Kind National

งานประชุมและงานแสดงสินค้าแบบ Face to Face ยังจำเป็นอยู่ไหม? ในวิกฤตโรคระบาด


วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการสั่นคลอนในเกือบทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าออกของนักเดินทางต่างชาติอย่างอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดตัวของสถานประกอบการ บริษัทจัดงาน รวมถึงการเลิกจ้างงานบุคลากรที่อยู่ในสถานประกอบการไมซ์

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ พร้อมกับรอความคืบหน้าของวัคซีน หลังจากรัฐบาลไทยตกลงร่วมมือในการพัฒนาและเตรียมจัดซื้อวัคซีน ซึ่งคาดว่าคนไทยจะได้รับวัคซีนภายในกลางปี พ.ศ. 2564 ในช่วงนี้จึงเป็นเวลาที่ภาคธุรกิจต้องวางกลยุทธ์และปรับแนวทางการจัดงานเพื่อสอดคล้องยุค New Normal

มุ่งเพิ่มจำนวนผู้เข้างานผ่านรูปแบบ Online และ Offline

ในส่วนของการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ เรียกได้ว่าซบเซาอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตหนักในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับแผนอย่างหนักเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ประกาศเดินหน้าส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในปี พ.ศ. 2564 ต่อไป พร้อมปรับแนวการตลาดให้เฉพาะเจาะจง มุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจศักยภาพสูง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อทั้งผู้ร่วมออกร้านและผู้ร่วมงานว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย


คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ เล่าถึงแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของทีเส็บ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2562-2566) ว่า ได้มุ่งเน้นการดึงงานและสนับสนุนการจัดงาน 12 อุตสาหกรรมหลัก เพื่อตอบรับนโยบายจากรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2564 โดยมีแผนสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ 58 งาน แบ่งเป็นงานเดิม 44 งาน และงานใหม่ 14 งาน ซึ่งงานทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน 23,000 ล้านบาท


โดยมีกลยุทธ์หลักที่สำคัญคือ มุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมงานจากภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้นทั้งในรูปแบบ Online และ Offline, จัดงานแสดงสินค้าที่มีลักษณะงานใกล้เคียงกันในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมงานให้มากยิ่งขึ้น, ส่งเสริมการขยายงานสู่พื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ พื้นที่อีอีซี, กระตุ้นให้ภาครัฐเห็นถึงความสำคัญของงานแสดงสินค้านานาชาติ เพื่อยกระดับความสำคัญของงานแสดงสินค้านานาชาติ และใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมชมงานผ่านช่องทาง Online

เทคโนโลยี ช่องทางต่อยอดธุรกิจในภาวะวิกฤต

แม้ในปี พ.ศ. 2563 สถานการณ์โควิด 19 จะส่งผลกระทบให้ไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ตามปกติ แต่ผู้จัดงานในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ ต่างนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดงานรูปแบบปกติ (Face to Face) ร่วมกับออนไลน์ (Hybrid Exhibition) ทำให้ยังคงเกิดการเจรจาธุรกิจและการซื้อขายระหว่างนักธุรกิจไทยและกลุ่มลูกค้าในอาเซียนเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ขึ้นกว่า 15,000 คู่ โดยทีเส็บให้การสนับสนุนงานแสดงสินค้านานาชาติทั้งสิ้นจำนวน 24 งาน ซึ่งมีผู้ร่วมงานจากทั้งในและต่างประเทศรวม 133,259 คน สร้างรายได้ 6,521 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการทีเส็บเล็งเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้าคือการจัดงานในรูปแบบปกติ หรือ Face to Face ที่ยังคงต้องพบปะกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นประสบการณ์ที่การจัดงานแบบ Virtual ให้ไม่ได้


