Digi Kind

เมื่อ AI ช่วยทีมแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลของอินเดีย คัดกรองผู้มีความเสี่ยงวัณโรคผ่านภาพ X-rays


ในสถานที่ที่ห่างไกลและยากจนหลายแห่งของอินเดีย ขณะที่วิถีชีวิตของผู้คนกำลังดำเนินไปอย่างเรียบง่าย แต่จังหวะชีวิตของพวกเขาก็ต้องหยุดชะงักลง เมื่อโรคระบาดร้ายแรงได้ย่างกรายเข้าสู่เมือง และทำลายระบบทางเดินหายใจของผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั่วทั้งเมืองต้องตกอยู่ในภาวะหยุดชะงัก พวกเขาไม่กล้าออกไปใช้ชีวิต เพราะหากป่วยขึ้นมาแล้ว โรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวที่ใกล้ที่สุด ก็อยู่ไกลถึง 200 กิโลเมตร อีกทั้งยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขก็ไม่ทั่วถึง ทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้ว ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขายังคงได้รับจากโลกภายนอกนั่นคือ “เทคโนโลยี”

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อโรคร้ายที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานอย่าง “วัณโรค” ซึ่งประชากรในอินเดียต้องเผชิญความเสี่ยงสูงที่สุดในโลก บริษัท Qure.ai จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันชื่อว่า qXR โดยสามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ เพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โควิด-19 วัณโรค และโรคอื่น ๆ อีก 27 ชนิด ซึ่งมุ่งเน้นการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ จากนั้นก็รอประมวลผลเพียงแค่หนึ่งนาที หรืออาจจะน้อยกว่านั้น โรคที่ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานมาเป็นระยะเวลานาน ก็จะแสดงผลให้ทราบโดยทันที

__

วัณโรค นับเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่สุดในโลก ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 1.4 ล้านคนในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ด้วยแอปพลิเคชัน qXR ทำให้ทีมแพทย์สามารถคัดกรองได้เบื้องต้นทันทีว่าผู้ป่วยกำลังป่วยเป็นโรคอะไร โดยไม่จำเป็นต้องส่งเชื้อเข้าห้องปฏิบัติการ นับเป็นการช่วยลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดเวลาให้ทีมแพทย์ด้วย

“ในบรรดาแอปพลิเคชันทั้งหมดที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาร่วมในการประมวลผล ผมคิดว่าการวินิจฉัยโรคด้วยอัลกอริทึมแทนที่จะเป็นนักรังสีวิทยาโดยตรง ยังไงผมก็มองว่ามันต้องใช้เวลานานกว่าปกติอยู่ดี” Madhukar Pai ผู้อำนวยการศูนย์ผู้ป่วยวัณโรคนานาชาติแมคกิลล์ ในมอนทรีออลกล่าว

“เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถแทนที่แพทย์ ซึ่งเป็น ‘มนุษย์’ จริง ๆ ได้” ดร. Pai และผู้เชี่ยวชาญโรคคนอื่น ๆ กล่าวย้ำ แต่เมื่อปัญญาประดิษฐ์และความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ เข้ามาทำงานร่วมกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทั้งสองอย่างสามารถทำงานร่วมกันได้ และส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย

“เมื่อ AI และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกัน ย่อมดีกว่าแพทย์ต้องทำงานเพียงแค่คนเดียว และแน่นอนว่า หาก AI ทำงานคนเดียว ก็ไม่ดีเท่ากับมี ‘มนุษย์’ มาทำงานด้วยเช่นกัน”


ดร. Eric Topol ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางการแพทย์ของอเมริกาที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมุ่งเน้นการวิจัย และการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในทางการแพทย์กล่าว

ในอินเดีย โรคที่น่ากังวลเป็นอันดับต้น ๆ คือ วัณโรค จากรายงานประชากรของโลกประมาณ 1 ใน 4 มีการติดเชื้อวัณโรคแบบแฝงตัว โดยในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 1% ของประชากร โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจาก อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ไนจีเรีย และบังคลาเทศ

จากจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่มีทีท่าจะลดจำนวนลง ทำให้ Nandurbar เมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเป็นเมืองเล็ก ๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย จึงต้องเป็นศูนย์กลางในการตรวจวินิจฉัยรักษาโรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากพื้นที่รอบข้างไม่มีโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอต่อความต้องการ

ภาระหน้าที่อันหนักอึ้งจึงตกอยู่ที่โรงพยาบาล Chinchpada Christian ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 50 เตียง มีแพทย์ประจำ 8 คนเท่านั้น ขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็มีเพียงอุปกรณ์พื้นฐาน ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนเผ่า Bhill หนึ่งในชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย บางคนต้องเดินทางมาไกลถึง 125 ไมล์ (ประมาณ 200 กิโลเมตร) เพื่อมารักษาตัว


