บรรยากาศอึมครึมของช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ ถือเป็นการต้อนรับเข้าสู่เดือนตุลาคมอย่างเป็นทางการ และเป็นการก้าวเข้าสู่เทศกาลฮาโลวีนหรือวันปล่อยผีของทางซีกโลกตะวันตกกันอีกด้วย สำหรับเราชาวเอเชีย ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่โรงหนังเต็มไปด้วยหนังสยองขวัญที่พร้อมมาสั่นประสาทให้หวาดผวากันไปทั่ว
“มึงเป็นใคร”
“มึงก็ลองทายดูสิ”
ฉากไฮไลต์สำคัญของภาพยนต์เรื่อง “ร่างทรง” ที่ตราตรึงใจผู้ชมหลายท่านอยู่ไม่น้อย เราจะเห็น มิ้ง ตัวละครหลักของเรื่องแสดงอาการคล้ายคนถูกผีสิง ซึ่งอาการนี้ได้ถูกนำไปอภิปรายต่อในหลากหลายมุมมอง
Photo Credit: Pooja Roy / Unsplash
มองปรากฏการณ์ “ผีเข้า-ผีสิง” ด้วยศาสนา สังคม และวิทยาศาสตร์
✠
วันนี้เราจะมาพูดถึงปรากฏการณ์ “ผีเข้า-ผีสิง” ภาวะที่เชื่อว่าคนถูกผีหรือวิญญาณเข้ามาใช้ร่างกายตามอำเภอใจ ผู้ที่ถูกสิงมักแสดงอาการที่แตกต่างจากตอนปกติอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีทั้งอาการชักเกร็ง พูดเสียงดัง โวยวาย ก้าวร้าว ตาขวาง เรียกได้ว่าเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลยทีเดียว ซึ่งตามความเชื่อแล้ว ผู้ที่ถูกผีสิงเกิดจากการมีภาวะจิตที่อ่อนแอ ทำให้ง่ายต่อการถูกผีเข้าสิงและควบคุมร่างกาย หากผู้ถูกผีสิงไม่มีอาการดีขึ้น หรือผีไม่ยอมออกจากร่าง จะมีการเชิญ “หมอผี” มาทำพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อไล่ผีให้ออกไปจากร่าง นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์อีกรูปแบบหนึ่งที่มีการอนุญาตให้ผีเข้ามาใช้ร่างของคนทรง เพื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างคนและผี หรือที่เรียกว่า “ร่างทรง” อีกด้วย
Photo Credit: Josh Marshall / Unsplash
ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีหลักฐานอยู่ทั่วโลก ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก และมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ในแง่มุมของศาสนา มานุษยวิทยา และจิตวิทยามาโดยตลอด
ผีเข้า-ผีสิง เรื่องทางธรรมหรือทางโลก?
✠
ในศาสนาคริสต์ก็มีปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงยุคกลางที่ศาสนามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวยุโรปอย่างมาก Sari Katajala-Peltomaa (2020) ได้กล่าวถึงสาเหตุของการถูกผีเข้าสิงจากการศึกษาเรื่องการสิงสู่ของปีศาจในช่วงปลายยุคกลางไว้ว่า ผีเข้า-ผีสิง มิได้เป็นผลกรรมของผู้ประพฤติผิดหรือขัดต่อทำนองคลองธรรม แต่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างอาหารการกิน โดยเรียกอาหารที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดผีเข้า-ผีสิงว่า “อาหารอัปมงคล” อาทิ น้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีสิ่งปนเปื้อน และปัจจัยพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อย่างบริเวณต่างจังหวัดที่อยู่ท่ามกลางภูเขาลำเนาไพร เพราะว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นจุดเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และโลกของภูติผีปีศาจ (Liminal Space) หากมีใครบุกรุกเข้าไปก็อาจทำให้ภูติผีเหล่านั้นเดินทางจากโลกอื่นเพื่อมาเข้าสิงได้ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกรณีผีเข้า-ผีสิงของประเทศไทย ที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบทแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ
Photo Credit: Andrew Neel / Unsplash
