Kind Planet

“พื้นที่ชุ่มน้ำ” (Wetlands) คืนความสมดุลให้ระบบนิเวศ พร้อมต่อลมหายใจให้สิ่งมีชีวิต

หาก “น้ำ” คือแหล่งกำเนิดของชีวิต “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ก็เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่ให้ทุกชีวิตได้พึ่งพิงอาศัย และเมื่อบ้านเริ่มมีรอยแตกร้าว ก็ถึงเวลาแล้วที่เจ้าบ้านอย่างเราควรจะกลับมาดูแลใส่ใจอย่างจริงจัง


ว่าแต่… พื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร?

ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” (Wetlands) หมายถึง “ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขัง หรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเล และในทะเลที่บริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร ตัวอย่างเช่น ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ หาดโคลน หาดเลน ชายทะเล ป่าพรุ ป่าเลน รวมทั้งนาข้าว นากุ้ง นาเกลือ เป็นต้น”


อนุสัญญาแรมซาร์ ได้ถูกกำหนดและตั้งชื่อตามชื่อสถานที่จัดให้มีการประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้กลายเป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” (World Wetlands Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ โดยปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายทั่วโลกรวม 171 ประเทศ และมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก จำนวน 2,293 แห่ง​ 

ในคู่มืออนุสัญญาแรมซาร์ (The Ramsar Convention Manual) ได้แบ่งประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำเป็น 5 ประเภท คือ

1. พื้นที่ทางทะเล (Marine) เป็นบริเวณที่ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสจากแม่น้ำ ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล รวมถึงทะเลสาบน้ำเค็ม หาดหิน และแนวปะการัง

2. พื้นที่ปากแม่น้ำ (Estuarine) เป็นบริเวณที่แม่น้ำและทะเลมาบรรจบกัน มีความเค็มระหว่างน้ำทะเลและน้ำจืด ได้แก่ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง และพื้นที่ป่าชายเลน

3. พื้นที่ทะเลสาบ (Lacustrine) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ที่มีน้ำขังตลอดเวลาหรือบางฤดู และมีกระแสน้ำไหลเล็กน้อย มีความลึกมากกว่า 2 เมตร ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณทะเลสาบ บึงต่าง ๆ

4. พื้นที่แหล่งน้ำไหล (Riverine) บริเวณที่มีน้ำไหลตลอดปี หรือบางฤดู ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณแม่น้ำ ลำธาร ห้วย

5. พื้นที่หนองน้ำ หรือที่ลุ่มชื้นแฉะ (Palustrine) เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังตลอดเวลา หรือบางฤดู มีความลึกไม่เกิน 2 เมตร และมีพืชน้ำปกคลุมผิวน้ำมากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่ลุ่มน้ำขัง และหนองน้ำซับ

นอกจากนี้ยังรวมถึงแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made) ด้วย เช่น นาข้าว นาเกลือ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ชลประทาน อ่างเก็บน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำแบบบึงประดิษฐ์บำบัดน้ำเสีย คลองที่ขุดขึ้น รวมถึงเขาหินปูนและระบบอุทกวิทยาใต้ดินที่มนุษย์สร้างขึ้น


พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของห่วงโซ่อาหาร การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำได้แปรเปลี่ยนสภาพไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเขตเมือง การขยายพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำมีสภาพเสื่อมโทรมและลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง

ทั้งนี้ข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกในปัจจุบัน พบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดินและพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลมีพื้นที่ครอบคลุมมากว่า 12.1 ล้าน ตารางกิโลเมตร

โดยทวีปเอเชียมีขนาดพื้นที่ชุ่มน้ำรวมมากที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561) พบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติลดลง ร้อยละ 35 (คิดเป็น 3 เท่าของอัตราการสูญเสียป่าไม้) ส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นมี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12 ของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก (ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มอีก)


คุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ

คุณค่าโดยรวมของพื้นที่ชุ่มน้ำจากข้อมูลของกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แบ่งบริการที่ได้รับจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านวัฒนธรรม ด้านการเป็นแหล่งผลิต ด้านการควบคุม และด้านการสนับสนุน

ด้านวัฒนธรรม พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางจิตใจและความเชื่อ เป็นแหล่งนันทนาการและการพักผ่อน การท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการศึกษา เป็นต้น ด้านการเป็นแหล่งผลิต เป็นแหล่งทำประมง และสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นแหล่งผลิตเนื้อไม้ อาหารสัตว์ แหล่งทรัพยากรพันธุกรรม แหล่งสมุนไพร แหล่งพลังงานที่สามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ ด้านการควบคุม เป็นแหล่งกักเก็บก๊าชคาร์บอน ช่วยเรื่องการกรองสารพิษ การควบคุมการไหลของน้ำ การบรรเทาน้ำท่วม การป้องกันการกัดเซาชายฝั่ง การย่อยสลายของเสีย ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ และด้านการสนับสนุน เป็นแหล่งผลิตขั้นปฐมภูมิ การหมุนเวียนธาตุอาหาร และการเกิดวัฏจักรน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่ต้องกำหนดแผนการบริหารจัดการเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบนิเวศ ความสำคัญนั้นตรงตามชื่อคือ “ชุ่มน้ำ” พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ของสัตว์และพืชนานาชนิด เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศ ความหลากหมายทางชีวภาพ และความอุดมสมบูรณ์ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การป้องกันและดูแลรักษาอย่างยิ่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยมีที่ไหนบ้าง?

ประเทศสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำจากทั่วโลก มีจำนวนทั้งหมด 171 ประเทศ สำหรับประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ในลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 โดยเสนอ “พรุควนขี้เสี้ยน” ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย (Ramsar Site) และในลำดับ 948 ของโลก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจและพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายอยู่ทั่วประเทศ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 22.88 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ประเทศไทย ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น Ramsar Site จำนวน 15 แห่ง ตามภาพอินโฟกราฟิกดังนี้


1. พรุควนขี้เสี้ยน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง เนื้อที่ 3,085 ไร่

2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เนื้อที่ 13,837.5 ไร่

3. ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม เนื้อที่ 546,875 ไร่

4. ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ เนื้อที่ 133,120 ไร่

5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ.เชียงราย เนื้อที่ 2,712.5 ไร่

6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส เนื้อที่ 125,625 ไร่

7. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง จ.ตรัง เนื้อที่ 515,745 ไร่

8. อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง เนื้อที่ 677,625 ไร่

9. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 63,750 ไร่

10. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา เนื้อที่ 250,000 ไร่

11. อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 43,074 ไร่

12. พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จ.บึงกาฬ เนื้อที่ 16,500 ไร่

13. เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช เนื้อที่ 2,337.5 ไร่

14. เกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา เนื้อที่ 122,800 ไร่

15. แม่น้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนม  เนื้อที่ 34,381 ไร่

เพราะทุกชีวิตบนโลกต้องพึ่งพาน้ำ มาร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ คืนความสมดุลให้ระบบนิเวศ พร้อมต่อลมหายใจให้สิ่งมีชีวิตก่อนจะสายเกินแก้


Ramsar Sites คือ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นตัวแทนหายาก หรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ซึ่งตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ นั้น ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญอย่างน้อย 1 แห่งบรรจุไว้ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศขออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ


ที่มา


เรื่องโดย

ภาพโดย