ภูฏาน ประเทศเล็ก ๆ แทบเทือกเขาหิมาลัยที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันงดงาม ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า “ประชาชนมีความสุขมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” โดยกษัตริย์จิกมี นัมเกล วังชุก ได้ยึดหลักปรัชญา “ความสุขมวลรวมของประเทศ” (Gross National Happiness – GNH) มาใช้เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 โดยไม่ได้วัดผลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจากความร่ำรวย หรือสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ฟุ่มเฟือย
แต่ยึด “ความสุข” ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งดูเหมือนว่าความสุขที่ผู้ปกครองประเทศอ้างถึง จะส่งไม่ถึงกลุ่มคนชายขอบของสังคมอย่างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ ชาว LGBT ทำให้นักเคลื่อนไหวผู้สนับสนุนสิทธิของชาวสีรุ้ง จึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิอันพึงมีของประชาชนในประเทศ
ราชอาณาจักรภูฏาน ประเทศเล็ก ๆ ในแถบเทือกเขาหิมาลัยได้นำนิยามเรื่อง “ความสุขมวลรวมของประเทศ” (Gross National Happiness – GNH) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวริเริ่มโดย สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ประมุขของภูฏาน ตั้งแต่วันที่ทรงขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1972 ซึ่งเป็นพระราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ กษัตริย์จิกมี นัมเกล วังชุก นับแต่นั้นประเทศแห่งนี้ก็กลายเป็นจุดสนใจของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกโดยทันที
เพราะการนำปรัชญาความสุขมาเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย ในทางกลับกัน “นิยามแห่งความสุข” ดังกล่าว กลับไม่กระจายถึงกลุ่มบุคคลความหลากหลายทางเพศ หรือชาว LGBT แต่อย่างใด
นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า การตราหน้าและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเกย์นั้น เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน และเป็นเรื่องปกติที่มักเห็น เกย์ ถูกกลั่นแกล้งและทำให้อับอาย “สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมายาวนาน แต่กลับไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ซึ่งการถูกเลือกปฏิบัติและการตราหน้าพวกเขา ‘มันเกิดขึ้นจริง’ มันคือความจริงที่ต้องยอมรับ” Tashi Tsheten สมาชิกผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Rainbow Bhutan กล่าว
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 ฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยได้ลงมติแก้ไขกฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมลักเพศ และการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งเนื้อความในกฎหมายอาญาอื่น ๆ ในเอเชียใต้ ล้วนคัดลอกมาจากประมวลกฎหมายอาญาของอินเดียในช่วงทศวรรษที่ 1860 ทำให้ผู้มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดธรรมชาติในภูฏานจะต้องรับโทษตามความผิดลหุโทษ
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายมาตรานี้จะต้องนำไปทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อออกเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ และประกาศใช้ต่อไปในอนาคต ทำให้ภูฏานกลายเป็นประเทศล่าสุดในเอเชีย ที่มีการคลายความเข้มงวดของกฎหมายว่าด้วยสิทธิของชาว LGBT เพื่อให้พวกเขาได้มีความสุข ท่ามกลางประเทศที่เป็นผู้ริเริ่มในการนำ “ความสุข” มาบริหารประเทศ
ขณะที่ในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง อินเดีย ก็ได้มีความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน โดยในปี ค.ศ. 2018 ศาลฎีกาอินเดียได้มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งกฎหมายอาญาที่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ของเกย์ให้เป็นโมฆะ และชาวอินเดียที่เป็นเกย์ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ
Photo Credit: Merlin/unsplash
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มหันมาพิจารณาสิทธิของชาว LGBT กันมากขึ้น เพราะเมื่อพี่ใหญ่อย่างอินเดียเริ่มขยับ ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ก็ถึงคราวที่ต้องขยับตาม
ในปี ค.ศ. 2019 ฝ่ายนิติบัญญัติของไต้หวัน ลงมติให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย นับเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศในทวีปเอเชีย และไต้หวันก็ทำให้เห็นแล้วว่า ชาว LGBT ก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ โดยไม่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอีกต่อไป ส่งผลให้นักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นที่รณรงค์เรื่องการแต่งงานในเพศเดียวกันเริ่มออกมาผลักดันกฎหมายกันมากขึ้น รวมถึงที่ประเทศไทยเอง ก็ได้มีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้เช่นกัน
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติที่จะให้สิทธิประโยชน์หลายอย่างแก่ชาว LGBT รวมถึงการแต่งงาน ซึ่งไม่สามารถใช้คำว่า “แต่งงาน” ได้จริง ๆ แต่ต้องจดทะเบียนเป็นหุ้นส่วนชีวิตของเพศเดียวกันตามกฎหมาย แม้จะไม่ใช่การแต่งงานอย่างที่คู่รักชาย-หญิงปฏิบัติกัน แต่ในอนาคตกฎหมายดังกล่าว อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไปทุกวันก็ได้
Photo Credit: Rainbow Bhutan Team For IDAHOT/unsplash
กฎหมายฉบับใหม่ของภูฏานได้ผ่านสภาทั้งสองแห่งในวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2020 “ทำให้ภูฏานกลายเป็นแรงผลักดันระดับโลก ในการตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับเลสเบี้ยน เกย์ และกะเทย” Kyle Knight นักวิจัยอาวุโส ในโครงการสิทธิของชาว LGBT ของ Human Rights Watch กล่าว
