“ทำไมต้องเป็นฉันด้วย?”
ไม่ต่างกับผู้ป่วยโรคมะเร็งคนอื่น ๆ ฮัน ยู-คยอง นักเขียนเจ้าของผลงาน “The Cancer Center Graduate” โดยสำนักพิมพ์ Chamomile Press ก็เคยเฝ้าถามตัวเองด้วยคำถามนี้หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในปี ค.ศ. 2019 ที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในกรุงโซล
หนังสือของเธอแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ตั้งแต่วันที่รู้ผลการตรวจ ไปจนถึงวันที่เธอสามารถก้าวผ่านมันมาได้ และเล่าถึงทุกรายละเอียดระหว่างเข้ารับการรักษาเพื่อเป็นประโยชน์ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งคนอื่น ๆ
ยู-คยอง ป่วยเป็นโรคมะเร็งลิ้นระยะที่ 4 โดยแพทย์แจ้งวิธีการรักษาว่าเธอจะต้องผ่าตัดลิ้นบริเวณที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ซึ่งกินพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของลิ้น ในช่วงแรกยู-คยองตกใจและรับความจริงไม่ได้ เธอพยายามหาคำตอบว่ามันเป็นเพราะอะไร เธอไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มหนัก และครอบครัวของเธอก็ไม่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งที่ลิ้นมาก่อนเลย แล้วอะไรทำให้เธอที่เพิ่งอายุ 28 ปีต้องมาเป็นโรคนี้ด้วย?
__
ความรู้สึกสับสนและความโกรธเข้าโจมตีเธอ “ฉันเฝ้าถามตัวเองว่าทำไม? ทำไมต้องเป็นฉันด้วย? ทำไมต้องมาเจอเรื่องนี้?” เธอให้สัมภาษณ์กับ The Korea Times “ฉันหัวเสียมาก เพราะต่อให้ประสบความสำเร็จในการผ่าตัด มันก็ยังมีความเสี่ยงที่ฉันจะพูดไม่ได้อีก”
ยู-คยองเผยว่า เธอเคยนึกภาพชีวิตที่เหลือของตัวเอง ที่ต้องคอยให้ครอบครัวดูแล หรือต้องจ้างคนมาคอยดูแลเธอ และเคยแม้กระทั่งคิดเรื่องฆ่าตัวตาย “สำหรับฉัน การเป็นมะเร็งที่ลิ้นเหมือนจุดจบชีวิตการทำงาน เพราะงานของฉันการพูด การสื่อสารมีความสำคัญมาก” เธอกล่าว
ฮัน ยู-คยอง ทำงานในบริษัทการตลาดพร้อมกับศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษานอกเวลา วิชาเอกวิเทศสัมพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) เป้าหมายของเธอคือการทำงานในองค์การระหว่างประเทศ ด้านมรดกวัฒนธรรมและศิลปะวัตถุ
เส้นทางชีวิตของเธอพังทลายลงในพริบตา
เธอรู้ดีว่าตัวเองไม่มีทางเลือกนอกจากทำตามคำแนะนำของแพทย์ ยู-คยองเข้ารับการผ่าตัดและฉายแสงตามวิธีเคมีบำบัด ในที่สุดเส้นทางการรักษาโรคมะเร็งที่แสนทรมานก็สิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ. 2019
ปัจจุบัน ยู-คยองอยู่ในช่วงพักฟื้น และฝึกการพูดกับผู้เชี่ยวชาญในสถาบันของเอกชน เธอยอมรับได้แม้ว่าจะไม่สามารถออกเสียงได้อย่างชัดเจนเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยโรคมะเร็งคนอื่น ๆ ยู-คยองยังต้องระวังการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่อาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำครั้งนี้ได้มอบบทเรียนล้ำค่าให้กับเธอเช่นกัน ไม่ใช่แค่ยู-คยองคนเดียว แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งคนอื่น ๆ ต่างก็ต้องเผชิญกับความกลัว และเธอสามารถช่วยพวกเขาได้
