Kind Creations

ชาวประมงผู้เปลี่ยนปลาตาย… ให้กลายเป็นผลงานศิลปะ


Adam Ashdown เป็นช่างไม้ในตอนกลางวัน ส่วนยามค่ำคืนนั้นเขาคือ ศิลปินที่ฝึกฝนการสร้างผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เกี่ยวกับ “ปลาตาย” และ “หมึกสีดำ” 

Adam Ashdown เป็นศิลปินนักวาดในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (WA) ที่กำลังฝึกฝนศิลปะที่เรียกว่า “เกียวทาคุ” (Gyotaku)* ซึ่งคือ การทำภาพพิมพ์หมึกแบบธรรมชาติโดยใช้ปลาที่เพิ่งตายใหม่ ๆ มาทาหมึกดำและพิมพ์ตัวปลาลงบนกระดาษ ศิลปะลักษณะนี้เป็นวิธีการพิมพ์แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นซึ่งมีมาตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 1800 เพื่อเก็บภาพปลาที่จับได้ในแต่ละวัน ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดีย ชาวประมงเก็บภาพพิมพ์เหล่านี้ไว้เป็นบันทึกประจำวัน และกิจวัตรนี้ก็ยังคงดำเนินอยู่ในเมือง Dunsborough บริเวณชายฝั่งของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

“เมื่อเกือบห้าปีที่แล้ว ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งในนิวเซาท์เวลส์กำลังโฆษณาวิธีที่จะทำให้ปลาที่คุณจับได้เป็นอมตะ” Mr. Ashdown กล่าว “ผมคิดว่ามันเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ตอนนั้นผมเดินทางไปทั่วออสเตรเลียและกลับมา และด้วยความเป็นชาวประมงที่ต้องหาปลาอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่าผมจะลองทำดู”

“ผมเพียงแค่สนุกกับการทำมัน ทว่ากลับเปลี่ยนจากงานอดิเรกกลายเป็นสิ่งที่จริงจัง เพราะมีแต่คนเอาปลามาให้ผม จนตอนนี้ผมได้ปลาที่มีคนส่งมาให้จากทั่วทั้งรัฐ” Mr. Ashdown กล่าว

เพราะความสดใหม่คือสิ่งที่ดีที่สุด

Adam Ashdown ทำงานกับปลาที่มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน อย่างดูฟิช (Dhufish) และปลากะพง (Snapper) ที่จับได้ในทางตอนใต้ รวมถึงปลากะรังจุดฟ้าจุดเล็ก (Coral Trout) และปลากะพงแดงหน้าตั้ง (Red Emperor) ที่จับได้จากทางตอนเหนือ และเขายินดีที่จะสร้างความทรงจำแม้จะมีปลาเฮอริ่ง (Herring) เพียงเล็กน้อยก็ตาม เขาบอกว่า ปลาสดดีกว่าและการเตรียมการให้พร้อมก็เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การพิมพ์ภาพดูเป็นธรรมชาติ

“ผมทำให้มันแห้งก่อนแล้วจึงกางครีบออกเพื่อให้มันดูดี”
“จากขั้นตอนนี้ โดยพื้นฐานจะเป็นการใส่หมึกลงไป จากนั้นก็ใช้มือเอากระดาษทาบด้านบน”
“หากใส่หมึกมากเกินไปก็จะไหลทะลุกระดาษ ดังนั้นอัตราส่วนจึงสำคัญมาก” เขากล่าว

ปลาจะถูกนำไปบริโภคเสมอหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการพิมพ์  

“ผมให้เวลาตัวเองสองสามชั่วโมงจากนั้นผมก็ล้างออก เพราะวัตถุดิบทั้งหมดสามารถใช้น้ำล้างออกได้ จากนั้นผู้คนก็มารับปลาของตนไปบริโภคในภายหลัง” 

“ผมไม่ชอบการสิ้นเปลืองปลาหรือแค่มีปลาเพียงเพื่อจุดประสงค์ทางศิลปะ หากแต่กระบวนการคือ การจับปลาได้ และมาทำให้เป็นอมตะ (มาทำงานศิลปะ) และจากนั้นก็นำไปกินได้ – นั่นก็คือความสมบูรณ์แบบ” เขากล่าว

ไม่ใช่แค่เก่งในการวาดภาพปลาเท่านั้น

Mr. Ashdown เป็นหนึ่งในศิลปินท้องถิ่นจากจำนวนทั้งหมด 103 คนที่เข้าร่วมโครงการ Margaret River Region’s Open Studios โดยตั้งแต่วันพรุ่งนี้จะเปิดประตูสตูดิโอให้กับผู้เยี่ยมชม เพื่อให้พวกเขาได้เห็นกระบวนการเบื้องหลังงานศิลปะของเขา งานนี้กำหนดจัดงานไว้ตอนแรกคือในเดือนเมษายน แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากข้อจำกัดของ COVID-19