ส่วนอีกเมืองที่ต้องประสบปัญหาไม่ต่างกันคือ Simdega และเป็นหนึ่งใน 20 เมืองที่ยากจนที่สุดในอินเดีย ตั้งอยู่ห่างจากเมือง Rourkela เพียงแค่ 64 กิโลเมตร แต่การจะไปยังเมือง Rourkela พวกเขาต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าห้าชั่วโมงในการเดินทาง เนื่องจากถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ชาวบ้านจึงเลือกใช้บริการโรงพยาบาลเล็ก ๆ ในเมือง Simdega มากกว่า

หมู่บ้านที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยป่าดิบทึบ ชนพื้นเมือง และประชากรที่อาศัยร่วมกันในพื้นที่แห่งนี้ พวกเขาเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ผืนป่าจึงเป็นดั่งแหล่งขุมทรัพย์ชั้นดีในการดำรงชีวิต แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ลึกเข้าไปในป่าขนาดไหน แต่โรคระบาดจากภายนอกก็แพร่ระบาดมายังบ้านเกิดของพวกเขาอยู่ดี

ความหวังของชนพื้นเมืองจึงตกอยู่ที่ ศูนย์การแพทย์ประจำเมืองเพียงหนึ่งเดียวนั่นคือ ศูนย์การแพทย์ Simdega แม้จะเป็นศูนย์การแพทย์ขนาดเล็กที่มีเตียงแค่ 60 เตียง และแพทย์ประจำ 3 คนก็ตาม

“พวกเราเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ห่างไกลผู้คน ไม่มีเมือง มีเพียงความเงียบที่ห้อมล้อมเราเอาไว้ และศูนย์การแพทย์แห่งนี้ ก็เป็นแสงสว่างแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้”

ดร. George Mathew ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ Simdega กล่าว


“เนื่องจากศูนย์พยาบาลแห่งนี้ ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก ทำให้เราต้องรักษาโรคแทบทุกชนิดที่ชนพื้นเมืองต้องประสบ ตั้งแต่โรคมาลาเรีย ไปจนถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากมีเคสฉุกเฉินเข้ามา เช่น โรคลมชัก หรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ เราก็ต้องปรี่เข้ามาช่วยผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว” ดร. Mathew กล่าว

เมื่อไม่มีทางเลือกมากนัก ทำให้ในช่วงหลายปีมานี้ ดร. Mathew จึงต้องศึกษาตำราทางการแพทย์เพิ่มเติมอย่างหนัก หนึ่งในนั้นคือ การฝึกอ่านแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก บางครั้งเขาต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่จบรังสีวิทยามาโดยตรง และเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานของเขาเองด้วย

แม้ว่า Nandurbar และ Simdega จะอยู่ห่างกันกว่า 800 ไมล์ (1,287 กิโลเมตร) แต่จำนวนประชากรของพวกเขาก็มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก โรคส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านและชนพื้นเมืองเป็น มักจะเป็นโรคมาลาเรีย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease – SCD) และวัณโรค ซึ่งยังคงระบาดอย่างหนักในพื้นที่ และหากพวกเขาป่วย การเดินทางออกจากหมู่บ้านดูจะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองโดยใช่เหตุ ดังนั้นพวกเขาจึงหันไปพึ่งพาผู้นำทางจิตวิญญาณมากกว่าที่จะพึ่งพาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


“วัณโรค เป็นโรคที่มีแนวโน้มว่าจะถูกละเลย และการวินิจฉัยก็มักล่าช้าอยู่เสมอ” ดร. Ashita Singh หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของโรงพยาบาล Nandurbar กล่าว และเสริมว่า “เมื่อพวกเขามาถึงโรงพยาบาล ก็มักจะป่วยหนักแล้ว โดยที่พวกเขาไม่เคยได้รับการตรวจโรคจากที่อื่นเลยด้วยซ้ำ”แม้จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจวินิจฉัยโรค แต่บางครั้งการนำแอปพลิเคชัน qXR มาร่วมคัดกรองโรคเบื้องต้น ก็พบว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด

เนื่องจากรังสีเอกซ์ที่ฉายลงบนตัวผู้ป่วย มีการแผ่รังสีที่ลงลึกกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะตรวจพบจากภายนอก “เมื่อเรานำ AI มาร่วมในการวินิจฉัยโรค เราก็รู้ได้เลยทันทีว่า เทคโนโลยีมีประโยชน์เกินกว่าที่เราคาดคิดไว้มาก”

ดร. Singh กล่าว


นอกจากวัณโรคที่โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้ต้องเผชิญแล้ว โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้เมืองใหญ่หลายเมืองต้องล็อกดาวน์ตัวเองลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อทีมแพทย์ชนบท เนื่องจากโรงพยาบาลที่พวกเขาประจำอยู่ ต้องอาศัยนักรังสีวิทยาจากโรงพยาบาลของเมืองอื่น และผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค และโควิด-19 มีอาการใกล้เคียงกันมาก ทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักอีกเท่าตัว

