Kindvironment

เรียนรู้จาก “ลาดักห์” ดินแดนลึกลับของอินเดีย


ในช่วงเวลาแห่งอุตสาหกรรมเกษตร “ลาดักห์” (Ladakh) ยังคงเป็นดินแดนขนาดเล็กที่ดำเนินงานภายใต้รูปแบบการเกษตรรายย่อย ผืนดินเล็ก ๆ เหล่านี้โดยเฉลี่ยมีพื้นที่เพียงกว่าหนึ่งเอเคอร์สร้างขึ้นโดยผู้คนในชุมชนกว่าหลายศตวรรษ เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ในถิ่นแห้งแล้งทุรกันดาร การทำการเกษตรแบบดั้งเดิมของดาลักห์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเทียบกับประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในแหล่งอื่น ๆ ทั่วโลก 

แต่สิ่งที่ทำให้ลาดักห์มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครก็คือ ไม่ว่าจะเนิ่นนานเพียงใดพวกเขาก็ยังศรัทธาแน่วแน่กับการทำการเกษตรแบบนี้…

_

เป็นเวลาหลายพันปีที่การทำเกษตรเพื่อการยังชีพและการดำรงชีวิตของชุมชนเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของชาวลาดักห์ โดยพวกเขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการเกษตร และระบบนิเวศท้องถิ่น ทั้งยังเห็นคุณค่าสำหรับความต้องการของชุมชน ความเจริญรุ่งเรืองที่เขียวชอุ่มที่เห็นในปัจจุบันนั้น ได้รับการปลูกฝังจากการทำงานหนักของชาวลาดักห์มาหลายชั่วอายุคน ภูเขาที่โอบล้อมรอบดาลักห์ คือสิ่งที่ช่วยปกป้องการเข้ามาของอุตสาหกรรมที่แพร่หลาย จนกระทั่งไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาความทันสมัยและอุดมคติแบบตะวันตกเริ่มแทรกซึมเข้ามาในวิถีชีวิตของชาวลาดักห์

ชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงในกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อความขัดแย้งเรื่องดินแดนเริ่มเกิดขึ้น ก่อนหน้านั้นสำหรับบุคคลภายนอกส่วนใหญ่มักมองดาลักห์ว่าเป็นเพียงชื่อบนแผนที่ ทว่าสิ่งนี้เปลี่ยนไปเมื่อกองทหารอินเดียเข้ามาในภูมิภาคนี้ เพื่อปกป้องพรมแดน สร้างถนนหนทาง และนำวิถีชีวิตสมัยใหม่มาใช้กับพวกเขา ซึ่งชาวลาดักห์ส่วนใหญ่ในเวลานั้นไม่คุ้นเคย ความตึงเครียดในดินแดนทางตอนเหนือจึงดึงความสนใจของรัฐบาลอินเดียไปยังลาดักห์ โดยมีแนวโน้มที่จะปรับปรุงและ “พัฒนา” ภูมิภาคให้ทันสมัย 

เส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงถูกวางไว้แล้ว และไม่นานนักท่องเที่ยวก็มาถึงและภูมิภาคนี้ก็เปิดสู่โลกภายนอกอย่างเป็นทางการ ในเวลานี้ยังมีการนำปุ๋ยสังเคราะห์และสารกำจัดศัตรูพืชเข้ามาใช้ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล 

ภายในเวลาไม่กี่ปี ความพอเพียงของลาดักห์ก็ถูกทำลายลง และกระแสบริโภคนิยม รวมถึงความทันสมัยก็เริ่มย่างกรายเข้ามา


อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลาดักห์ยังคงเป็นภาพสะท้อนของกระแสโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “โลกที่กำลังพัฒนา” ความปรารถนาที่จะนำรูปแบบตะวันตกมาใช้ ไม่เพียงแต่เพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกแง่มุมของวิถีชีวิตสมัยใหม่ รวมถึงการศึกษา อุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำทางการเมืองและภาคธุรกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าแบบจำลองที่ทำให้เป็นเนื้อเดียวกันนี้ไม่ได้เข้ากันได้ทั้งหมด และด้วยเหตุนี้ เราจึงสูญเสียความซับซ้อนของแต่ละวัฒนธรรม และความรู้เฉพาะที่ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันที่สังคมของเราครอบครอง


การดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมและการทำการเกษตรกรรมทั่วโลกกำลังถูกกวาดล้าง ไปด้วยอิทธิพลของอุตสาหกรรมเกษตร ควบคู่ไปกับตลาดโลก 


อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งประชากรโลกหลายล้านคนต้องบริโภคผลผลิตจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ นอกจากนี้ความเย้ายวนใจของวัฒนธรรมผู้บริโภคที่แพร่หลายผ่านสื่อ ส่งผลให้ผู้คนหันเหจากอาหารดั้งเดิมและอาหารท้องถิ่น สู่การแลกเปลี่ยนกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 

