Kind Words

อยากส่งยิ้มคูล ๆ แบบคนรัสเซียไหม? แค่ใส่วงเล็บปิด ปิดท้ายประโยคก็เท่ที่สุดในโลกแล้ว ))


หลายครั้งบทสนทนาบนโลกออนไลน์อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างกันได้ เพราะข้อความที่ไม่มีเสียงเหล่านี้อาจทำให้คู่สนทนาตีความกันไปต่าง ๆ นานา แต่สำหรับกรณีของชาวรัสเซีย ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเย็นชาที่มักมาพร้อมใบหน้าบึ้งตึงอันเป็นเอกลักษณ์ กลับมีมุมอ่อนโยนเล็ก ๆ สอดแทรกเข้าไปในบทสนทนาอยู่เหมือนกัน 

หากคุณกำลังอ่านแชทเพลิน ๆ แล้วมาสะดุดที่วงเล็บปิด “)” อยู่ที่ท้ายประโยคเพียงตัวเดียวโดยไม่มีวงเล็บเปิด อย่าเพิ่งสงสัยไป ชาวรัสเซียไม่ได้ลืมใส่วงเล็บเปิดหรอกนะ แต่นี่คือสัญลักษณ์หน้ายิ้ม เพื่อปิดท้ายประโยคให้ดูซอฟต์ลงต่างหาก

ดูเหมือนว่าอะไรที่มัน “แปลก ๆ” จะสามารถพบได้ในรัสเซีย แม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็ยังสามารถกลายเป็นคำถามให้สงสัยอยู่เรื่อย ซึ่งประเด็นนี้เกิดขึ้นหลังจากผู้ใช้ทวิตเตอร์แอคเคาท์ Denis ได้ทวิตข้อความถามว่า “ทำไมคนรัสเซียต้องใส่เครื่องหมายวงเล็บปิดหลังจากพิมพ์จบประโยคทุกครั้งเลย แบบนี้อ่ะ ) ?”

จากคำถามสุดเรียบง่ายกับสัญลักษณ์ที่หลายคนอาจจะไม่ทันสังเกตเห็นด้วยซ้ำ ได้กลายเป็นประเด็นที่ชาวรัสเซียหลายคนได้เข้ามาช่วยไขข้อสงสัย “จะว่ายังไงดีล่ะ… เอาเป็นว่าเธอจะไม่เห็นเครื่องหมายวงเล็บปิดหลังประโยคเสมอไปหรอกนะ ยิ่งงานวิชาการหรืองานเขียนที่มันทางการ ๆ หน่อย เราพูดได้เต็มปากเลยว่าไม่เจอแน่ ๆ แต่เรา (ชาวรัสเซีย) ชอบใส่เครื่องหมายวงเล็บปิด หลังจากจบประโยคตอนที่คุยกับเพื่อนหรือคนรู้จัก ก็แค่นั้นแหละ”


วงเล็บปิด: หน้ายิ้มคูล ๆ สไตล์ชาวหมีขาว 
))

ต้นกำเนิดของ “สไมลี” เกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากนักประพันธ์ชื่อดังชาวรัสเซีย วลาดีมีร์ นาโบคอฟ (Владимир Набоков; Vladimir Nabokov) ผู้ประพันธ์วรรณกรรมสุดคลาสสิกเรื่อง โลลิต้า (Lolita) ผู้แหวกขนบประเพณีอันดีงาม หันมาประพันธ์วรรณกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราวชายมีอายุ ผู้ตกหลุมรักเด็กสาวรุ่นลูกตั้งแต่แรกพบสบตา โดยเขามองว่าชาวรัสเซียน่าจะมีเครื่องหมายอะไรบางอย่างเพื่อสื่อถึงใบหน้ายิ้มแย้ม

นาโบคอฟได้ให้การสัมภาษณ์ในปี ค.ศ. 1969 กับคำถามว่า “คุณคิดว่า คุณเป็นหนึ่งในนักเขียนที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์หรือไม่?” เขาได้ตอบกลับด้วยความถ่อมตนแต่เปี่ยมล้นไปด้วยไหวพริบว่า “ผมมักคิดอยู่เสมอ ว่าเราควรมีตัวอักษรหรือเครื่องหมายอะไรสักอย่างที่สื่อถึงรอยยิ้ม อาจจะเป็นเครื่องหมายเว้า ไม่ก็วงเล็บปิดที่มีลักษณะโค้งเหมือนรอยเล็บ”

แม้ว่าจะมีความคิดริเริ่มในการสร้างเครื่องหมายแทนรอยยิ้มลงในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ แต่มันก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1970 เครื่องหมายรอยยิ้มก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1982 หลังจาก สก็อตต์ ฟาห์ลแมน (Scott Fahlman) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้เสนอให้ใช้เครื่องหมาย 🙂 ในงานเขียน

ในเวลาต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเครื่องหมาย 🙂 แทน แต่ชาวรัสเซียได้ยกระดับเครื่องหมายรอยยิ้มขึ้นไปอีกขั้นด้วยการตัดเครื่องหมายโคลอน ( : ) ที่อยู่ด้านหน้าเครื่องหมายวงเล็บปิดออก กลายเป็นเครื่องหมายวงเล็บปิดเดี่ยว ๆ เพียงอย่างเดียว และใช้งานมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ปิดท้ายอีกนิดเพื่อความสุภาพ
))