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุทางด้านมานุษยวิทยา จากการศึกษาผีเข้า-ผีสิงและร่างทรงในแถบอินเดียใต้ของ E. B. Harper (1963) และการศึกษาอาการผีเข้า-ผีสิงในฐานะอาการป่วยในแถบชนบทอินเดียเหนือของ Freed and Freed (1964) พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วปรากฏการณ์นี้มักเกิดในวัยรุ่นใกล้แต่งงาน และผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบการเป็นภรรยาอันเคร่งครัด การขาดการดูแลจากสามี แรงกดดันจากความคาดหวังของครอบครัวสามี และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ การเป็นผู้หญิงทำให้มีสิทธิในการแสดงออกน้อยกว่า จึงทำให้เกิดอาการเก็บกดจนระเบิดมันออกมาในปรากฏการณ์ผีเข้า-ผีสิง และพอหลุดพ้นจากการโดนผีสิงแล้วพวกเธอจะไม่ถูกสังคมตัดสินว่าผิด เพราะคนในสังคมเชื่อว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากภูติผีปีศาจเข้าสิงผู้ที่มีจิตอ่อนแอ ซึ่งปรากฎการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นกลไกป้องกันทางจิต (Defense Mechanism) รูปแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งเสริมปรากฏการณ์นี้ขึ้นอยู่กับวรรณะ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และความสัมพันธ์ภายในครอบครัวด้วย
ไสย (วิทยา) ศาสตร์
✠
ปรากฏการณ์ผีเข้า-ผีสิง มีการศึกษาต่อยอดจากมุมมองมานุษยวิทยาสู่มุมมองจิตเวช นอกเหนือจากแรงกดดันภายในสังคม สาเหตุอาจมาจากตัวบุคคลที่มีความผิดปกติด้านสมองและระบบประสาท อาทิ อาการชักเกร็งจากโรคลมชัก หรือโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน ที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันร่วมกับระบบประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนมีอาการแลบลิ้น ขยับแขน-ขาไปมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อชีวิตได้
ในบางกรณีอาจเกิดจากความผิดปกติทางจิต ซึ่งมักแสดงอาการเมื่อผู้ป่วยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อาทิ สถานการณ์ตึงเครียด หรือสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการระลึกถึงบาดแผลในอดีต พบได้ในโรค Functional Neurological Disorder ซึ่งเป็นโรคที่ระบบประสาททำงานผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเคลื่อนไหวร่างกายผิดแปลกไปจากปกติ และมีอาการชักเกร็ง หรือในกลุ่มโรคบุคลิกภาพแตกแยก (Dissociative Disorders) อย่างเช่น โรค Trance and Possession Disorder ผู้ป่วยจะไม่สามารถตระหนักรู้ถึงตัวตนของตนเองและสภาพแวดล้อมรอบข้างได้ จึงแสดงอาการที่ผิดแปลกออกไปจากเดิม
Photo Credit: Camila Quintero / Unsplash
นอกจากนี้ ยังมีโรคจิตเภท (Schizophrenia) ที่มีอาการหลงผิดและเห็นภาพหลอนร่วมด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความคิดที่ผิดเพี้ยน เกิดความเข้าใจผิด และมองโลกที่แตกต่างออกไป ทำให้แสดงพฤติกรรมที่แปลกและอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นและตัวผู้ป่วยเองได้ ทั้งนี้ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและทำการรักษาต่อไป
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ผีเข้า-ผีสิงมีจำนวนลดน้อยลง และไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวเหมือนในอดีตที่เราเชื่อกันว่าเป็นเพราะวิญญาณร้ายอีกต่อไป แต่ถึงกระนั้น มุมมองด้านศาสนาและความเชื่อก็ยังมีอิทธิพลอย่างมากในปรากฏการณ์นี้ ทำให้ยังคงมีภาพหมอผีมาปัดเป่าผีร้ายให้เห็นอยู่เนือง ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด เป็นเพียงการแก้ปัญหาตามความเชื่อรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าหมอผีไม่สามารถช่วยขจัดปัญหาได้ ก็ควรมองหาความช่วยเหลือทางการแพทย์และพาผู้ป่วยไปรักษา เพื่อทำการรักษา เยียวยาและให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
Photo Credit: Stefano Pollio / Unsplash
ที่มา
- Demonic Possession and Lived Religion in Later Medieval Europe. https://academic.oup.com/book/40508
- Dissociative trance and spirit possession: Challenges for cultures in transition. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/pcn.12425#.
- Spirit possession and spirit mediumship from the perspective of Tulu oral traditions. https://link.springer.com/article/10.1007/BF00114691
- กรมการแพทย์ เผยสาเหตุความเข้าใจผิดของอาการผีเข้าคือ โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR. https://www.hfocus.org/content/2022/01/24219
เรื่องโดย
![](https://kindconnext.com/wp-content/uploads/2023/01/S__50659335-copy-100x100.jpg)