ในพื้นที่เกษตรซึ่งผ่านการเลี้ยงดูจากมือของเกษตรกร กลับถูกแทนที่ด้วยระบบเครื่องจักร การปลูกพืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่และสารเคมีที่เข้ามารุกรานเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น ตลอดจนสายน้ำและระบบนิเวศปลายน้ำ ซึ่งยืนยันได้จากพื้นมรณะ (หรือ Dead Zone หมายถึง พื้นที่ขาดออกซิเจนจนสิ่งที่มีชีวิตไม่สามารถอยู่อาศัยได้) ขนาดใหญ่ที่พบในมหาสมุทรของเรา เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยสังเคราะห์และสารกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร ระบบที่ทันสมัยเหล่านี้ต้องอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดจนพลังงานและกระบวนการผลิตที่ปนเปื้อน ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างสารเคมีเสริมสำหรับภาคอุตสาหกรรมเกษตร

ผลพวงจากการรุกรานนี้ ทำให้เรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในสัตว์ป่าท้องถิ่น พืชอาหาร และเมล็ดพันธุ์ ตามธรรมเนียมเกษตรกรรุ่นต่อรุ่นจะประหยัดเมล็ดพันธุ์จากฤดูกาลหนึ่งไปเพาะปลูกในอีกฤดูกาลหนึ่ง โดยพืชจะปรับตัวตามสภาพอากาศ ระบบนิเวศวิทยา และชนิดของดินในภูมิภาคหรือแม้แต่ฟาร์ม ตัวอย่างเช่น ข้าวสาลีที่ปลูกในอัฟกานิสถานแบบดั้งเดิมจะแตกต่างจากข้าวสาลีที่ปลูกในแอลเบเนีย แต่ด้วยการแนะนำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมและพืชจีเอ็มโอ จะทำให้เราสูญเสียสายพันธุ์ที่ไม่ซ้ำกันหลายพันสายพันธุ์ และตอนนี้เกษตรกรจำนวนมากต้องพึ่งพาบริษัทใหญ่

จากข้อมูลของ seedcontrol.eu พบว่า 75% ของตลาดเมล็ดพันธุ์เป็นของบริษัทขนาดใหญ่ จำนวน 10 แห่ง โดยเพิ่มขึ้นกว่า 55% ในหนึ่งทศวรรษ ความยั่งยืนและการพึ่งพาตนเองในระดับพื้นฐานกำลังสูญหายไป และหากไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืช ความมั่นคงทางอาหารก็กลายเป็นสิ่งที่น่ากังวล


อุตสาหกรรมเกษตรและการแข่งขันที่รุนแรงของเศรษฐกิจในตลาดโลกกำลังบังคับให้เกษตรกรรายย่อยต้องละทิ้งที่ดินของตน ในอินเดียมีการกล่าวกันว่า มีผู้คนประมาณ 1,000 คน เลิกทำฟาร์มทุกวัน และมีวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตที่ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพจากการทำฟาร์มได้อีกต่อไป ปัญหาพื้นฐานอีกประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนจากการทำมาหากินทางการเกษตรไปสู่การสนับสนุนอาชีพที่ก้าวหน้าทันสมัยกว่า เช่น วิศวกร หรือแพทย์ การขาดคุณค่าในการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งหมายถึงอาชีพที่อาศัยความรู้ที่ละเอียดและซับซ้อนเกี่ยวกับระบบธรรมชาตินี้ กำลังทำลายจิตใจของการยังชีพ และเกษตรกรรายย่อยเช่นเดียวกับในลาดักห์ 

สิ่งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลและการกำหนดให้วัด “ความก้าวหน้า” ด้วยอัตราการรู้หนังสือและ GDP แต่การพัฒนาและความก้าวหน้าของวัฒนธรรมผู้บริโภค และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดทุนนิยม กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจและร่างกายของชาวลาดักห์

photo Credit:Jody-Daunton


“เมื่อไม่นานมานี้ มีการยกระดับวัฒนธรรมเพื่อให้ชาวลาดักห์เห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อพวกเขาเริ่มรับรู้บริบทของสังคมโลก ถึงความพิเศษที่หาได้ยากทางการเกษตรของพวกเขา ในขณะที่โลกที่พัฒนาเร็วจนเกินไป โลกที่ทำทุกอย่างด้วยความเร่งรีบ บนชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น ผู้คนบริโภคอาหารแปรรูป แต่ชาวลาดักห์ยังคงวิถีการดำเนินชีวิตที่มีความสงบอันล้ำค่าในปัจจุบัน”

โชคดีสำหรับชาวลาดักห์ที่สิ่งต่าง ๆ ยังไม่ถึงจุดดังกล่าว ภูมิภาคนี้หลีกเลี่ยงการโจมตีของอุตสาหกรรมเกษตร และส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการใช้เคมีภัณฑ์ และกลับสู่กระบวนการทำเกษตรกรรมตามธรรมชาติ 


“เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนเริ่มสังเกตเห็นว่าคุณภาพของดินเสื่อมโทรม พวกเขาจึงกลับไปทำการเกษตรแบบดั้งเดิม” Wangchuk Kaloon ผู้ประสานงานโครงการชุมชนและความร่วมมือในหุบเขานูบราและลาดักห์กล่าว การรักษาความรู้ดั้งเดิมของชาวลาดักห์ คือสิ่งที่สังคมตะวันตกทำหายไป ชุมชนชนบทของดาลักห์ยังคงแบ่งปันทรัพยากร และปฏิบัติตามความต้องการเพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งตรงข้ามกับรูปแบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผลกำไร ในฐานะเกษตรกร Wangyal Kaloon อธิบายว่า

“ภูมิภาคนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองเป็นเวลาหลายพันปี จนกระทั่งไม่นานมานี้ลาดักห์ไม่มีตลาด ไม่มีร้านค้าใด ๆ ไม่ต้องใช้เงิน เราเลี้ยงดูตัวเองจากสิ่งที่เราเพาะปลูกที่นี่ และฉันก็ยังคงอยู่ในลาดักห์ อยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ฉันสามารถเข้าไปในหมู่บ้าน ไปยังบ้านหลังใดก็ได้ และกินดื่มที่นั่น ขณะที่เมืองอื่น ๆ คุณไม่สามารถพึ่งพาเพื่อนบ้านแบบนี้ได้ ชุมชนยังคงเป็นแบบนี้ในลาดักห์ ลูกชายวัย 4 ขวบของฉันเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเองเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร เขาจะทำแบบนี้ได้ที่ไหนในโลก?”

“ที่นี่ฉันไม่ต้องกังวล นี่คือสิ่งหรูหราที่เงินซื้อไม่ได้ ทุกสังคมเคยมีชุมชนที่ไว้วางใจได้แบบนี้ ที่นี่ผู้คนไม่จำเป็นต้องกังวลกับหลายสิ่งอย่างที่คนอื่นกังวล หากใครบางคนตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก พวกเขาจะได้รับการเยียวยา และได้รับความรัก ความเมตตาจากคนในชุมชน”

ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงต้องการเลียนแบบการปฏิบัติของลาดักห์ และมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นของผู้คนทั่วโลกที่ยึดมั่นในค่านิยมเช่นเดียวกับชาวลาดักห์ พวกเขาปรารถนาที่จะมีสุขภาพดี มีผลผลิตที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งปลูกโดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมทั้งมีชีวิตตามค่านิยมของชุมชนโดยมีธรรมชาติเป็นหัวใจหลัก


สิ่งนี้เห็นได้จากชุมชนและฟาร์มที่ยั่งยืน รวมถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตผลอินทรีย์ในท้องถิ่น และการเคลื่อนไหวไปสู่วิถีชีวิตทางเลือกที่ตั้งคำถามกับระบบดั้งเดิมและสภาพที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น และการกระจายอำนาจเพื่อไม่ให้ท้องถิ่นเป็นตัวประกันในตลาดโลก และการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนของตน เช่นในลาดักห์ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตรจำนวน 15 แห่งที่ทำงานร่วมกับผู้ผลิตรายย่อยทั่วภูมิภาค

photo Credit:Jody-Daunton


สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและสังคมที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำให้ชีวิตสมัยใหม่เสียไป สหกรณ์ Ladakh Farmers and Producers Co-operative ในลาดักห์กำลังแนะนำการใช้ระบบห้องเย็น เพื่อยืดอายุผลผลิตซึ่งหมายความว่าผลไม้และผักสด จะมีพร้อมในฤดูหนาวด้วยการใช้เทคโนโลยีจัดเก็บที่ทันสมัย ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำการเกษตรตามธรรมชาติ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการสร้างความสมดุลและการนำวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมาใช้อีกครั้ง ซึ่งหมายถึงการนำตรรกะความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนและโลกใบนี้มาใช้ 

“ลาดักห์” เป็นข้อพิสูจน์ว่า เศรษฐกิจในท้องถิ่นสามารถสนับสนุนการพึ่งพาตนเองได้ ทั้งยังประสบความสำเร็จเรื่องการปล่อยคาร์บอนต่ำ อำนาจอธิปไตยทางอาหารสามารถบรรลุความต้องการขั้นพื้นฐานได้ เราสามารถมีชีวิตที่น่าพึงพอใจในขณะที่รักษาสมดุลกับสิ่งแวดล้อมของเรา ผู้คนและโลกควรเป็นหัวใจสำคัญของวิสัยทัศน์ของเราในอนาคต 


ที่มา


เรื่องโดย