Mankind

เมื่อ “การแยกขยะ” กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ โรงเรียนรุ่งอรุณ


โรงเรียน
_

พื้นที่หล่อหลอมเด็กให้รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม
ความยั่งยืนที่เริ่มต้นจากการปลูกฝังให้ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง


คำถาม: คิดอย่างไรกับการแยกขยะ?

น้องเน้ย: การแยกขยะ หนูรู้สึกว่ามันเป็นระเบียบดีค่ะ รู้สึกสบายตา   

น้องโชกุน: ก็คิดว่าถ้าเราไม่แยกขยะให้มันดี เราอาจจะทิ้งไปเรื่อย ๆ แล้วเผา เวลาที่เขาจะเอาขยะที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ไม่ได้รีไซเคิลแล้วไปเผา มันก็จะเกิดมลพิษกับโลก 

น้องปุณปุณ: ที่ผมเก็บเพราะผมรู้สึกว่า ถ้าเราทิ้งไว้เรื่อย ๆ เนี่ย โลกอาจจะร้อน เพราะว่าคนเอาไปทำอะไรมั่ว ๆ แยกมั่ว เผามั่ว อย่างที่เราทำกันอยู่ปัจจุบันนี้ 


มุมมองเรื่องการแยกขยะจากตัวแทนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 3 คน คือ “น้องเน้ย-อนัญญา จิตรพานิชเจริญ” “น้องโชกุน-ธันวา วิโรจน์วัฒนกุล” และ “น้องปุณปุณ-ณัฐรัชต์ สุระประเสริฐ” จากโรงเรียนรุ่งอรุณ กับคำถามสั้น ๆ ที่ว่า “คิดอย่างไรกับการแยกขยะ?” ซึ่งคำตอบที่ได้มานั้นทำให้เราเห็นว่า เด็ก ๆ ไม่เพียงแค่เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขายังเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อสังคม และโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย



ถึงเวลาปฏิวัติขยะในโรงเรียน!
_


โรงเรียนทำเรื่องการศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษาสามารถเข้าได้กับทุกเรื่อง เรื่อง ‘ขยะ’ ก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาการศึกษาเข้าไปในการแยกขยะซะ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นภาระเพิ่ม หรืออะไรแปลกใหม่ เพียงเราจัดสรรให้มันลงตัว


บทสัมภาษณ์ของ “ครูปราณี หวาดเปีย” หรือ “ครูปุ้ย” หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนรุ่งอรุณ ย่านบางขุนเทียน หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบของการจัดการทรัพยากรขยะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 


โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากปัญหาปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมากในบริเวณโรงเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบ ทางโรงเรียนจึงใช้โอกาสนี้ จัดการเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้แก่ทุกคนภายในชุมชนของโรงเรียน ผ่านโครงการ “ของเสียเหลือศูนย์ Zero Waste” เพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียน และชุมชนรอบโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาของขยะ และหันมารู้คุณค่า รู้กิน รู้อยู่ รู้ใช้ รู้พอดีในการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยครูปุ้ยให้สัมภาษณ์ต่อว่า

“เราให้ความรู้ว่า ขยะมันเกิดจากอะไร ขยะมันเกิดจากทุกคนที่สร้างมันขึ้นมา จะผ่านการกินหรือการทำงานอื่น หรือกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ข้อสำคัญก็คือ คุณก็จะต้องดูด้วยว่าขยะที่คุณกำลังจะทิ้งน่ะ มันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เช่น ขวดน้ำ ถ้าใช้งานเสร็จก็ต้องมานั่งแกะฉลาก แกะฝา เอาน้ำรดต้นไม้ แยกให้ถูก คือไม่ใช่แค่นักเรียน ทุกคนเลย แขกที่มาดูงาน ครู พนักงานทุกคน ที่นี่ก็เหมือนกับเป็นห้องเรียนห้องหนึ่ง เพียงแต่ว่านักเรียนจะไม่ใช่แค่อนุบาลถึงมัธยม เพราะทุกคนที่เข้ามาที่นี่เป็นนักเรียนหมด แม้กระทั่งตัวเรา เราก็เป็นนักเรียน”


การจัดการทรัพยากรขยะของโรงเรียนรุ่งอรุณ ไม่เพียงแค่ปลูกฝังให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเท่านั้น ทว่ายังขยายขอบเขตไปยังทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ของโรงเรียน ทั้งคุณครู พนักงาน กลุ่มคนที่เข้ามาศึกษาดูงาน รวมถึงชุมชนบริเวณรอบโรงเรียนด้วยเช่นกัน 