ชาวรัสเซียแทบทุกคนต่างมีวิธีอธิบายการใช้เครื่องหมายวงเล็บปิดที่แตกต่างกันไป บ้างก็บอกว่า “การใช้แบบนี้มันสั้นกว่า” แต่ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า การเขียนแบบนี้ไม่ได้แสดงถึงความเกียจคร้านแต่อย่างใด เพราะนี่คือเครื่องหมายที่สื่อถึงความเป็นมิตรและสุภาพของพวกเขา เพื่อให้คู่สนทนารู้สึกดี และไม่จำเป็นต้องสื่อถึงความหมายในเชิงตลกเสมอไป

ขณะที่อนาสตาเซีย วาชาโควา (Анастасия Вожакова; Anastasia Vozhakova) หนึ่งในผู้ใช้งานเว็บไซต์ TheQuestion.com (Quora เวอร์ชันรัสเซีย) ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับเครื่องหมายนี้เอาไว้ว่า “มันก็เกือบจะเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความสุภาพของเราอยู่เหมือนกัน” โดยเธอมองว่า หากไม่ใส่วงเล็บปิดที่ท้ายประโยคระหว่างการสนทนาจะทำให้ดูเหมือนว่าเรากำลังโกรธหรือกำลังทำตัวไม่สุภาพต่อคู่สนทนาอยู่ ขณะที่การใช้อิโมจิก็ค่อนข้างจะแสดงออกถึงความรู้สึกมากจนเกินไป


อย่าเพิ่งเข้าใจเราผิด
))

ดูเหมือนว่าการใช้เครื่องหมายหน้ายิ้มของชาวรัสเซียจะออกมาโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติของพวกเขาไปเสียแล้ว ซึ่งนี่ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนอดสงสัยในความหมายของมันไม่ได้ 

ตัวอย่างเช่น เอ็ดมุนด์ แฮร์ริสส์ (Edmund Harris) ได้ตั้งคำถามเอาไว้ในบอร์ด BBC เมื่อปี ค.ศ. 2010 เอาไว้ว่า “เพื่อนของผมเคยส่งข้อความมา ตอนที่ผมกำลังจะไปหาเขาที่บ้าน เช่น ซื้อมาร์ลโบโร่ (Marlboro) กับเบียร์ให้หน่อยดิ) ซึ่งหน้ายิ้มของเพื่อนผมมักจะไม่มีตาหรือจมูกตลอดเลย ผมควรจะตีความข้อความนี้ยังไงดี?” 

ในปี ค.ศ. 2017 เราก็ได้เข้าไปตอบคำถามข้อนี้ไว้แล้ว แม้ว่าอาจจะช้าไปหน่อยก็เถอะนะ ) เราอธิบายไว้ว่า คุณไม่ต้องตีความอะไรให้มากความเลยเอ็ด แค่ซื้อบุหรี่กับเบียร์ให้เขาก็เท่านั้น เครื่องหมายปิดท้ายประโยคมันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย แค่ใส่เข้ามาให้ดูซอฟต์ลงเฉย ๆ 


เครื่องหมายที่แสดงถึงมารยาท
))

ขณะที่จำนวนวงเล็บปิดท้ายก็มีความหมายต่างกัน ถ้าเป็น “)” เพียงอย่างเดียว เป็นการแสดงออกถึงความสุภาพของผู้เขียนเท่านั้น แต่ถ้าเป็น “))” จะใช้ก็ต่อเมื่อคู่สนทนาของคุณเจออะไรตลก ๆ เข้าให้แล้ว ขณะที่ “)))” หมายถึงการหัวเราะออกมาดัง ๆ เหมือนคุณกำลังขำกับอะไรบางอย่างจนไหล่สั่น แต่ถ้าพิมพ์แบบนี้มารัว ๆ “))))))))))))” เราขอให้คุณเดาไว้เลยว่าคีย์บอร์ดฝั่งตรงข้ามอาจจะค้าง เพราะปกติเขาไม่นิยมพิมพ์แบบนี้กัน 

ท้ายที่สุดแล้ว การใช้งานอะไรที่มันมากจนเกินไปไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายวงเล็บปิด สไมลี่ และอิโมจิ อาจทำให้บทสนทนานั้นกร่อยลงได้ ซึ่งวิคเตอร์ เปเลวิน (Виктор Пелевин; Viktor Pelevin) นักเขียนชาวรัสเซีย ได้ออกมาเขียนเชิงประชดประชันว่า การใช้เครื่องหมายสไมลี่ก็เหมือนกับการใช้ยาระงับกลิ่นกาย ผู้คนจะใช้ก็ต่อเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีกลิ่นเหม็น และต้องการการยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้เหม็นอีกต่อไป 

ก็ดูเหมือนจะเป็นการเปรียบเทียบที่ดีเหมือนกันนะ… คุณว่าไหม?


ที่มา


เรื่องโดย


ภาพโดย