Kindworld

“หรีดบุญ” พวงหรีดใช้ซ้ำที่นำสิ่งดี ๆ สู่สังคม


“วัด” นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนา ยังเป็นที่พึ่งพาสำหรับปล่อยวางความทุกข์ เป็นที่พึ่งทางใจให้เราได้ทิ้งความทุกข์เอาไว้และก้าวเดินต่อไปข้างหน้า นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้แล้ว สถานที่สำคัญของทุกชุมชนเช่นวัด ที่ควรจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน ได้กลับกลายเป็นศูนย์รวมขยะมูลฝอยด้วยเช่นเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาขยะภายในวัดส่วนใหญ่มาจากการประกอบกิจกรรมทางศาสนา จากการคำนวณของกรมควบคุมมลพิษเมื่อ พ.ศ. 2547 พบว่าขยะจากกิจกรรมเหล่านี้เฉลี่ยแล้วคิดเป็นวันละ 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อคนเลยทีเดียว โดยเฉพาะขยะที่เป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนมาก อายุการใช้งานสั้น เช่น พวงหรีดที่มีอายุไม่มากไปกว่า 7 วัน

ขยะพวงหรีดกลายเป็นภาระของวัด ปัญหาเรื่องการจัดเก็บและจัดการขยะเหล่านี้
ถูกทิ้งไว้เป็นปัญหาของวัดและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าวัดบางแห่งจะแก้ปัญหาโดยการงดรับพวงหรีด แต่ทางออกเหล่านี้ก็เป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ เป็นภาระของคนปลายน้ำเท่านั้น

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 คุณปลา-ปารวี วาสิกะสิน และเพื่อนสนิท คุณพีท-พีท อุไรพงษ์ นักบินและลูกเรือสายการบินผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้โดยตรง ได้เริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะผู้ริเริ่ม หรีดบุญ LeadBoon “พวงหรีดเพื่อการทำบุญและสิ่งแวดล้อม” โดยเป็นพวงหรีดที่นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำรายได้ 25 % ได้บริจาคเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม


“เวลาไปวัดเราจะเห็นกองขยะ ขยะเยอะมาก ขยะจากพวงหรีดทั่ว ๆ ไป มันเยอะมากจริง ๆ ยิ่งนับวันมันยิ่งเยอะ เพราะว่าพอเวลาคนเราเป็นที่รู้จัก พวงหรีดก็จะมาเป็นร้อยอัน พอหมดพิธี ก็กลายเป็นขยะกองทับถมแบบมองไปเห็นเป็นภูเขาเลย” คุณพีทกล่าว




คุณค่าจากการให้
_

จากประสบการณ์การที่คุณปลาเคยมีงานอดิเรกวาดภาพขายออนไลน์ (Microstock Photo) และแบ่งรายได้บริจาคถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ นำมาสู่แนวคิดพวงหรีดเพื่อการกุศล “ปลาคิดว่าที่ทำมันดีมาก ๆ เลยนะคะ เราได้นำรายได้ส่วนหนึ่งไปแบ่งปันกับคนโดยเราไม่ได้ลำบากมากมาย เหมือนยิ่งทำเรายิ่งได้ สังคมก็ยิ่งได้ รู้สึกแบบ win-win มันก็เป็นธุรกิจที่ดี เลยเอาแนวคิดนี้มาคุยกับพีท จริง ๆ ถ้าเราขายอะไรแล้วเงินส่วนหนึ่งเอาไปทำประโยชน์มันน่าจะดี” คุณปารวีแบ่งปันแนวคิดที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มเล็ก ๆ ที่เกิดจากการให้

“มันกลายเป็น Core Concept ของเรา ก็คือ ต้องช่วยลดโลกร้อนได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกอันก็คือต้องเป็นทางผ่านเพื่อพัฒนาสังคมอะไรบางอย่าง” คุณพีทกล่าวเสริมสำหรับหัวใจหลักของแนวคิดการดำเนินธุรกิจ “หรีดบุญ”

ด้วยจุดเริ่มต้นจากความต้องการให้เป็นประโยชน์สูงสุด คุณพีทยังมองถึงประโยชน์ของลูกค้าในฐานะผู้ให้ “ลูกค้าทุกคนปกติส่งพวงหรีด ไม่ได้อะไรกลับมา ถูกมั้ยครับ คือส่งพวงหรีดก็จบเลย เนื่องจากว่าของเราเป็นพวงหรีดเพื่อการทำบุญอยู่แล้ว เราก็หากระบวนการทางภาษีหรือกระบวนการที่จะคุยกับสรรพากร คือทำยังไงดี ให้ลูกค้า เวลาบริจาคเสร็จแล้วก็ได้ในส่วนลดหย่อนภาษีตรงนั้นด้วย เป็นคุณค่าที่เพิ่มขึ้นมา”