Kyle Knight กล่าวเสริมว่า “ภูฏานยังคงมีงานสำคัญที่ต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิของผู้คนที่ตกเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา จะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่”
ประมวลกฎหมายอาญาของภูฏานเริ่มใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 เป็นเวลาสี่ปีก่อนที่ประชากรประมาณ 800,000 คน จะได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านกฎหมาย Dema Lham และ Stanley Yeo กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญาของภูฏานส่วนใหญ่ ล้วนได้รับอิทธิพลจากกฎหมายอาญาของสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น
“การรณรงค์เพื่อแก้ไขกฎหมายต่อต้านเกย์ ในประมวลกฎหมายอาญาของภูฏาน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถูกล็อบบี้จากนักเคลื่อนไหวผู้ออกมาสนับสนุนสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” Tashi Tsheten กล่าว “ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า หากคุณลงชื่อสนับสนุนสิทธิเกย์ในประเทศนี้อย่างเป็นทางการ สามารถตีความได้ว่า ‘คุณกำลังยืนหยัดต่อสู้เพื่ออาชญากรในประเทศนี้อยู่’”
จุดเริ่มต้นในการหันมารณรงค์สิทธิของเกย์ในประเทศ เกิดขึ้นจากความพยายามในการช่วยกระทรวงสาธารณสุขป้องกันเอชไอวี รวมถึงดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีในชุมชนเกย์ของประเทศ “สิ่งที่เราทำทั้งหมดนั้น เพื่อแสดงให้ผู้คนในภูฏานเห็นว่า ‘เรามีตัวตนอยู่จริง’” Tashi Tsheten กล่าว
นับแต่นั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กลายเป็นพันธมิตรของกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิเกย์ของภูฏานโดยทันที พวกเขาตระหนักว่า การนำประมวลกฎหมายอาญาเรื่อง “การประพฤติทางเพศที่ขัดต่อธรรมชาติ” อาจกลายเป็นการขัดขวางผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีไม่ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้
Photo Credit: Sara-rampazzo/unsplash
ในปี ค.ศ. 2019 มีการนำประมวลกฎหมายอาญาขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดย Namgay Tshering รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเคยทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขและธนาคารโลก ได้ยืนกรานหนักแน่นต่อหน้ารัฐสภาว่า รัฐบาลชุดนี้จะต้องยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยนี้เสียที
“เหตุผลหลักที่ผมลุกขึ้นมายืนยันอย่างหนักแน่นต่อหน้ารัฐสภา ก็เพราะว่ากฎหมายนี้ไม่ได้รับการแก้ไขเลยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ซึ่งมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อน และไม่เคยมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง” Namgay Tshering กล่าว “นอกจากนี้ยังทำให้เรากลายเป็นที่จับตามองขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีกด้วย”
เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติของภูฏานลงมติแก้ไขการอ้างอิงประมวลกฎหมายอาญาเรื่อง “พฤติกรรมลักเพศหรือการประพฤติทางเพศที่ขัดต่อธรรมชาติ” ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2020 บรรยากาศของที่ประชุมในอาคารรัฐสภาก็อัดแน่นไปด้วยความกดดัน โดยเฉพาะ Pema Dorji นักเคลื่อนไหวผู้ออกมาสนับสนุนสิทธิของชาว LGBT ที่เขารู้สึกประหม่า และหายใจไม่ทั่วท้อง ขณะกำลังรอผลการลงมติ เขาได้แต่นั่งปิดตานิ่ง ๆ ราวกับไม่อยากรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกอีกต่อไป
“ผมทำได้แค่นั่งหลับตาอยู่เฉย ๆ” Pema Dorji สมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้สนับสนุน Queer Voices of Bhutan กล่าว “ผมมองเห็นแต่ปลายเท้าตัวเอง ผมได้แต่มองมันอยู่อย่างนั้น ขณะที่พวกเขากำลังยกมือโหวตรับรองกฎหมายฉบับใหม่”
Photo Credit: Teddy-osterblom /unsplash
Ugyen Wangdi ผู้ร่างกฎหมายของคณะพิจารณาการเปลี่ยนแปลง กล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีผู้โหวตเห็นชอบอย่างท่วมท้น 63 เสียง จาก 69 เสียง ส่วนอีก 6 เสียงขาดการประชุม โดย Tashi Tsheten กล่าวว่า “การหยิบยกคำว่า “พฤติกรรมลักเพศ” ขึ้นมาใช้นั้น ในอนาคตจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมต่อท้ายข้อความดังกล่าวว่า ‘คนรักเพศเดียวกันในวัยผู้ใหญ่’ ซึ่งจะไม่ตรงกับคำนิยามในอดีตที่เคยวางไว้”
เขาได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการแก้ไขคำจำกัดความดังกล่าวว่า “การแก้ไขกฎหมาย และคำจำกัดความได้ทำลายกรอบเดิม ๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยได้ ‘เปิดประตูบานใหม่’ มากมายนับไม่ถ้วนให้พวกเขาเป็นที่ยอมรับแก่ชาวภูฏานด้วยกันเอง และนี่จะทำให้ผู้คนในประเทศลดอคติต่อชาว LGBT ได้อีกทางหนึ่ง”
พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างว่า เขาเองก็มีเพื่อนเกย์ที่ถูกแบล็คเมล ถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนโรงเรียน หรือสร้างโปรไฟล์โซเชียลมีเดียใหม่เพื่อหลบเลี่ยงการถูกคุกคาม “คุณรู้สึกเหมือนเป็นปรปักษ์ต่อสังคม และกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า เพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานของคุณอาจไม่สนับสนุน หรือเป็นเพื่อนของคุณอีกต่อไป หากคุณเปิดเผยตัวตนออกมา” เขากล่าวปิดท้าย
ที่มา
- Bhutan Becomes Latest Asian Nation to Dial Back Anti-Gay Laws. www.nytimes.com/bhutan-decriminalizes-gay
- ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศภูฏาน. www.oceansmile.com/Bhutan/Happiness
- ภูฏาน ดินแดนแห่งความสุข จริงหรือ?. https://voicetv.co.th/read/83136