Kind Health

เพราะคนไทยกินโซเดียมมากเกินไป! ถึงเวลาผลักดัน “ภาษีความเค็ม” ลดเสี่ยงโรค-ลดเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคไต…

โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนมากถึงร้อยละ 75 ในแต่ละปี โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาล้างไตเพิ่มขึ้นถึง 20,000 คน และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงร้อยละ 15 ต่อปี และมีผู้เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดราว 40,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการติด กินเค็ม หรือ กินโซเดียม ของคนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่ส่งผลต่อการเกิดโรค และคร่าชีวิตผู้คนได้มากที่สุด

ขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดมาตรฐานไว้ว่า “ร่างกายคนเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/ วัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา” หรือเฉลี่ยไม่เกิน 600/ มิลลิกรัม/ มื้ออาหาร แต่ปัจจุบันจากผลการสำรวจของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข ปี พ.ศ. 2552 พบว่า“คนไทยบริโภคโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานถึง 2 เท่า เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 4,352 มิลลิกรัม/ วัน” โดยส่วนใหญ่จะพบในอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น และตามข้อมูลของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จโลก ประเทศญี่ปุ่นระบุว่า

ประเทศไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และติดอันดับ 8 ของโลก

Photo Credit: auntmasako/ Pixabay


รศ.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “โซเดียมมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมาจากความชอบกินอาหารเค็ม หรือจากความไม่รู้ว่าอาหารประเภทนั้น ๆ มีโซเดียมแฝงอยู่ การกินเค็มมากเกินไปเป็นระยะเวลานานส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง จากสถิติที่ผ่านมาคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังถึง 17.5% หรือประมาณ 8 ล้านคนต่อประชากรของประเทศ และประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยฟอกไตสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่งผลให้ต้องสูญเสียเงินไปกับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตระยะสุดท้ายประมาณ 8.5 พันล้านบาทต่อปี”

มาตรการลดเค็ม รับมือปัญหาสุขภาพประชาชน

ที่ผ่านมาเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ได้สร้างการรับรู้แก่ประชาชน รวมถึงพูดคุยกับอุตสาหกรรมอาหารในการปรับสูตรเพื่อลดการบริโภคเค็ม อาทิ ฉลากโภชนาการ บอกค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แต่ยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งการทำงานร่วมกันกับ สสส. สธ. และกรมสรรพสามิต ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเก็บ “ภาษีความเค็ม” ขึ้นในปี พ.ศ. 2564

ควบคู่กับแผนยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยปี พ.ศ. 2559-2568 โดยกำหนดเป้าหมายให้ประชาชนลดเกลือและโซเดียมลง 30% ภายในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน


“การเก็บภาษีอาหารสำเร็จรูปในบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากเกินไป สามารถผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับเปลี่ยนสูตรของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมน้อยลง และเสนอทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าสำหรับผู้บริโภค จุดหมายไม่ใช่การเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารเปลี่ยนแปลงสูตรอาหาร” พญ. เรณู การ์ก เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังระบุว่า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อนำไปสู่การลดเค็ม ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะให้ผลตอบแทนสูงถึง 12 เท่า หากเก็บความเค็มทุก ๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะลดค่ารักษาสุขภาพได้ถึง 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ตัวอย่างต่างประเทศที่ใช้
“ภาษีความเค็ม”

ประเทศฮังการี

เก็บภาษีความเค็มในบางผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือสูงมากๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว ในปี พ.ศ. 2554 โดยตั้งเพดานภาษีไว้ประมาณร้อยละ 10-15 พบว่า ประชาชนกินเค็มน้อยลงร้อยละ 20-35 ด้วยเหตุผลราคาที่สูงขึ้นทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับสูตรอาหารเพื่อลดภาษี

ประเทศโปรตุเกส

รัฐบาลได้ร่างแผนภาษี ในช่วงปี พ.ศ. 2561 เพื่อเก็บภาษีอาหารสำเร็จรูปที่มีโซเดียมสูง เช่น เวเฟอร์ บิสกิต มันฝรั่งทอด

ประเทศสหรัฐอเมริกา

พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงกว่าปีละ 4 แสนคน แต่หลังจากปรับสูตรลดโซเดียมในอุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยว ช่วยลดผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้ถึง 11 ล้านคน/ ปี

ประเทศแคนาดา

บริโภคโซเดียมสูงถึง 3,400 มิลลิกรัม/ วัน โดยเฉพาะในเด็กอายุ 4-8 ปี ที่เสี่ยงเป็นโรคเมื่ออายุมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา จึงได้กำหนดเป้าหมายลดปริมาณโซเดียมในอาหารแปรรูปด้วยเช่นกัน


ทั้งนี้ หากมาตรการทางภาษีสามารถบังคับใช้ได้จริงในประเทศไทย และเดินควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ เช่น ติดฉลากแสดงปริมาณโซเดียม ส่งเสริมการกินอาหารสุขภาพ หรือรณรงค์ให้ข้อมูล ไม่เพียงแต่ละช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพของประชาชน แต่ยังช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้มากเกือบปีละ 1 แสนล้านบาทอีกด้วย


ที่มา

  • แพทย์จุฬาฯ แนะลดเค็ม ลดโรค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพ. www.ryt9.com
  • คนไทยบริโภคโซเดียมสูงกว่า WHO กำหนด 2 เท่า. www.bangkokbiznews.com
  • ThaiPBS. นโยบายลดเค็ม ลดหุ่น. www.facebook.com/plikpomKhao

เรื่องโดย