ฤดูฝนฟ้าแบบนี้ หลายคนอาจชื่นชอบเพราะให้ความรู้สึกโรแมนติกส์ แต่อีกหลายคนอาจรู้สึกหวั่นไหว เพราะเข้าช่วงฤดูฝนทีไรต้องมาพร้อมกับปรากฏการณ์อย่างฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเสมอ
วันนี้ KiNd ชวนทุกท่านมาอ่านเรื่องราวของปรากฏการณ์ฝนฟ้าเหล่านี้ว่าเกิดจากอะไร และมีความเชื่ออะไรบ้างที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
ฟ้าแลบ ตำนานนางเมขลาล่อแก้ว ⛈
เมื่อใดเกิดเสียงฟ้าคำราม ฟ้าแลบ ฟ้าร้องไม่ขาดสาย ก็พลันให้นึกถึง “เมขลา” เทพธิดาประจำทะเล ผู้ซึ่งถือดวงแก้วล่อให้รามสูรขว้างขวานจนทำให้เกิดฟ้าร้อง แต่นางก็โยนแก้วล่อไปล่อมาทำให้เกิดฟ้าแลบแสบตา จนเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า เมื่อใดที่เกิดฟ้าแลบ เมื่อนั้นนางเมขลาได้ล่อแก้วหลอกล่อรามสูรนั่นเอง ดังคำกลอนที่ว่า
“เมขลากล้าแกล้ว ล่อแก้วแววไว โยนสว่างเหมือนอย่างไฟ ปลาบไนยเนตรมาร”
สำหรับในนิทานพื้นบ้านของไทย ได้ยกเรื่องเมขลามาอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฟ้าแลบและฟ้าร้อง โดยเล่าว่าเมขลามีแก้ววิเศษอัศจรรย์ประจำตัว ยักษ์ชื่อรามสูรเห็นดังนั้นก็พอใจในดวงแก้วและความงามของเมขลา จึงเที่ยวไล่จับ เมื่อจับไม่ทันก็เอาขวานขว้างแต่ไม่ถูก เนื่องจากนางใช้แก้วล่อจนมีแสงเป็นฟ้าแลบทำให้รามสูรตาพร่ามัวขว้างขวานไม่ถูก ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้เข้าใจว่าเดิมคงเป็นมุขปาฐะเล่าเรื่องดินฟ้าอากาศของคนสมัยก่อน โดยให้เสียงฟ้าร้องเป็นยักษ์ถือขวาน สายฟ้าแลบเป็นนางเมขลาถือดวงมณี และให้สภาพอากาศเป็นเทวดา
ฟ้าผ่า อสุนีบาตจากฟากฟ้า ⛈
Photo Credit: unsplash.com
ในทุกปี ช่วงพายุฤดูฝนมักจะมีข่าวฟ้าผ่าคนเสียชีวิต ในโบราณมักจะเชื่อว่าบุคคลนั้นถูกสาปแช่ง หรือเคยสาบานสิ่งใดไว้แล้วผิดสัตย์จึงถูกฟ้าลงโทษ แต่รู้หรือไม่ว่า หากอิงตามความเชื่อของคัมภีร์โบราณในพระบาลีคัมภีร์พุทธศาสตร์และโลกศาสตร์ คติถือสืบต่อกันมาว่า อสุนีบาตตกลงที่ใดถือว่าเป็นมงคลนิมิต
โดยความตามคัมภีร์พิมพานิพพานมีอยู่ว่า ถ้าอสุนีบาตตกต้องกำแพงเมืองใด แม้ข้าศึกมาย่ำยีเมืองนั้น ก็มีแต่จะปราชัยพ่ายแพ้ไปฝ่ายเดียว ซึ่งหากย้อนกลับไปในยุครัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เกิดเหตุฟ้าผ่าพระมหาปราสาท ไฟลุกขึ้นไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาทกับหลังคามุขมอดไหม้ไปทั้งหลัง แม้จะหวั่นวิตกกันถึงเหตุอาเพศที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อพระสงฆ์ได้ตรวจค้นดูในพระบาลีคัมภีร์พุทธศาสตร์แล้วพบว่า ฟ้าผ่ากลับถือว่าเป็นนิมิตดี ไม่ใช่เรื่องอาเพศ ฟ้าพิโรธ หรือเทวดาลงโทษแต่อย่างใด แต่เป็นมงคลนิมิต แม้จะเสื่อมเสียทรัพย์สินสมบัติ ก็เสียแต่ที่ต้องอสุนีภัย จะเสียยิ่งไปกว่านั้นหาไม่
Photo Credit: www.silpa-mag.com
รุ้งกินน้ำ อิทธิฤทธิ์ของเทวดา ⛈
Photo Credit: unsplash.com
ยังเป็นกันอยู่ไหม เห็นรุ้งกินน้ำขึ้นเมื่อใดแล้วไม่กล้าชี้ เพราะมีคำโบราณบอกว่า ห้ามชี้รุ้งกินน้ำเดี๋ยวนิ้วกุด ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่า รุ้งกินน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เกิดจากการแสดงอิทธิฤทธิ์ของเทวดา เพื่อให้ผู้คนได้ชมความสวยงาม แต่ห้ามลบหลู่ และห้ามกระทำการใด ๆ ที่ไม่สมควร เช่น การชี้นิวที่รุ้งกินน้ำ ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ อธิบายได้ว่าชี้รุ้งกินน้ำแล้วนิ้วจะด้วนหรือกุด เพียงแต่สันนิษฐานว่า คำโบราณดังกล่าวเป็นอุบายของผู้ใหญ่ที่ไม่อยากให้เด็ก ๆ ตากละอองน้ำฝน เพราะรุ้งกินน้ำมักจะเกิดหลังจากที่ฝนตกเพิ่งหยุดหมาด ๆ เมื่อเด็ก ๆ ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านแล้วชี้นิ้วไปยังรุ้งกินน้ำ อาจเกิดภัยอันตรายนิ้วทิ่มแทงตาผู้อื่นเท่านั้นเอง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ไม่สบายด้วย
ทั้งปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า หรือรุ้งกินน้ำ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ล้วนมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเชื่อโบราณหรือกุศโลบายที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องราวน่าสนใจที่ทำให้เราค้นคว้าหาสาเหตุที่แท้จริงด้วย… สุดท้ายนี้ อย่าลืมดูแลตัวเองในช่วงฤดูฝนฟ้าไม่เป็นใจเช่นนี้ด้วยล่ะ
อ้างอิง
- ฟ้าผ่าเป็นนิมิตดีนะจะบอกให้!. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000053393
- ฟ้าผ่าข้อเท็จจริงที่ควรรู้. www.nstda.or.th/home/knowledge_post/thunderbolt1/
- ปริศนาสายรุ้ง. www.scimath.org/article-physics/item/9842-2019-02-22-01-32-30