โรงพยาบาลนำร่อง

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลทั้งสองแห่งเริ่มใช้แอปพลิเคชัน qXR ซึ่งผลิตโดย บริษัท Qure.ai ของอินเดีย และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย โดยแอปฯ จะทำการประเมินเบื้องต้นและคิดเป็นคะแนนออกมา จากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาวินิจฉัยเพิ่มเติม

เมื่อมีการทดลองนำ qXR มาใช้ที่โรงพยาบาลใน Nandurbar พบว่า การวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อนสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แอปฯ สามารถช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคได้มากถึง 20 ราย ดร. Singh กล่าว

“การเอกซเรย์ทรวงอกส่วนใหญ่นั้น เรานำมาใช้กับผู้ป่วยที่เข้าข่ายเป็นวัณโรค ซึ่ง qXR จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น” ดร. Richard E. Chaisson ผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรค จากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์กล่าว

“ถ้าในอนาคตเรามีแพคเกจจับคู่ที่สามารถอ่านผลเอกซเรย์ปอด และ CT สแกน ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ ผมว่า มันคงเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่มาก ยิ่งใหญ่มากจริง ๆ”


qXR เป็นหนึ่งในแอปฯ ที่นำ AI มาร่วมในการวินิจฉัยวัณโรค โดยทีมนักพัฒนาไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า แอปพลิเคชันของพวกเขาจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยวัณโรคในอินเดียได้ จนกระทั่งเมื่อสองสามปีก่อน ทีมแพทย์ชาวอินเดียแนะนำพวกเขาให้นำ qXR เข้ามาใช้ในวงการแพทย์


ในการพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทีมพัฒนา qXR จึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับแอปพลิเคชันที่ใช้ AI ในการวินิจฉัยโรคตัวอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรเครือข่ายหยุดยั้งวัณโรคระดับโลก (Stop TB Partnership) ผลปรากฏว่า qXR มีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคมากกว่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เสียอีก

จากรายงานของ Prashant Warier หัวหน้าผู้บริหารบริษัท Qure.ai ระบุว่า qXR สามารถวินิจฉัยวัณโรคได้ด้วยความแม่นยำสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทว่าความแม่นยำที่สูงถึงขนาดนี้ กลับไม่สามารถใช้ได้ในประเทศที่มีความชุกของโรคต่ำ ซึ่ง ดร. Topol เรียกปัญหานี้ว่า “ปัญหาที่สามารถพบได้ทั่วไป” หากนำ AI มาช่วยในการประมวลผล

แม้ว่า qXR ดูเหมือนจะเป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ของแพทย์ในโรงพยาบาลพื้นที่ห่างไกลของอินเดีย แต่การตรวจหาวัณโรคผ่านแอปฯ qXR อาจมีประสิทธิภาพต่ำลง เมื่อนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปตะวันตก เนื่องจากในกลุ่มประเทศดังกล่าว มีความชุกของโรคต่ำกว่าอินเดีย ดร. Topol กล่าวเสริมqXR ถูกนำมาทดสอบในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เนื่องจากผู้ป่วยเด็กในอินเดียได้เพิ่มจำนวนขึ้นตามมาติด ๆ ทำให้

ทีมพัฒนาตัดสินใจนำมาทดสอบในผู้ป่วยเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไปด้วยเช่นกัน ซึ่งการเอกซเรย์ทรวงอกในเด็ก ส่งผลดีกว่าที่คิด เนื่องจากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในวัยเด็ก ไม่สามารถยืนยันได้ด้วยการทดสอบในห้องปฏิบัติการ

ดร. Silvia S. Chiang ผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคในเด็กของมหาวิทยาลัยบราวน์กล่าว


บริษัท Qure.ai ได้เผยข้อมูลออกมาว่า ขณะนี้พวกเขากำลังทดสอบแอปฯ ในผู้ป่วยเด็กที่อาศัยอยู่ในบังคลาเทศ และทางบริษัทจะเผยข้อมูลผลการทดสอบในช่วงต้นปีหน้า ในระหว่างนี้ qXR จะพัฒนาแอปฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะพวกเขาเองก็ต้องเรียนรู้วิวัฒนาการของโรคอยู่เสมอ


ด้าน ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การนำ AI มาใช้ในทางการแพทย์ อาจช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคได้ โดยเฉพาะในประเทศอินเดียที่ยังคงขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

“ฉันก็แค่ฝันถึงช่วงเวลาที่เรียบง่าย ช่วงเวลาที่ AI เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรค และศูนย์อนามัยชุมชนทุกแห่งไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ พวกเขาก็สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ ซึ่งฉันเองก็รู้ดีว่า ภาครัฐคงลังเลที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่า ทีมแพทย์ชนบทจะสามารถอ่านผลเอกซ์เรย์นี้ได้” ดร. Singh กล่าว

“ถ้าศูนย์อนามัยชุมชนของอินเดียทุกแห่ง สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ ฉันคิดว่า เราอาจจะเอาชนะวัณโรคได้ในไม่ช้า”


ที่มา

  • These Algorithms Could Bring an End to the World’s Deadliest Killer. www.nytimes.com

เรื่องโดย