Kind Sustain

การเมืองและเพนกวิน: เส้นทางการต่อสู้เพื่อกอบกู้แอนตาร์กติกา


แอนตาร์กติกา ดินแดนที่ปกคลุมไปด้วยผืนน้ำแข็ง บัดนี้ธารน้ำแข็งหนานับสิบเมตรกำลังค่อย ๆ ละลายลง จนเกิดเป็นเส้นทางสู่ “ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก” ที่พร้อมเปลี่ยนแผ่นดินให้กลายเป็นมหาสมุทรขนาดใหญ่ โดยในปี ค.ศ. 2019 หิ้งน้ำแข็งอาเมรี (The Amery Ice Shelf) ในแอนตาร์กติกาได้แตกตัวออกอย่างช้า ๆ ทำให้สิ่งมีชีวิตในแอนตาร์กติกา ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเอาชีวิตรอด

ขณะที่ความพยายามของนานาประเทศ ในการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง แต่ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 ความหวังของมนุษยชาติในการมีคุ้มครองทวีปแอนตาร์กติกาก็ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง


“เพียงแค่เกิดจุดพลิกผันเพียงเล็กน้อยก็นับเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะถ้าคุณละเลยมันไป สภาพอากาศจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษยชาติ หากแผ่นน้ำแข็งละลายตัว และเริ่มไหลลงสู่มหาสมุทรก็ไม่มีสิ่งไหนที่เราสามารถต้านทานมันได้อีกต่อไป”

– เจมส์ ฮานเซน นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชั้นนำขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา


วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1820 Fabian Gottlieb von Bellingshausen นายทหารเรือชาวเยอรมัน นักทำแผนที่ และนักสำรวจที่รับราชการในรัสเซีย ได้เดินทางมาถึงทวีปแอนตาร์กติกา ดินแดนที่มีแต่ความหนาวเย็นและว่างเปล่า รัสเซียจึงได้ชื่อว่า เป็นชาติแรกที่ค้นพบทวีปแอนตาร์กติกา แม้จะมีคณะสำรวจบางประเทศ เช่น สเปนที่เดินทางมาสำรวจในปี ค.ศ. 1891 และคณะสำรวจของอังกฤษในปี ค.ศ. 1819 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการค้นพบที่แน่ชัด

เพียงสามวันให้หลัง คณะเดินทางของอังกฤษ นำโดย นายเรือ Edward Bransfield นายทหารชาวไอริช ก็ได้ล่องเรือมาถึงขอบคาบสมุทรแอนตาร์กติก ต่อมาในปี ค.ศ. 1821 John Davis นักสำรวจชาวอเมริกัน เป็นคนแรกที่เหยียบผืนน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา

การค้นพบทวีปแอนตาร์กติกเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ มุ่งความสนใจไปที่การอ้างสิทธิ์ในดินแดนแห่งใหม่มากกว่าความกังวลต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่สถานที่อันหนาวเหน็บและดูจะห่างไกลกับการใช้เป็นอยู่อาศัยแห่งนี้ กลับเป็นทวีปที่ยังคงสร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้พบเห็นได้จนถึงปัจจุบัน


ดินแดนที่มนุษย์ไม่อาจเอื้อม

ในปี ค.ศ. 2018 ผมเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ โดยคณะสำรวจของผมได้เดินทางโดยเรืออาร์กติก ซันไรส์ (The Arctic Sunrise) เพื่อสำรวจคาบสมุทรแอนตาร์กติก จนเราสามารถเดินทางถึงทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกา

ตามบันทึกของ Nick Clark บรรยายไว้ว่า “มันยากมากที่จะจินตนาการถึงความกดดันของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่แห่งนี้ ขณะที่เรืออาร์กติก ซันไรส์กำลังแล่นผ่านทะเลน้ำแข็งอย่างช้า ๆ”

“มีเพียงเรือหนึ่งลำลอยอยู่อย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางทะเลที่ยังไม่มีใครเข้ามาสำรวจ มันทั้งน่าทึ่งและรู้สึกอ้างว้างไปพร้อมกัน ความรู้สึกของผมขณะอยู่ในเรือลำนี้มันผสมปนเปกันไปหมด”

“ตลอดการเดินทาง เรามักได้ชมการแสดงอันงดงามของเหล่าวาฬสีน้ำเงินและวาฬเพชฌฆาต เห็นสิ่งมีชีวิตที่ยังคงดำรงอยู่ตามวิถีทางของมัน ตั้งแต่แมวน้ำ เสือดาว นกเพนกวิน ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกหลายชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบ ซึ่งดินแดนอันน่าทึ่งแห่งนี้ ยังมีอะไรให้เราประหลาดใจอีกมาก และยังมีความลับอีกมากมายที่ยังไม่เปิดเผย ซึ่งหลายคนอยากจะให้มันเป็นความลับต่อไป”