“ในสถานการณ์เช่นนี้ผมมองว่าการนำเทคโนโลยีมาผสานร่วมกับครีเอทีฟไอเดียในการสร้างสรรค์งานเเสดงสินค้าในรูปเเบบใหม่ อย่าง Virtual Exhibition เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งขณะนี้หลายบริษัททำแล้ว แต่อย่าลืมว่าจุดมุ่งหมายของการจัดงานประชุมหรืองานแสดงสินค้าคือ Face to Face อย่างการจัดประชุมทางการแพทย์ หรือหน่วยงานวิศวกร ยังต้องเป็นแบบ Face to Face ฉะนั้นในเวลานี้เรายังไม่หมดหวัง เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่าไทยจะได้รับวัคซีน เราจะไม่ยอมแพ้ต่อสถานการณ์นี้แน่นอนครับ” คุณจิรุตถ์ กล่าว

ความหวังที่ไม่ไกลเกินเอื้อมของผู้จัดงาน

หน่วยงานที่มีส่วนสำคัญที่สุดของงานแสดงสินค้าคือกลุ่มผู้จัดงาน ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ต้องวางแผนและนำกลยุทธ์ต่าง ๆ ออกมาใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายกลับมาร่วมงานแสดงสินค้าอีก

คุณสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้นำธุรกิจการจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทฯ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าในยุควิถีใหม่ โดยงานแสดงทุกงานได้จัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์งานผ่านช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ การจัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) เพื่อให้ความรู้กับอุตสาหกรรมและประชาสัมพันธ์งานอย่างต่อเนื่อง, เน้นย้ำสุขอนามัยในการเข้าร่วมงานตามมาตรฐาน Standard Operating Procedure (SOP), เพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์งานให้หลากหลาย เช่น ทางเว็บไซต์, E-newsletter, Facebook และ Line OA โดยจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Hybrid Exhibition มีผู้สนใจเข้าชมงานจากหลากหลายประเทศผ่านทางดิจิทัลกว่า 2,500 คน รวมถึงมีการจัดเจรจาธุรกิจทางออนไลน์ (Online Business Matching) กว่า 500 นัด ในหลากหลายอุตสาหกรรมอีกด้วย

ด้านคุณศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ กล่าวว่า การจัดงาน Exhibition ยังคงเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมต่ออุตสาหกรรม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแม้ในช่วงวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา นีโอในฐานะผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาผสานร่วมกับครีเอทีฟไอเดียในการสร้างสรรค์งานแสดงสินค้าในรูปเเบบใหม่ อาทิ Webinar, Live streaming, Virtual Exhibition และ Online Business Matching เพื่อเสริมศักยภาพ และเพิ่มการเข้าถึงอย่างไร้ขีดจำกัด

ผมเชื่อว่าหากสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ การใช้เทคโนโลยีออนไลน์จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยเสริมประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมชมงาน และจะเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อเครือข่ายทางธุรกิจกับผู้ซื้อทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Photo Credit: thvincent/ medium.com


ขณะที่คุณกวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เริ่มนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงานแสดง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จัดงานแสดงสินค้าไทยได้มีโอกาสพบปะกับกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อจากต่างประเทศที่สนใจแต่ไม่สามารถเดินทางมาได้เพราะปิดประเทศ ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้จัดงานแสดงสินค้า

“สำหรับปี พ.ศ. 2564 บริษัทฯ ได้เตรียมจัดงานในรูปแบบ Hybrid คือมีทั้ง Face to Face และ Digital เพราะคาดว่าสถานการณ์โควิดคงยังไม่จบและวัคซีนที่ผลิตออกมายังไม่เพียงพอ โดย Digital จะครอบคลุมทั้งในส่วนของ International Exhibitors ที่สนใจต้องการขยายตลาดมาประเทศไทยและมาร่วมงานไม่ได้ และ Thai Exhibitors ที่ต้องการขายสินค้าไปต่างประเทศ” คุณกวิน กล่าวทิ้งท้าย


จากทิศทางการวางแผนงานของทีเส็บ และแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ในการรับมือกับภาวะวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจยังคงตั้งความหวังให้ไทยกลายเป็นศูนย์การประชุมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เนื่องจากมองว่าประเทศไทยยังคงรับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีเป็นลำดับต้น ๆ ในแถบเอเชีย และโอกาสที่จะดึงนักเดินทางต่างชาติในกลุ่มธุรกิจไมซ์ให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก ตราบใดที่รัฐบาลมีมาตรการรับมือภาวะวิกฤตนี้ได้อย่างเหมาะสม


เรื่องโดย

ภาพโดย