Kind Words

A Lesson Before Dying บทเรียน (ไม่) สุดท้ายของคุณค่าความเป็นมนุษย์


“Twelve white men say a black man must die, and another white man sets the date and time without consulting one black person. Justice?”

หนึ่งประโยคจาก A Lesson Before Dying ที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนนิยามของความยุติธรรมอีกครั้ง แม้ว่านวนิยายรางวัล National Book Critics Circle Award ปี ค.ศ. 1993 จากปลายปากกาของ เออร์เนสต์ เจ. ไกเนส (Ernest J. Gaines) จะล่วงเลยผ่านการตีพิมพ์ครั้งแรกมาร่วมทศวรรษ แต่ประเด็นปัญหาในเรื่องก็ยังปรากฏในสังคมปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง


A Lesson Before Dying เล่าถึงเรื่องราวของ แกรนท์ วิกกินส์ ชายผิวดำผู้จบมหาวิทยาลัยและกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด นอกเหนือจากการสอนในโรงเรียน ด้วยคำขอร้องจากป้าของเขา แกรนท์ต้องสอน เจฟเฟอร์สัน วัยรุ่นผิวดำผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมและถูกตัดสินประหารชีวิต ให้กลับมาเห็นคุณค่าและความเป็นมนุษย์ในตัวเองอีกครั้ง

“เด็กคนนี้เป็นแค่พวกยากจนไร้การศึกษาที่น่าสงสาร” คำพูดของทนายความที่ว่าคดีให้กับเจฟเฟอร์สันแสดงถึงภาพลักษณ์คนดำในสายตาคนขาว แน่นอนว่า A Lesson Before Dying สะท้อนปัญหาการเหยียดผิว ความอยุติธรรม และการถูกผลักให้เป็นคนชายขอบได้อย่างดี ทำให้ผู้อ่านรับรู้ถึงประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้ไม่ยาก


รับรู้ ≠ เข้าใจ

จุดเด่นของ A Lesson Before Dying ที่มองข้ามไม่ได้ คือการใช้มุมมองของตัวละครเอกในการดำเนินเรื่อง แกรนท์ ชายผิวดำผู้ก้าวข้าม “ความเป็นคนดำ” ตามภาพจำและอคติของสังคม ด้วยการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาและกลับมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียน ความอยุติธรรมนอกศาลและการเลือกปฏิบัติที่เขายังมองไม่เห็นซุกซ่อนอยู่ในทุกมิติของสังคม ประเด็นนี้นับเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างแกรนท์กับผู้อ่านได้อย่างดี


บทเรียนก่อนตายเล่มนี้ได้สะท้อนความไม่เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างในความไม่เท่าเทียมไว้ทุกหน้ากระดาษ ค่อย ๆ เปิดมุมมองให้ผู้อ่านผ่านตัวละครเอก มากกว่าการรับรู้ปัญหาคือการทำความเข้าใจมันไปพร้อมกัน ทุกคนรับรู้ว่าปัญหาการเหยียดผิวมีอยู่จริง แต่มีสักกี่คนที่เข้าใจว่ามันส่งผลกระทบมากแค่ไหน? ทุกคนรู้ว่าชีวิตมีอุปสรรค แต่มีสักกี่คนที่เอาชนะมันได้? และคงมีผู้คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่ตระหนักว่าขวากหนามพวกนี้มีแค่คนชายขอบเช่นพวกเขาเท่านั้นที่ต้องเผชิญ

ทบทวนบทเรียนก่อนจะสาย

ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นคุณค่าและความเป็นมนุษย์ในตนเอง เรื่องน่าเศร้าคือสิ่งเหล่านี้ถูกพรากไปเพียงเพราะการเป็นตัวเองไม่ตรงกับบรรทัดฐานที่สังคมจะยอมรับ


สิ่งที่พึงมีกลับถูกลิดรอนไปตั้งแต่เกิด บางคนใช้สมองและความสามารถในการแลกสิ่งเหล่านี้กลับคืนมา บางคนใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิ่งที่เป็นของตนตั้งแต่แรก และสำหรับบางคน อาจเป็นบทเรียนนาทีสุดท้ายก่อนตาย กว่าจะเรียนรู้ได้ว่ามันถูกขโมยไปต่างหาก 


A Lesson Before Dying ไม่ได้พูดถึงเพียงปัญหาของคนดำในอเมริกา แต่สื่อถึงคนชายขอบและความอยุติธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม บทเรียนนี้ได้ให้การบ้านสำหรับทุกคนคือการกลับมาถามตนเองว่า บรรทัดฐานของสังคมกำลังลิดรอนหรือฉกฉวยคุณค่าและความเป็นคนของเราอยู่หรือเปล่า? เพราะคุณค่าของการเป็นมนุษย์นั้นเป็นของเราทุกคนตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก และไม่มีใครมีสิทธิ์พรากสิ่งนี้ไปจากใครได้


ที่มา


เรื่องโดย