“ปัญหามันเกิดตรงที่ว่า ก็ไม่อยากได้ แล้วทำไมถึงไม่อยากได้ คิดแต่ว่าก็ไม่อยากได้แล้ว แต่มันต้องกลับไปมองว่า ของที่เราจะทิ้งเนี่ย มันยังมีทรัพยากรอยู่เลย อย่างขวดน้ำเด็กเอาไปทำงานได้ คนงานเอาใส่น้ำเพื่อไปทำอะไร ๆ อย่างงี้ต่อก็ได้ หรือเด็กเอาไปทำการทดลอง มันเปลี่ยนสายตา หรือเปลี่ยนมุมมองว่าขยะเป็นทรัพยากร มันคือทรัพยากร เราจะยืดการใช้งานของของชิ้นนั้นน่ะให้นานที่สุด ให้มากที่สุด ยังไงมันก็ต้องไปรีไซเคิลอยู่แล้ว ใช้มันอีกได้มั้ย เหมือนกับว่าอะไรนะ เกิดมาชาติหนึ่งต้องใช้ให้คุ้ม” ครูปุ้ยกล่าว

แม้หลายคนจะมองว่าขยะไม่มีคุณค่า และไม่มีมูลค่า อีกทั้งยังไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาขยะอย่างแท้จริง จึงไม่เห็นถึงความสำคัญที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่

หากเรามองว่า “ขยะ” ที่เราทิ้งไปนั้นยัง “มีค่า” ปรับเปลี่ยนมุมมองว่า “ขยะ คือ ทรัพยากรที่เรายังสามารถนำใช้ต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้” ขยะเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีค่าที่ทุกคนไม่อาจละเลยได้ 



เรียนรู้อย่างเข้าใจในทุก ๆ พื้นที่
_


ช่วงวัยของนักเรียน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเรียนรู้ และการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องของการแยกขยะแตกต่างกันออกไป ครูปุ้ยบอกกับเราว่า สิ่งแรกที่ควรทำก่อนเลยก็คือ การทำความเข้าใจกับตัวเอง และสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ เช่น ช่วงระดับชั้นอนุบาลก็จะมีวิธีการสอนในรูปแบบหนึ่ง ส่วนระดับชั้นมัธยมก็จะมีการสอนอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ เด็กสามารถเรียนรู้อย่างเข้าใจ และฝึกปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน “การเรียนรู้อย่างเข้าใจ” จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเรียนการสอนขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“ถ้าเป็นเด็กเล็กเราก็จะคุยว่า ถ้าเป็นอนุบาลอย่างนี้ ก่อนจะเอาขวดนมลงถังเนี่ยนะถอดเสื้อผ้าให้เขาก่อนได้ไหม ที่สอนง่ายที่สุดคืออนุบาล ที่สอนยากที่สุดคือผู้ใหญ่อย่างเรา ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ต้องว่ะโว้ยบ้าง หรือไม่ประมาณว่า พูดไม่ต้องมีคะ มีขา สมมติหนูเป็นเด็กม. 5 งี้ เด็กมาก็ “ครูแยกไหนอะ” ครูก็อาจจะตอบไปว่า “แล้วทำไม เธอไม่แยกอ่ะ” อะไรอย่างเนี้ย คือเราก็ต้องไปกับเขา หรือบางที เห็นเขาทำดีนิดหนึ่งเราต้องชมเลย รีบชื่นชม หรือรีบเยี่ยมอะไรอย่างเนี่ย”

โรงเรียนแห่งนี้ คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถลงมือปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ การนำขยะมารีไซเคิล หรือการนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ย โดยมีคุณครูคอยให้ความรู้และคำแนะนำ แต่นอกเหนือจากในโรงเรียนแล้ว พื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือสถานที่ข้างนอก นักเรียนมีวิธีจัดการกับขยะอย่างไรบ้าง ตัวแทนนักเรียน 3 คนจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ให้สัมภาษณ์กับเราว่า


น้องโชกุน: อย่างที่บ้านผม ผมแยกครับ เราจะทำเป็นเหมือนสถานี เอากล่องมาตั้ง ๆ และเราก็บอกว่าอันนี้เป็นกระดาษรวมอันนี้เป็นอลูมิเนียม อันนี้เป็นถุงพลาสติก ส่วนเวลาไปเดินห้างบางครั้งผมก็เก็บกลับมาแยกที่บ้านเก็บมาล้าง


น้องเน้ย: แยกค่ะ อันไหนขายได้ก็ขายค่ะ อันไหนขายไม่ได้ก็เอามารีไซเคิล ที่ห้างหนูก็ทำเหมือนกันค่ะ ถ้าไม่มีถังแยกที่นั่น หนูก็จะเก็บแยกใส่ถุงพลาสติกไว้ แล้วมาแยกต่อที่บ้าน 


น้องปุณปุณ: ของผมคือที่หมู่บ้านจะมีที่แยกอยู่แล้ว คือเราจะแยกกันเองที่บ้านก่อน เสร็จแล้วแม่ก็จะให้ผมปั่นจักรยานไปแยกที่หลังหมู่บ้านอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าที่ห้างมีผมก็แยกที่ห้าง บางทีผมเห็นคนไม่แยกผมก็หยิบมาแยกบ้าง แต่ถ้ามันสกปรกมากผมก็ไม่แยก


