วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 9 นอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 372 กิโลเมตร จากเหตุแผ่นดินไหวก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนและผู้คนอย่างไร้ปรานี
ขณะที่เหตุการณ์น่าหวาดหวั่นที่สุดคือ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ–ไดอิจิ ถูกคลื่นสึนามิขนาดมากกว่า 14 เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับพื้นที่ของโรงไฟฟ้าประมาณ 4 เมตร ซัดเข้าอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของรังสีและสารกัมมันตรังสีบางส่วนได้เล็ดลอดลงสู่สิ่งแวดล้อม
แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 9 ปีแล้ว หลายพื้นที่ได้รับการฟื้นฟู ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ที่ฟูกูชิมะ ยังคงมีความวิตกกังวลแทรกตัวอยู่ในทุกพื้นที่ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมิใช่เพียงภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น แต่นับเป็นพิบัติภัยนิวเคลียร์ครั้งสำคัญที่สร้างบาดแผลต่อจิตใจผู้คนและสิ่งแวดล้อมไปอีกยาวนาน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นเปิดให้เข้าชม “พิพิธภัณฑสถานรำลึกภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ” ณ เมืองฟูตาบะ จังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ของทางการแห่งแรกที่หวังถ่ายทอดเรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2011
Photo Credit: Kyodo News Photo Credit: Kyodo News
สำหรับเมืองฟูตาบะ เป็นหนึ่งในบรรดาเมืองที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้น ได้แก่ โรงไฟฟ้าโอนากาวะ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ–ไดอิจิ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ–ไดนิ และโรงไฟฟ้าโตไก ซึ่งโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ-ไดอิจิ เป็นสถานที่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
ภายในพื้นที่ 5,300 ตารางเมตรของพิพิธภัณฑสถานรำลึกภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ มีการติดตั้งจอภาพขนาดยักษ์ที่ฉายให้เห็นสภาพของชุมชนต่าง ๆ หลังเกิดอุบัติเหตุ และแสดงภาพว่าผู้คนอพยพหนีภัยกันอย่างไร
นอกจากนี้ มีการฉายวีดิทัศน์ราว 150 เรื่องราวที่บ่งชี้ให้เห็นภาวะความปั่นป่วนสับสนในช่วงแรก ๆ ของความพยายามในการกำจัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี และผลกระทบที่ดำเนินติดต่อกันมายาวนานของอุบัติเหตุครั้งนั้น
Photo Credit: Kyodo News Photo Credit: Kyodo News
หนึ่งในบรรดาข้าวของที่จัดแสดงคือ ไวท์บอร์ดที่ปรากฏให้เห็นคำและตัวเลขที่เขียนด้วยลายมือหวัด ๆ ของเจ้าหน้าที่ขณะที่ดำเนินงานกันอย่างรีบเร่งในการจัดการกับภัยพิบัติที่กำลังปรากฏออกมาให้เห็น ณ ฐานปฏิบัติงานของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีผู้คนในท้องถิ่นคอยประจำการอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้เพื่อคอยบอกเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ให้แก่ผู้มาเข้าชม
อย่างไรก็ตาม การเปิดพิพิธภัณฑสถานรำลึกภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เรื่องราวต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอที่จะเน้นย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาลและความล้มเหลวของบริษัท Tokyo Electric Power Company Holdings Inc. ในการป้องกันอุบัติเหตุในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่มุ่งนำเสนอไปที่ภัยพิบัติและผลพวงต่อผู้คนมากกว่า
ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นคาดว่าจะมีผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประมาณ 50,000 คนต่อปี เพื่อดึงดูดผู้เยี่ยมชมจากทั่วโลกทางพิพิธภัณฑ์ได้เตรียมอุปกรณ์แท็บเล็ต และมีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ จีน และเกาหลี ไว้บริการ สำหรับบัตรเข้าชม ผู้ใหญ่ราคา 600 เยน (ประมาณ 180 บาท) และ นักเรียนราคา 300 เยน (ประมาณ 90 บาท)
ที่มา
- Museum memorializing Fukushima nuclear disaster opens in Futaba. www.inform.kz/en
- สถานการณ์ฉุกเฉิน ณ. โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ. www.ned.egat.co.th