นอกจากประโยชน์โดยตรงสำหรับลูกค้า ยังเพิ่มคุณค่าทางใจด้วยการบริการที่ไม่จบแค่การส่งพวงหรีด “ทุกวันนี้พีทเจตนาไปส่งเอง จริง ๆ ทุกวันนี้เวลาขารับพวงหรีดกลับบางทีเราอาจจะเรียกรถมารับกลับ แต่ขาไปส่งพวงหรีดพีทพยายามจะไปส่งด้วยตัวเอง หากไม่ติดธุระอื่น เหตุผลหนึ่งคืออยากไปดูว่าเขารู้สึกยังไงกับแนวคิดใหม่ของเรา แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือพีทมองว่ามันเป็นคุณค่าหนึ่งของพวงหรีดด้วย ปกติถ้าสมมติเราจ้างวินไปส่งพวงหรีด เขาก็เดินไป ‘ส่งพวงหรีดครับ’ แล้วก็กลับ ถ้าเป็นพีทไปส่งเอง พีทจะเดินไป ‘ขอแสดงความเสียใจด้วยนะครับ’ แล้วก็จะบอกว่า ‘พวงหรีดนี้เป็นพวงหรีดเพื่อการทำบุญ เราจะนำเงินบางส่วนทำบุญที่รพ.สงฆ์ (ตัวอย่าง) เพื่ออุทิศให้กับคุณพ่อ… (เอ่ยชื่อ) ครับ’ เป็นชื่อของเขา พีทรู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกทางใจที่ดีต่อเจ้าภาพ เพราะคุณค่าที่เพิ่มมาแล้วทำให้เจ้าภาพรู้สึกดี ลูกค้าเราก็จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ หมายถึงว่าเจ้าภาพเขาต้องรู้สึกดีกับผู้ส่งด้วย”

คุณปลายังให้ความสำคัญความสวยงามพิถีพิถันที่ตอบโจทย์จุดประสงค์หลักของการให้พวงหรีด โดยอาศัยการใช้ซ้ำที่นอกจากจะชะลอการสร้างขยะแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนให้มีราคาไม่แพง ลูกค้าเข้าถึงได้ เพื่อประโยชน์ของทั้งผู้ให้และผู้รับ

“พวงหรีดนั้นส่งไปเพื่อแสดงความอาลัย ไปให้กำลังใจ ให้เกียรติเจ้าภาพและผู้วายชนม์ เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่ควรจะมีอย่างแรก แบบที่ไม่ต้องคิดอะไรเลยคือต้องสวยดูดี ในขณะที่พวงหรีดที่สวยลักษณะที่ทำกันอยู่นี้ เคยไปดูในท้องตลาดราคามันจะมีตั้งแต่ห้าพันถึงหมื่นกว่า เราก็รู้สึกว่าถ้าเราเอามาทำแล้วมาใช้ซ้ำมันก็น่าจะดีนะคะ”

แม้ว่าวัสดุของพวงหรีดจะไม่ตอบโจทย์ในฐานะวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด แต่คุณปารวีและคุณพีทก็เน้นถึงอายุการใช้งานของหรีดบุญที่ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ลดการสร้างขยะในระยะยาว “วัสดุที่ใช้ทำดอกไม้เป็นผ้าส่วนใหญ่ค่ะ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมีพลาสติกอยู่บ้างและกรอบที่ใช้เป็นโฟม ถึงแม้เราจะยังไม่สามารถหาวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนในการผลิต แต่ว่าเราเน้นเรื่องการนำมา Reuse เพราะด้วยการใช้งานต้องคงทน ตอนแรกลองใช้ไม้ หรืออย่างอื่นซึ่งมันหนัก เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานจริง แต่ปลาเป็นคนเชื่อเรื่องการจัดการที่ดีนะคะ” 

“เราพยายามใช้วัสดุหลักอย่างโฟม วัสดุที่มันไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ ให้มันนานที่สุด” คุณพีท กล่าวย้ำ