เมื่อนักเรียนสามารถเรียนรู้อย่างเข้าใจ โดยเริ่มต้นจากสถาบันการศึกษา การจัดการขยะจึงกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของพวกเขาไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน บ้าน หรือสถานที่ไหน ๆ ทุกพื้นที่ก็เปรียบเสมือนห้องเรียนที่ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และเมื่อการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในขอบเขตพื้นที่ การจัดการขยะจึงได้รับการส่งต่อออกไปในวงกว้างมากขึ้นผ่านเด็กรุ่นใหม่ในช่วงเจนเนอเรชั่น Z (พ.ศ. 2543-2553) ทั้งทางสถาบันครอบครัว ชุมชนที่อยู่อาศัย สังคมในกลุ่มเพื่อน จนกระทั่งสังคมระดับจังหวัด หรือประเทศ เรียกได้ว่าเป็นการปลูกฝังค่านิยมการจัดการขยะให้กลายเป็นความปกติในสังคม ที่จะส่งผลต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นในระยะยาว 



เพราะการแยกขยะไม่ใช่ความล้าหลัง
_


“ถ้าเกิดเราไม่แยกขยะ โลกเราจะเกิดมลพิษร้อนได้ เพราะว่าถ้าเราไม่แยกแล้วเอาขยะไปเผา แล้วน้ำแข็งที่ทวีปอื่นก็จะละลายทำให้น้ำท่วมโลก เกิดมลพิษแล้วก็ร้อนด้วย” – น้องโชกุน

“หนูว่าการแยกจะทำให้โลกสะอาดขึ้น ไม่มีมลพิษ แล้วก็จะไม่มีโรคระบาด ทำให้ติดเป็นนิสัย แล้วก็จะเป็นคนที่มีระเบียบ และก็มีความรับผิดชอบ” – น้องเน้ย

เมื่อเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว ปัญหาเรื่องขยะและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรหันมาใส่ใจ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบใหญ่ไปสู่สังคมในอนาคตที่พวกเขาอยากให้เป็นได้ เด็กได้รับการปลูกฝังให้มีความรับผิดชอบตัวเอง และความรับผิดชอบต่อสังคมจากโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้วิธีการแยกขยะ หรือการนำทรัพยากรขยะมารีไซเคิล หากเรามองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องล้าหลัง และมุ่งเน้นให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ ให้ทัดเทียมกับการศึกษาในแง่อื่น ๆ สังคมในอนาคตที่ทั้งเรา และเด็ก ๆ รุ่นถัดไปคาดหวังไว้ก็ไม่น่าไกลเกินเอื้อม

ครูมองว่าเด็กรุ่นหลังควรมีการแยกขยะ ซึ่งการแยกขยะไม่ใช่เรื่องของความล้าหลัง
หรือเรื่องที่จะต้องเอาไปแปะไว้ท้ายแถวอยู่เรื่อย พอมีงานอื่นแทรกเข้ามาก็เอางานอื่นก่อน
เอาการแยกขยะขยับออกไปอีก มันไม่ใช่ เรื่องขยะทำให้เราเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ชีวิตสังคม
สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการสืบทอดไปเรื่อย ๆ นั่นก็คือความยั่งยืน โดยที่จะมีเรื่องราวดี ๆ สอดแทรกเข้ามา มันอยู่ที่ว่าเราหามันเป็นมั้ย หามันได้หรือเปล่า



การศึกษากับความยั่งยืน
_



การศึกษากับความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ถือว่ามีความสอดคล้องและสนับสนุนกันอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเรานำเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาในบริบทของการศึกษา ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงทุกระดับชั้น รูปแบบการเรียนการสอน และการนำไปใช้จริงจะเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ จนนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อระบบสิ่งแวดล้อมของสังคม รวมไปถึงโลกด้วย และรูปแบบของการศึกษานั้นต้องมิใช่เพียงการเรียนรู้เฉพาะทฤษฎีเท่านั้น แต่การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาในมิติด้านสิ่งแวดล้อมเกิดความยั่งยืน ตามที่ครูปุ้ยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ยั่งยืนในความหมายของเราหมายถึงว่ามันมีไปเรื่อย ๆ มันถูกทำไปเรื่อย ๆ เพียงแต่ว่าวิธีการหรือว่ากระบวนการอาจจะเปลี่ยนไป แต่ความจริงของมันก็คือ ยังทำไปเรื่อย ๆ อยู่เพียงแต่ว่าใครจะมีเทคนิคที่ทำให้คนเข้าใจเร็วขึ้น ง่ายขึ้น แล้วถ้าถามว่าเกี่ยวข้องยังไงกับการศึกษาหรือว่ามันไปด้วยกันได้ยังไง มันต้องมีการศึกษา การศึกษามันคือให้คนได้ลงมือทำเหมือนที่เราเนี่ย ถ้าเราเอาแต่ท่อง ๆ มันก็ไม่ได้ค่ะ”

เพราะการศึกษาคือการให้คนเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองรู้ หรือเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองมีข้อมูลโดยต้องลงมือปฏิบัติ พอเราปฏิบัติเราจะเห็นคุณค่าของการลงมือทำมากมาย
เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นความยั่งยืนที่แตกสาขาไปอีก ทำให้ไปต่อกับเรื่องอื่นได้ ไม่ใช่แค่การแยกขยะอย่างเดียว

ครูปุ้ย กล่าวทิ้งท้าย


เรื่องโดย