โดยจุดประสงค์ของการสำรวจทวีปแอนตาร์กติกในปี ค.ศ. 2018 มีไว้เพื่อเสนอเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area – MPA) ในทะเลเวดเดลล์ในที่ประชุม แต่เราก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อการยื่นข้อตกลงล้มเหลวไปอย่างน่าเสียดาย หลังได้รับเสียงคัดค้านจากรัสเซีย จีน และนอร์เวย์ ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในทะเลแอนตาร์กติก (CCAMLR) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ดูแลการอนุรักษ์ทางทะเลในแอนตาร์กติกา


แต่ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 เราได้รับข่าวดีว่า จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเลขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานี้นับเป็นการเริ่มต้นอันดีที่จะนำข้อเสนอในปี ค.ศ. 2018 มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

แอนเดรีย คาวานักห์ ผู้อำนวยการโครงการกองทุนเพื่อการกุศลพิว (Pew Charitable trusts) ในการปกป้องมหาสมุทรทางใต้ของแอนตาร์กติกา โดยเธอเข้ามาดูแลในส่วนของการจับสัตว์น้ำเกินขนาด “เราไม่สามารถชะลอการจับปลาเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ กำลังสร้างความเสียหายต่อภูมิภาคนี้อย่างหนัก” เธอกล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีรา

ขณะเดียวกันได้มีความพยายามผลักดันให้ชาวประมง หันมาตระหนักถึงวิกฤตครั้งนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการจับ “คริลล์” (Krill) สัตว์ทะเลตัวเล็ก ๆ ในกลุ่มกุ้งและปู ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสายใยอาหารในคาบสมุทรแอนตาร์กติกา คริลล์เหล่านี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำอีกหลายชนิด เช่น วาฬสีน้ำเงิน แมวน้ำขนหนานิ่ม และเพนกวิน แต่ขณะนี้เรือโรงงานกำลังทำลายความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลอย่างช้า ๆ

จากการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการทำประมงเกินขนาดชี้ให้เห็นว่า หากมีการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล สามารถช่วยปกป้องระบบนิเวศทางทะเลอันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคนี้ได้ นอกจากช่วยปกป้องคาบสมุทรแห่งนี้แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ความงดงามของธรรมชาติ เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต

อุทยานอนุรักษ์ทางทะเล

การประชุมครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2020 ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอก่อตั้งอุทยานอนุรักษ์ทางทะเล โดยใน 3 พื้นที่สำคัญของแอนตาร์กติกา คือ แอนตาร์กติกาตะวันออก ทะเลเวดเดลล์ และคาบสมุทรแอนตาร์กติกาตะวันตก โดยมีพื้นที่รวมกันประมาณ 4.6 ล้านตารางกิโลเมตรโดยการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เมอร์เซเดส ซานโตสจาก

สถาบันแอนตาร์กติกอาร์เจนตินากล่าวว่า พวกเขาใช้เพนกวินเป็นเกณฑ์ในการบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ “เราพบว่าในอาณาจักรของเพนกวินที่เราทำการเก็บข้อมูลอยู่ มีจำนวนเพนกวินลดลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์” พร้อมเสริมว่า “นั่นเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง หากตัวเลขนี้ยิ่งลดจำนวนลงไปมากเท่าไหร่ ความสูญเสียที่ตามมาจะมากขึ้นเท่านั้น มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะเรารู้ดีว่าคาบสมุทรแอนตาร์กติกากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”


“เรามีข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947” ซานโตสกล่าว “ในอดีตเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว มหาสมุทรมีชั้นน้ำแข็งหนาเกือบสองกิโลเมตร และแข็งตัวนานถึงสี่ถึงหกเดือน ตอนนี้เหลืออยู่เพียงเดือนเดียวหรือเดือนครึ่งเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ล้วนเกิดจากสภาพอากาศในแอนตาร์กติกากำลังเปลี่ยนไป”

การประชุมเสมือนจริง

เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทาง CCAMLR จัดการประชุมแบบเสมือนจริงขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความท้าทายในการบรรลุข้อตกลงในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2020 ยังเป็นปีที่ครบรอบ 200 ปี นับตั้งแต่มีการค้นพบแอนตาร์ติกา และครบรอบ 61 ปีของสนธิสัญญาแอนตาร์กติก ที่หลายประเทศร่วมลงนามความร่วมมือในปี ค.ศ. 1959 เพื่อกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นสมบัติของมนุษยชาติ และต้องไม่ถูกแทรกแซงจากกิจการทางการเมือง ทหาร และการพาณิชย์ รวมถึงการอ้างสิทธิเหนือดินแดนแห่งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งมอบเสรีภาพในการทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์


ที่มา


เรื่องโดย