ยู-คยองเล่าให้ The Korea Times ฟังว่า เธอมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายคนที่ต่อสู้เพียงลำพังโดยไม่มีครอบครัวเคียงข้าง “ผู้ป่วยคนหนึ่งที่ฉันเจอที่ศูนย์มะเร็งเป็นแม่บ้าน เธอเป็นมะเร็งปากมดลูก และเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ฉันไม่เห็นครอบครัวของเธอมาหาเลย นั่นเพราะว่าเธอไม่ได้บอกกับครอบครัวว่าเป็นมะเร็ง แม้กระทั่งกับสามีก็ตาม เธอบอกว่ามันน่าอายที่เป็นโรคมะเร็ง” ยู-คยองกล่าว
“ผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายคนไม่ยอมบอกคนรอบข้างว่าตัวเองกำลังเป็นอะไร และเลือกที่จะต่อสู้กับโรคร้ายนี้เพียงลำพัง”
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2020 ยู-คยองเขียนบทความจากประสบการณ์ของเธอตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง และหนังสือ “The Cancer Center Graduate” ได้รับการตีพิมพ์ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
หนังสือเล่มนี้ บอกเล่าเรื่องราวหญิงสาวอนาคตไกลวัย 28 ปี ที่ชีวิตพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ความกลัว ความโกรธ ความเครียด และความสิ้นหวัง ถูกบันทึกลงหน้ากระดาษไว้อย่างละเอียด รวมถึงประสบการณ์ที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนต้องเจอในการเข้ารับการรักษา
ยู-คยองบรรยายถึงความโศกเศร้าของครอบครัวผู้ป่วย และภาวะอารมณ์ที่ปั่นป่วนของตัวเอง นอกจากนี้ยังเล่าถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กำลังใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นย่ำแย่หนักกว่าเดิม ซึ่งก็คือหมอที่ขาดความเห็นใจและไร้ความรู้สึกนั่นเอง
แพทย์เจ้าของไข้ที่ดูแลยู-คยองไม่ได้อธิบายและให้ข้อมูลว่าเธอกำลังเจอกับอะไรอยู่ มากไปกว่านั้นยังทำให้เธอกังวลกับสิ่งที่ตัวเองเผชิญมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ยู-คยองถามคำถามเดิม ๆ กับคุณหมอ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ครบถ้วน แถมยังแสดงท่าทีรำคาญเธอ “แล้วคุณมีปัญหาอะไร?” นี่เป็นการตอบกลับจากคุณหมอ “ที่คุณถามมาทั้งหมดมันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก และ ใช่! เซลล์มะเร็งที่ลิ้นของคุณมันลุกลามกินพื้นที่มากกว่าของคนอื่น พยายามมองโลกในแง่บวกได้แล้วนะ คุณต้องมองให้ไกลกว่าผลจากการผ่าตัด มองว่ามันจะเป็นผลดีแค่ไหนเมื่อเอามันออกไป ไม่ใช่สนใจแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้าใจไหม”
ยู-คยองหัวเสียกับสิ่งที่เจอ เธอตัดสินใจไปหาแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และคุณหมอแนะนำให้เธอเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าเธอเป็นมะเร็งหรือเปล่า ไม่เหมือนกับอาจารย์แพทย์ท่านนั้น คุณหมอเฉพาะทางคนนี้อดทนและตั้งใจฟังเธอ คุณหมอที่เห็นใจคนไข้ทำให้เธอรู้สึกสบายใจขึ้นมาก
“ฉันตัดสินใจจะแบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายคนกำลังต่อสู้อย่างลำพัง ไม่มีครอบครัวเคียงข้าง” เธอกล่าว “ฉันอยากบอกกับพวกเขาว่า ไม่เป็นไรนะ เธอไม่ได้สู้อยู่คนเดียว”
ที่มา
- ‘Don’t be scared. You’re not alone’. www.koreatimes.co.kr