เพราะพีทรู้สึกว่า วัสดุมันจะไม่สร้างปัญหาให้โลก จนกว่าเราจะทิ้งมัน ตอนสร้างมันไม่เป็นปัญหาหรอก เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้มันให้นานที่สุด มันก็จะช่วยประวิงเวลารวมทั้งช่วยทดแทนเพื่อลดปัญหาการสร้างขยะสิ้นเปลืองที่มีปริมาณมากกว่าครับ



COVID-19 กับการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
_


พวงหรีดและการทำบุญเป็นแนวคิดธุรกิจที่ติดอยู่ในใจของคุณปลามาหลายปีแล้ว “จริง ๆ คุยกันหลายปี ประมาณ 6-7 ปี แต่ว่าตอนแรกมันจะไม่ได้เป็นลักษณะนี้ เราก็คิดว่าจะทำหรีดทางเลือกอะไรดี” เช่นเดียวกันกับคุณพีท “คือเราคุยกันมา 7 ปี ไม่มีเวลาทำซะที พีทก็ทำส่วนของพีทอยู่ ปลาก็ทำส่วนของปลา แล้วเราก็ถามจะทำเมื่อไหร่?  เมื่อไหร่จะว่าง? พอเจอโควิด ทั้งคู่ก็ทำงานสายการบิน ไม่ต้องบินแล้ว ว่างมาก” 


เพราะวิกฤต COVID-19 เราจึงมีเวลามากพอให้สานต่อความคิด “เมื่อ 6 ปีก่อนปลาเริ่มจากทำเป็นต้นไม้ มานั่งจัดกระถาง แล้วก็เจอปัญหา เช่น พอจะใช้พัดลม ก็มีจำนวนมากเกินไป และจะทำให้ได้ราคาโดยที่ยังได้คุณภาพก็ยาก จะเห็นว่าพัดลมที่เอามาทำพวงหรีดในท้องตลาดไม่ได้เป็นแบบที่มีคุณภาพมากนัก ไม่อย่างนั้นมันก็จะแพงมาก จากนั้นก็คิดมาเรื่อย ๆ จนมาถึงคอนเซ็ปต์พวงหรีด Reuse เพื่อการทำบุญ”  คุณปารวีเล่าถึงการเดินทางก่อนจะเป็นหรีดบุญ

“มีอยู่วันหนึ่งไปวัดชลประทานฯ ซึ่งทางวัดมีนโยบายไม่รับพวงหรีด แล้วทางวัดจะใช้ดอกไม้ประดิษฐ์มาตกแต่งงานแบบถาวร ซึ่งมันดูดี ธีมมันดูเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วก็เลยคิดขึ้นว่าถ้าเราใช้ดอกไม้ประดิษฐ์แล้วทำให้สวยสุด ๆ ล่ะ”



Reuse VS Rethink
_


การใช้ซ้ำหรือ Reuse ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมที่เผชิญปัญหาภาวะโลกร้อนจนต้องหันกลับมาอนุรักษ์ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่สำหรับการ “Reuse” สิ่งของที่เกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนาและมีแนวคิดขนบเดิมที่ครอบไว้ นับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ และต้องพบเจอกับความท้าทายอยู่ไม่น้อย “พีทรู้จักกับผู้บริหารของบริษัทการลงทุน เขาก็ทักว่า ใช้ซ้ำมันจะโอเคเหรอ พี่เขาก็ดูไม่แน่ใจ แต่พีทเชื่อว่าอันนี้มันเป็นแนวคิดใหม่ คนที่เพิ่งเจอเขาจะรู้สึก เอ๊ะ! ก่อน พอเวลาผ่านไป คนจะเริ่มเข้าใจ จริง ๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรากังวลที่สุดตอนเริ่มต้น แต่หลังจากที่ได้เริ่มทำมาจนปัจจุบัน Feedback จากลูกค้าและเจ้าภาพออกมาดีมาก ๆ โดยเฉพาะเจ้าภาพหลาย ๆ ท่านประทับใจในแนวคิดและความสวยงามของเรามาก ทำการสอบถามช่องทางติดต่อจนกลายมาเป็นลูกค้าและช่วยแนะนำลูกค้าให้อีกด้วย”

