Kind Sci

ยูนิคอร์น: เมื่อสัตว์ในตำนานปรัมปรา อาจเคยมีอยู่จริงบนโลกใบนี้!

ภาพจำของยูนิคอร์น เจ้าม้ามีเขาท่าทางสง่างามชนิดนี้ มักเป็นเพียงสัตว์ในเทพนิยายในโลกจินตนาการสุดแฟนตาซี แต่เชื่อหรือไม่ว่า “ยูนิคอร์น” เคยมีอยู่จริง และมนุษย์อาจจะเคยเดินสวนกับพวกมันเช่นกัน!


ยูนิคอร์นไซบีเรียนไม่ได้มีลักษณะองอาจสง่างามดุจในเทพนิยาย และพวกมันเคยมีชีวิตเมื่อนานมาแล้ว ไม่นานมานี้เหล่านักวิจัยค้นพบว่า เจ้ายูนิคอร์นสายพันธุ์โบราณไม่ได้มีอายุเก่าแก่อย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ ความจริงแล้วพวกมันอยู่ในยุคเดียวกันกับมนุษย์เรา ในช่วงต้นที่เหล่ามนุษยชาติเริ่มหัดเดินนั่นเอง

“ยูนิคอร์นไซบีเรียน” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Elasmotherium sibiricum ไม่ได้มีลักษณะที่เหมือนกับยูนิคอร์นในความคิดของเรา อันที่จริงแล้วยูนิคอร์นโบราณเหล่านี้ดูจะเหมือนตัวไรโนหรือแรด ที่มีขนฟูปุกปุย กับเขาบนหัวขนาดใหญ่คล้ายยูนิคอร์นมากกว่า


เดิมทีเหล่านักวิจัยสันนิษฐานว่ายูนิคอร์นไซบีเรียนน่าจะเคยมีชีวิตเมื่อ 350,000 ปีที่แล้ว แต่ด้วยการค้นพบกะโหลกศีรษะของเจ้ายูนิคอร์นที่คาซัคสถานล่าสุด ทำให้พวกเขาต้องคำนวณตัวเลขใหม่อีกครั้ง ปัจจุบันนักวิจัยเชื่อว่า ยูนิคอร์นไซบีเรียนนั้นเพิ่งจะสูญพันธ์ุไปเพียงแค่ 29,000 ปีเท่านั้น และนั่นหมายความว่าสัตว์สายพันธุ์โบราณชนิดนี้เคยอยู่ในช่วงต้นของมวลมนุษยชาตินั่นเอง

Andrey Shpanski นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัย Tomsk State (TSU) ประเทศรัสเซีย ระบุว่า กะโหลกศีรษะที่เพิ่งค้นพบนี้เป็นของยูนิคอร์นตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่มาก “ขนาดตัวของมัน ปัจจุบันถือว่าใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการพูดถึงในงานเขียนต่าง ๆ”

นักวิจัยสันนิษฐานว่า เจ้ายูนิคอร์นไซบีเรียนเป็นสัตว์กินพืช อาจมีน้ำหนักตัวมากถึง 4 ตัน และมีความสูงเฉลี่ยตามมาตรฐานของสายพันธ์ุราว ๆ 2 – 5 เมตรเลยทีเดียว

Adrian Lister นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ในสหราชอาณาจักร อธิบายถึงเจ้ายูนิคอร์นไซบีเรียนว่า พวกมันเหมือนเป็นสัตว์ประเภทฟันแทะที่มีขนาดยักษ์มากกว่า สังเกตได้จากฟันของเจ้ายูนิคอร์นไซบีเรียนที่แตกต่างจากฟันของแรดสายพันธุ์อื่น ๆ และมีลักษณะใกล้เคียงกับสัตว์ฟันแทะมากกว่า และนี่เป็นสาเหตุเดียวกันที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพวกมันเป็นสัตว์กินพืช


แล้วเรารู้อายุพวกมันได้อย่างไร?

คำถามต่อมาคือ นักวิจัยรู้ได้อย่างไรว่าข้อสันนิษฐานแรกเกี่ยวกับอายุของเจ้ายูนิคอร์นนั้นคลาดเคลื่อน?

อันดับแรก พวกเขาต้องมีตัวอย่างกระดูกที่ยังมีคอลลาเจนหลงเหลือพอสำหรับการพิสูจน์ โชคดีที่ ตัวอย่างกระดูก 23 ชิ้น จากทั้งหมด 25 ชิ้นนั้นมีคุณสมบัติใช้ได้พอดิบพอดี เหล่านักวิจัยจึงสามารถวิเคราะห์อายุของยูนิคอร์นไซบีเรียนได้โดยการหาอายุจาก คาร์บอนกัมมันตรังสี หรือ Radiocarbon Dating


Radiocarbon Dating สามารถระบุอายุของชิ้นตัวอย่างกระดูกที่ส่งตรวจได้ โดยอ้างอิงจาก Carbon – 14 (ไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุคาร์บอน) ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติในพืช และในสัตว์กินพืช เมื่อพืชหรือสัตว์นั้นตายลง Carbon – 14 จะเริ่มสลายตัว เนื่องจาก Carbon – 14 มีอัตราการสลายตัวที่คงที่ นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถคำนวณอายุของสัตว์และพืชต่าง ๆ ได้จากปริมาณของ Carbon – 14 ที่คงเหลืออยู่ในกระดูกนั่นเอง

นักวิจัยระบุว่า ยูนิคอร์นไซบีเรียนเคยมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ 39,000 ปีที่แล้วในทวีปยุโรปและเอเชีย ซึ่งหมายความว่าพวกมันเคยเดินอยู่บนผืนดินแผ่นเดียวกันกับพวกเรา รวมถึงมนุษย์ยุคนีแอนเธอดัล (Neanderthals) ด้วย ทีมนักวิจัยชี้แจงเพิ่มเติมว่า เพราะปัญหาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในยุคนั้นส่งผลให้พวกมันสูญพันธ์ไปก่อนช่วงเวลาอันควร

แล้วยูนิคอร์นไซบีเรียน ใช่ยูนิคอร์นจริง ๆ หรือเปล่านะ?

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเจ้าสัตว์สายพันธุ์โบราณนี้มีเขา (แบบยูนิคอร์น) จริง ๆ การสร้างรูปจำลองสัตว์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วมักมีการสร้างเขาเพื่อเพิ่มจุดเด่น แต่ไม่มีหลักฐานจากฟอสซิลที่หนักแน่นพอจะบอกว่าพวกมันมีเขาจริงหรือเปล่า?

“เราไม่มีชิ้นส่วนของเขาสัตว์แม้แต่ส่วนเดียว เพราะเขานั้นมาจากขนของพวกมันที่บีบอัดทับถมกัน และมันก็ย่อยสลายไปแล้ว” Lister อธิบาย


หลักฐานชิ้นเดียวที่พวกเขามีคือกระดูกขนาดใหญ่บริเวณส่วนหัว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยให้นักวิจัยตั้งข้อสันนิษฐานว่าพวกมันมีเขาขนาดใหญ่คล้ายยูนิคอร์น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดที่เหล่านักวิจัยทำได้ในตอนนี้คือการสันนิษฐานบนพื้นความรู้และหลักฐานที่มีอยู่


ที่มา


เรื่องโดย