้านตัวต่อปี และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 6.3-22.3 พันล้านตัวต่อปี และจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในหนังสือ Cats in Australia: Companion and Killer เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า “ในเวลาเพียงหนึ่งวัน แมวหลายล้านตัวในออสเตรเลียจะฆ่านกประมาณ 1.3 ล้านตัว สัตว์เลื้อยคลาน 1.8 ล้านตัว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 3.1 ล้าน”

ขณะเดียวกันหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เราเห็นว่า การจำกัดพื้นที่ให้แมวอยู่แต่ในบริเวณบ้านนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใหม่ที่ค้นพบอยู่ทางตอนใต้ของคาซัคสถานแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เมื่อเกือบหนึ่งพันปีที่แล้ว เขาเลี้ยงแมวระบบปิดกันมาตั้งนานแล้ว!


นอกจากจะรู้ว่าเจ้านายของใครหลาย ๆ คน ได้รับความรักและเอาใจใส่มานานถึงหนึ่งสหัสวรรษ ยังทำให้เส้นทางสายไหมที่ผู้คนในอดีตเคยใช้ติดต่อทำการค้า แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประวัติศาสตร์ร่วมกัน กลายเป็นเส้นทางสายพิเศษขึ้นไปอีก เพราะประเทศมหาอำนาจอย่างจีนเอง ก็พยายามผลักดันให้เกิดเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) ที่ไม่ทับกับเส้นทางเดิม หรือเรียกอีกชื่อว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ซึ่งมุ่งหมายที่จะขยายเส้นทางการค้าเชื่อมโยงยูเรเชียทั้งทางบกและทางทะเล


กลับมาที่หลักฐานการค้นพบกันต่อ โชคยังดีที่โครงกระดูกของเจ้าเหมียวเมื่อพันปีก่อน ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทำให้นักโบราณคดีสามารถคาดการณ์ได้ว่า เจ้าเหมียว (เพศผู้) ตัวนี้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 8 นอกจากนั้น พวกเขายังยืนยันได้อีกว่า แมวตัวดังกล่าวเป็น “แมวที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความรัก”

จากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports โดย ดร. Ashleigh Haruda ผู้นำการศึกษาและนักวิทยาศาสตร์การวิจัยหลังปริญญาเอกจาก Central Natural Science Collections ที่มหาวิทยาลัย Martin-Luther University Halle-Wittenberg ของเยอรมนี ได้แสดงหลักฐานที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า

“จากการทดสอบโครงกระดูกของแมวที่พบตามเส้นทางสายไหม ทางตอนใต้ของคาซัคสถานพบว่า แมวอาจเป็นสัตว์เลี้ยงของชนเผ่าเร่ร่อนในพื้นที่มาก่อน”


“ในขณะที่อารยธรรมเก่าแก่บางแห่งของอียิปต์ และโรม ปรากฏหลักฐานว่า พวกเขาได้เลี้ยงแมวไว้เป็นสัตว์เลี้ยง แต่เราก็ไม่ค่อยรู้เรื่องราวของแมว ในช่วงเวลาและสถานที่ดังกล่าวมากนัก” ดร. Haruda กล่าว “ดังนั้นการค้นพบหลักฐานชิ้นนี้ ช่วยให้เราเห็นภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น เกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนปฏิบัติต่อแมวในอดีต”


Claudio Ottoni นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Sapienza แห่งกรุงโรม ได้ทำการศึกษาด้านอื่นเพิ่มเติม โดยเน้นไปที่ต้นกำเนิดของการนำแมวมาเลี้ยงไว้ในบ้าน ของประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันออกโดยเฉพาะ

“โครงกระดูกแมวที่ค้นพบตามเส้นทางสายไหม มันหาได้ยากมาก ๆ และมันเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนั้นเลยก็ว่าได้” เขากล่าว และเสริมว่า “แมวถูกมองข้ามมาเป็นเวลานาน เพราะโครงกระดูกของพวกมันในบริบททางโบราณคดีนั้น เราแทบจะหาหลักฐานเกี่ยวกับมันไม่เจอเลย นอกจากนี้การระบุตัวตนตามหลักฐานทางกระดูก ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยากอีกด้วย”


ขณะที่การศึกษาเกี่ยวกับกระดูกบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตได้มากมาย และโครงกระดูกชิ้นนี้ ก็มีอะไรให้เราต้องศึกษาจากมันอีกมาก

“การศึกษาเกี่ยวกับกระดูกนั้น ไม่เพียงทำให้เรารู้ว่า กระดูกแต่ละชิ้น เป็นของสัตว์ชนิดใดหรือของใคร แต่ยังบอกให้เราสามารถสืบหาไปถึงต้นตอของบรรพบุรุษของกระดูกชิ้นนั้น ๆ โดยผ่านการตรวจสอบจากดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ และอาหารที่เคยทาน ผ่านการวิเคราะห์ไอโซโทป” ดร. Haruda ตอบกลับผ่านทางอีเมล