เพราะสังคมเคยชินกับพวงหรีดที่ใช้แล้วทิ้ง การจัดการและจัดเก็บจึงเป็นอีกความท้าทายที่หรีดบุญจะต้องหาทางก้าวผ่านไปให้ได้ “มีอยู่ครั้งนึงที่เจ้าหน้าที่บอกว่า มาเก็บได้เลย เดี๋ยวผมเก็บไว้ให้อย่างดี แต่พอพีทไปถึงที่วัด โทรติดต่อไม่ได้ และเขาเผลอทิ้งไปแล้ว พีทยังพยายามเต็มที่ในการตามกลับมา” คุณปารวีเล่าถึงปัญหาที่เจอจากความเคยชินเกี่ยวกับการจัดการพวงหรีดของสังคม “วันนั้นเราเศร้ามากเรื่องมูลค่าพวงหรีดที่หายไปก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือมันเสียความตั้งใจที่เราไม่อยากให้มันเป็นขยะ แต่กลายเป็นว่ายังไม่ทันได้ใช้อย่างคุ้มค่า มันก็กลายเป็นขยะไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เราพลาดเอง จะโทษใครก็ไม่ได้” คุณพีท กล่าวเพิ่มเติมถึงประสบการณ์ครั้งนั้น “แต่มันก็เป็นเหมือนบทเรียน ให้เราเรียนรู้และพัฒนาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมอีกในอนาคต” คุณปารวีเอ่ยปิดท้าย


แม้ว่าสังคมจะยังไม่คุ้นชิน แต่หรีดบุญก็ยังเชื่อมั่นในแนวคิด “สิ่งเดียวที่เราอยากจะเปลี่ยนเกี่ยวกับความเคยชินของคนคือ ที่ผ่านมาคนจะมองว่าพวงหรีดต้องเป็นดอกไม้ใหม่ ต้องเป็นของชิ้นใหม่ ให้แล้วให้เลย แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ได้เอาพวงหรีดไปให้เจ้าภาพหรือผู้เสียชีวิต เราจัดส่งเพื่อเป็นเกียรติและไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต ถูกมั้ยครับ? เพราะฉะนั้นพีทรู้สึกว่าเป้าหมายจริง ๆ ของพวงหรีด คือการส่งความอาลัยให้กับผู้ล่วงลับ และแสดงในงานให้สมเกียรติ สมฐานะของเจ้าภาพและผู้ล่วงลับ ซึ่งการใช้ซ้ำไม่น่าจะทำให้คุณค่าของพวงหรีดลดลง”



หรีดบุญ: แนวคิดเพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนสู่ความยั่งยืนตามหลัก ESG Sustainability Investment
_


หลักการดำเนินงานของหรีดบุญมุ่งเน้นเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) นำการใช้ซ้ำเข้ามาเพื่อชะลอการสร้างขยะ เน้นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม (Social) ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ รวมไปถึงธรรมาภิบาล (Governance) มีระบบที่โปร่งใส ชัดเจน สามารถออกใบเสร็จลดหย่อนภาษีเพื่อประโยชน์ของลูกค้า “พีทรู้สึกว่าธุรกิจของเรามันค่อนข้างเข้ากับแนวคิด ESG เพราะว่าเราเน้นเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมแนวทางของเราคือการใช้ของเหล่านี้ให้มันตรงวัตถุประสงค์มากที่สุด อย่างที่พีทบอกตอนแรกว่าจุดประสงค์คือการให้เกียรติเจ้าภาพและไว้อาลัยผู้วายชนม์ ซึ่งของเราสื่อตรงนี้ได้เต็ม ๆ เปรียบเทียบคือเราใหม่กว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราช่วยสังคม ก็เลยรู้สึกว่าเราค่อนข้างเข้ากับ ESG” 

คุณค่าของสินค้าและบริการก็เป็นอีกปัจจัยเรื่องความยั่งยืนตามหลักสังคม (Social) ที่คุณปารวีให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ปลาไม่ค่อยมีเรื่องทฤษฎี (หัวเราะ) ปลาแค่รู้สึกว่าถ้าเราทำอะไรที่มีคุณค่า แล้วคุณค่านั้น
ทุกคนสามารถรับรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของเราก็คือผู้ให้พวงหรีด ผู้ที่รับพวงหรีดของเรา
รวมถึงเราเองที่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ คุณค่าเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดัน และทำให้ธุรกิจของเราพัฒนาและเติบโตไปอย่างยั่งยืนค่ะ


อ้างอิง

  • “ESG”… คืออะไร. www.wealthythai.com
  • คู่มือปฏิบัติ การนำขยะมูลฝอยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สำหรับวัดในพระพุทธศาสนา. infofile.pcd.go.th

เรื่องโดย