“ผมดีใจมาก ๆ ที่จะได้มีส่วนร่วมในครั้งนี้ และตื่นเต้นที่จะได้แบ่งปันผลงานของผมกับคนอื่น ๆ” เขากล่าว

“ในอดีตตอนที่ผมแสดงงานศิลปะที่ตลาด ผู้คนคิดว่าผมเก่งแค่การวาดภาพปลา แต่การได้เห็นกระบวนการ – ซึ่งเป็นรูปแบบของการพิมพ์ที่เป็นธรรมชาติ และมันก็น่าประทับใจเมื่อได้เห็น”

“ผมอยากจะเฉลิมฉลอง Gyotaku ผมรักการตกปลา และผมชอบที่จะสร้างสรรค์ มันเป็นความรักสองอย่างที่ผมรวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสิ่งที่จะทำให้ผู้คนสนุก และเพลิดเพลิน”

“เกียวทาคุ” ในอีกด้านของซีกโลกตะวันตก

“Naoki Hayashi” อีกหนึ่งศิลปินเกียวทาคุเชื้อชาติญี่ปุ่นที่ผันตัวมาใช้ชีวิตอยู่ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งยังคงสืบทอดรูปแบบศิลปะโบราณนี้ไว้ ด้วยการทำเกียวทาคุในสไตล์ของชาวฮาวาย 

“ที่นี่เราถูกห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติและทะเลที่สวยงาม ผมเติบโตมากับการดำน้ำและการตกปลา โดยเพื่อนของปู่ผมคนหนึ่งเขารู้จักวิธีการทำ ‘เกียวทาคุ’ และเขาก็แบ่งปันการทำศิลปะนั้นกับผม ทุก ๆ ครั้งที่จับปลาได้ ผมก็สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้” 

กระบวนการทำเกียวทาคุนั้นมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับแนวทางของ Hayashi นั้น เน้นความเรียบง่ายอย่างแท้จริง เขาออกไปจับปลา และนำกลับมา จากนั้นใช้สีที่มีสวนผสมของน้ำซึ่งไม่มีอันตรายระบายลงไปที่ตัวปลา และกดกระดาษลงที่ตัวปลา หลังจากนั้นก็นำไปลงสี เขาบอกว่า “เมื่อผมเพิ่มสีลงไป พื้นผิวและการเคลื่อนไหวทั้งหมด จะแสดงออกมาถึงความมีชีวิตชีวา พอคุณมองพวกมันในกรอบรูป ทำให้เห็นเหมือนปลาว่ายน้ำได้มากกว่าแค่หยุดนิ่ง” 

แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอสำหรับเขา Hayashi เล่าว่า เขาอาจจะพิมพ์ภาพปลาออกมาได้ประมาณพันตัวต่อปี สำหรับการทำเกียวทาคุของเขา เมื่อนำไปจัดแสดงในแกลลอรี่ราคาก็จะอยู่ที่ระหว่าง 100 ถึง 20,000 ดอลล่าสหรัฐฯ แต่อีกส่วนที่มีความสำคัญเลยสำหรับการทำเกียวทาคุก็คือ การที่เขาสามารถเพลิดเพลินกับเรื่องที่กำลังพิมพ์ภาพได้ พร้อมกับการได้กินปลาและสนุกไปกับมันอย่างเต็มที่


“ผมมีความคลั่งไคล้ในการตกปลา และมีความหลงใหลในธรรมชาติ ผมเรียนรู้ตั้งแต่เด็กว่าสิ่งรอบ ๆ ตัว มันสวยงามแค่ไหน ผมได้รับพลังจากธรรมชาติ และผมบันทึกมันลงไปในกระดาษพร้อมกับแบ่งปันไปยังผู้คนบนโลก นั่นคือสิ่งที่ผมรักที่จะทำ” เขากล่าวทิ้งท้าย


*“เกียวทาคุ” (Gyotaku) แปลเป็นไทยว่า “ภาพพิมพ์ปลา” ตามตำนานเล่าว่า เกิดขึ้นครั้งแรกโดยซามูไรที่ชอบตกปลาท่านหนึ่ง แต่จากหลักฐานที่พบ เกียวทาคุเกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 (สมัยเอโดะ) ซึ่งชาวประมงญี่ปุ่นจะนำปลาที่ตกได้ มาพิมพ์ด้วยหมึกดำลงบนกระดาษ เพื่อบันทึกลักษณะและขนาดของปลา โดยเป็นทั้งการเก็บข้อมูลและความประทับใจในผลงานส่วนตัว


ที่มา


เรื่องโดย