Kind Sci

งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุ “เห็บ” เลือกดูดเลือดมนุษย์มากกว่าสุนัข เมื่อสภาพอากาศร้อนขึ้น


นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาได้ทำการทดลองนำกล่องไม้ขนาดใหญ่สองใบมาให้สุนัข และผู้ร่วมการทดลองอาศัยแยกกัน โดยมีหลอดพลาสติกใสบรรจุเห็บสุนัขสีน้ำตาลอยู่เต็มหลอด ซึ่งทีมนักวิจัยต่างจ้องมองเส้นทางการเดินทางของพวกมันว่า จะเดินไปหากล่องไม้ที่มีมนุษย์ หรือสุนัขอยู่มากกว่ากัน

แต่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้ร่วมการทดลองรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วนเล็กน้อย เพราะเห็บเป็นพาหะของแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้พุพองเทือกเขาร็อกกี้ (Rocky Mountain Spotted  Fever – RMSF)


ส่วนโรคที่มีอาการใกล้เคียงกันคือ โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ซึ่งมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค แต่โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ หากตรวจพบในสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 1 ใน 5 คน โดยอาการต่าง ๆ ที่แสดงออกมานั้น ไม่ต่างจากการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่เท่าไหร่นัก โดยเริ่มแรกจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และมีไข้

ท่ามกลางอุณหภูมิในห้องปฏิบัติการที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก 23.3 องศาเซลเซียส เป็น 37.8 องศาเซลเซียส เห็บสุนัขสีน้ำตาล (Brown dog tick; Rhipicephalus Sanguineus) มีแนวโน้มจะกัดมนุษย์แทนสุนัขมากถึง 2.5 เท่า


ปัจจุบันเห็บชนิดนี้จะพบมากในทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เช่น แอริโซนา ฟลอริดา และแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ถูกนำไปเผยแพร่ในงานประชุมประจำปีของ American Society of Tropical Medicine and Hygiene (ASTMH)

Laura Backus หัวหน้าการทดลองจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สาขาสัตวแพทยศาสตร์เดวิส เตือนว่า ช่วงนี้เราต้องเพิ่มการเฝ้าระวังการระบาดของเห็บ ซึ่งเราคาดว่าเห็บจะแพร่พันธุ์ไปทางตอนเหนือของสหรัฐฯ เนื่องจากอุณหภูมิภายนอกโดยเฉลี่ยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น


“งานวิจัยของเรา ชี้ให้เห็นว่า เมื่อสภาพอากาศภายนอกร้อนจัด เห็บก็เริ่มหันไปดูดเลือดมนุษย์มากกว่าสุนัข ดังนั้นเราควรระมัดระวังการติดเชื้อ RMSF ในมนุษย์ให้มากขึ้น” Backus กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยมีความกังวลว่า โรคที่มาจากเห็บอาจมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคลายม์ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Borrelia Burgdorferi โดยคนสามารถติดเชื้อนี้ได้จากการถูกเห็บขาดำกัด ขณะที่ในสหรัฐฯ ก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก เนื่องจากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้ตรวจพบผู้ป่วยที่ถูกเห็บขาดำกัดมากถึงปีละ 30,000 เคสต่อปี

Joel Breman ประธานสมาคมเวชศาสตร์เขตร้อน และสุขอนามัยแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า การทดลองครั้งนี้ พบหลักฐานชิ้นใหม่ เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพ

“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนักและก้าวตามให้ทัน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงของโรคติดต่อที่อาจขยายตัวไปในวงกว้าง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อที่จะหาทางป้องกัน และวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น” เขากล่าวปิดท้าย



ที่มา


เรื่องโดย

ภาพโดย