แมวจากเส้นทางสายไหมกับการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของเอเชียกลาง

โครงกระดูกของแมวจากเส้นทางสายไหมที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ชิ้นนี้ ถูกค้นพบในเมือง Dzhankent ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของคาซัคสถาน ในอดีตมีชาวเติร์กเผ่าโอกูซ (Oghuz) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ความสมบูรณ์ของมันทำให้นักโบราณคดีประหลาดใจไม่น้อย

เพราะชาวเผ่าโอกูซเป็นชนเผ่าเร่ร่อน จึงออกเดินทางบ่อย และสัตว์เลี้ยงที่พวกเขานำไปด้วยนั้น มักเป็นสัตว์ที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าทั้งสิ้น แต่ในกรณีของแมวนั้น กลับต่างออกไป


เพราะแมวไม่ได้มีหน้าที่เหมือนสุนัขที่ชาวโอกูซเลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าฝูงสัตว์ ดร. Haruda อธิบาย และกล่าวเสริมว่า พวกเขาอาจเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขึ้นระหว่างทำการค้า

“เรารู้ว่าพวกเขา (ชาวเติร์กเผ่าโอกูซ) มักออกเดินทางอยู่เสมอ โดยมีฝูงแกะ แพะ วัว ควาย และม้า จำนวนมากออกเดินทางไปด้วย โดยสัตว์ทุกชนิดที่พวกเขาครอบครอง มีไว้เพื่อประโยชน์ทางการค้าทั้งสิ้น ซึ่งคล้ายกับวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตทุ่งหญ้าสเตปป์ ในช่วงเวลาหลายพันปีก่อนหน้านั้น” ดร. Haruda กล่าว

การวิเคราะห์กระดูกและโปรตีนยืนยันว่า เจ้าเหมียวตัวนี้ได้รับความรักอย่างล้นหลาม!

จากการใช้เครื่องสแกน 3 มิติ และนำมาวิเคราะห์ด้วยรังสีเอกซ์ ชี้ให้เห็นว่า แมวได้รับความทุกข์ทรมานจากกระดูกที่หัก แต่ก็หายเป็นปกติอีกครั้ง พวกเขาจึงสันนิษฐานว่า

แมวตัวนี้ได้รับการปฐมพยาบาล และถูกเลี้ยงดูอย่างดีจากมนุษย์ แม้ว่าพวกมันจะไม่มีประโยชน์ต่อการค้าขายของผู้คนในอดีตเลยก็ตาม


นอกจากนี้ร่างของมันที่ขุดพบก็ถูกฝังลงดินแทนที่จะปล่อยทิ้งไว้เป็นอาหารของสัตว์ชนิดอื่น


จากการวิเคราะห์ไอโซโทปพบว่า โครงกระดูกของแมวตัวนี้ เมื่อนำไปเทียบกับโครงกระดูกสุนัขที่ขุดพบในบริเวณใกล้เคียงกัน มีปริมาณโปรตีนสูงกว่ามาก หมายความว่า แมวได้รับการเลี้ยงดูจากมนุษย์จริง ๆ และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ ดร. Haruda และทีมปักใจเชื่อคือ โครงกระดูกแมวที่ค้นพบนั้น ไม่หลงเหลือฟันอยู่เลยสักซี่ แต่มันก็ยังได้รับสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนในปริมาณสูงอยู่ดี

เมื่อนำมาวิเคราะห์ในระดับดีเอ็นเอ เผยให้เห็นว่า โครงกระดูกแมวที่พบนั้น เป็นแมวบ้าน (Felis catus L.) ไม่ได้มีความใกล้ชิดกับแมวพัลลัส ซึ่งเป็นแมวป่าแต่อย่างใด ดร. Haruda กล่าว


อย่างไรก็ตาม ดร. Haruda หวังว่า จะสามารถค้นพบหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์ชนิดอื่นที่เคยเดินทางผ่านเส้นทางสายไหม ซึ่งโครงกระดูกแมวชิ้นนี้ มีความโดดเด่นอย่างมาก ในฐานะหลักฐานชิ้นสำคัญที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้นักโบราณคดีจึงสามารถรวบรวมหลักฐานจากชิ้นส่วนที่หลงเหลืออยู่ เพื่อนำมาพิสูจน์ว่า แมวในอดีตนั้น ได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูง และได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี และแมวน่าจะถูกนำมาเลี้ยงในเอเชียกลางเร็วกว่าที่พวกเขาคาดคิดไว้มาก


ที่มา


เรื่องโดย