เมื่อเอ่ยถึง “เบอร์มิวด้า” หลายคนคงนึกถึงเรื่องลึกลับที่มักจะมีเครื่องบิน หรือเรือเดินสมุทรหายไปอย่างลึกลับระหว่างเดินทางผ่านบริเวณนี้ ส่วนสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ พื้นที่สมมติระหว่างจุด 3 จุด คือ ชายฝั่งแอตแลนติกของไมอามี, ซานฮวน เปอร์โตริโก และเกาะเบอร์มิวด้า ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของรัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ห่างออกไปราว 1,770 กิโลเมตร
แม้จะมีข่าวลือถึงความน่ากลัวออกมาอย่างหนาหู แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ไขปริศนาความลึกลับของบริเวณนี้ได้แล้ว สาเหตุที่มักจะมีเครื่องบินและเรือเดินสมุทรหายไปอย่างไร้ร่องรอย มาจากการก่อตัวของก๊าซมีเทนจำนวนมากปะทุเป็นฟองก๊าซขนาดยักษ์ แล้วแตกตัวเหนือผิวน้ำ เรือและเครื่องบินจึงเสียการควบคุมและจมดิ่งหายลงสู่ก้นมหาสมุทรในที่สุด
ปัจจุบันเบอร์มิวด้าคือ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก นอกจากชื่อเล่นที่น่ากลัว ๆ อย่างสามเหลี่ยมมรณะแล้ว “หัวหอม” ก็เป็นอีกชื่อเล่นหนึ่งของชาวเกาะแห่งนี้ ในปี ค.ศ. 1616 ช่วงการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิอังกฤษ ซาวต่างชาติผู้เดินทางมาพร้อมเมล็ดพันธุ์หัวหอมจากหมู่เกาะกานาเรียส (หนึ่งในหมู่เกาะของประเทศสเปน) ได้มอบเมล็ดพันธุ์ที่ถูกบรรจุไว้ในถุงเป็นอย่างดี ให้ชาวเกาะไปเพาะพันธุ์ต่อในฐานะดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเล แม้บนเกาะแห่งนี้จะไม่มีหัวหอมเป็นพืชท้องถิ่น แต่ด้วยแสงแดด และพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ทำให้หัวหอมกลายเป็นพืชพรรณที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนบนเกาะไปตลอดกาล…
รสชาติอย่างกับแอปเปิล!
เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวหัวหอม ผลผลิตล็อตแรกที่ได้รับสร้างความตื่นตะลึงให้แก่ชาวเบอร์มิวเดียนและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม ผิวมันเป็นเงาเมื่อสัมผัสแสงแดด อีกทั้งยังมีรสชาติที่หวาน กรอบ อร่อย ไม่ฝาดลิ้น บางคนถึงขนาดนำหัวหอมมาทานเล่นเป็นแอปเปิลกันเลยก็มี แม้แต่ มาร์ก ทเวน (Mark Twain) นักเขียนที่มีชื่อเสียงก้องโลกชาวอเมริกัน ก็ยังยอมรับถึงความอร่อยของมันด้วยเช่นกัน
มาร์ก ทเวน ได้กล่าวยกย่องหัวหอมที่ปลูกบนเกาะแห่งนี้ว่า
“เป็นพืชผลที่มีความสมบูรณ์แบบและเต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมทั้งยังสัมผัสได้ถึงความสุขที่เอ่อล้นออกมาของชาวเกาะเบอร์มิวด้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นดั่งเพชรเม็ดงามของเกาะ ที่มาพร้อมกับรสชาติหวาน กรอบ ไม่ว่าจะกัดลงไปเมื่อใดความชุ่มฉ่ำของมันก็ยังคงอยู่”
Photo Credit: Onion/Bernews
หัวหอมในตำนาน
ก่อนที่ชาวเกาะเบอร์มิวด้าจะรู้จักหัวหอม ผู้คนส่วนใหญ่มักจะประกอบอาชีพต่อเรือ ไม่ก็เป็นชาวประมง แต่หลังจากการเข้ามาของชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1616 ผู้คนบนเกาะจึงได้หันมาทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมแปลงสภาพพื้นที่บนเกาะกว่า 50 เอเคอร์ (ประมาณ 126.5 ไร่) ให้กลายเป็นแหล่งปลูกหัวหอมโดยสมบูรณ์
ในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาวเบอร์มิวเดียนสามารถผลิตหัวหอมได้ราว 330,000 ปอนด์ต่อปี และในปี ค.ศ. 1875 ความต้องการหัวหอมก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หัวหอมกว่า 400,000 ตัน ถูกส่งออกอย่างต่อเนื่อง ท่าเรือของเกาะต่างเต็มไปด้วยเรือบรรทุกสินค้าจากหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือ เรือพาณิชย์ Trinidad SS ของอังกฤษ ที่ขยันเข้าเทียบท่าเกาะเบอร์มิวด้าอยู่ทุกสัปดาห์ และมักกลับไปพร้อมกล่องไม้ที่อัดแน่นไปด้วยหัวหอมผิวมันแวววาวไม่ต่ำกว่า 30,000 กล่องต่อรอบ
เบอร์มิวด้าจึงได้รับการขนานนามว่า “หัวหอม” เกาะที่อุดมไปด้วยหัวหอมคุณภาพดี ซึ่งหาที่ไหนเหมือนได้ยาก นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้หนึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของพืชชนิดนี้เป็นอย่างดี เขาถึงกับกว้านซื้อหัวหอมจนเกือบหมดเกาะ เพราะในเวลานั้นหัวหอมมีมูลค่ามหาศาลไม่ต่างกับผ้าไหมซาตินผืนงามเลยก็ว่าได้
แต่ยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ของหัวหอมก็ถึงคราวหยุดชะงักลง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ผลจากสงครามทำให้การส่งสินค้าออกนอกประเทศมีความยากลำบากมากขึ้น ประจวบกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยอดส่งออกหัวหอมจึงลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง เส้นทางการขนส่งสินค้าได้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง แต่ผลจากสงครามก็ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้มงวดในการนำเข้าสินค้ามากขึ้น และได้เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แน่นอนว่าสินค้าเกษตรอย่างหัวหอมเองก็ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนี้เช่นกัน
Photo Credit: Senior citizen/dict.longdo
กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ชื่อเสียงของหัวหอมจากเกาะเบอร์มิวด้าโด่งดังไปถึงเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ พวกเขาตัดสินใจนำเข้าเมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวกับที่ปลูกบนเกาะเบอร์มิวด้าและตีตราสินค้าส่งออก ว่าเป็นหัวหอมที่มาจากเบอร์มิวด้า 100% ถึงขนาดตั้งชื่อว่า ‘หัวหอมเบอร์มิวเดียน’ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากท้องตลาด
ในปี ค.ศ. 1907 หัวหอมจากรัฐเท็กซัสได้รับความนิยมอย่างมากถึงขนาดมีโบกี้รถไฟบรรทุกหัวหอมมากถึง 1,000 ตู้ และได้เพิ่มเป็น 7,000 ตู้ ในระยะเวลาอันสั้น ชุมชนแห่งนี้ถึงขนาดเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อาณานิคมเบอร์มิวด้า’ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเบอร์มิวด้า รัฐเท็กซัส เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าชื่อดังของเมือง และยังคงความเป็นเท็กซัสเอาไว้อยู่ แม้ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ได้ล่มสลายลงไปแล้วก็ตาม เหลือไว้เพียงร่องรอยว่าครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ปลูกหัวหอมแหล่งสำคัญของประเทศ
ในทางกลับกัน หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 หัวหอมจากเกาะเบอร์มิวด้าแท้ ๆ กลับมียอดขายตกต่ำลงเรื่อย ๆ แต่หัวหอมที่ผลิตขึ้นในรัฐเท็กซัสกลับมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่วนหนึ่งเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และมีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อถึงกันจากทั่วทั้งสหรัฐฯ ทำให้หัวหอมจากเท็กซัสใช้ระยะเวลาขนส่งสั้นกว่า สินค้าจึงถึงมือผู้รับได้ทันเวลา ต่างกับหัวหอมของเกาะเบอร์มิวด้าที่ต้องขนส่งผ่านทางเรือเท่านั้น อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาที่นานกว่า การค้าขายหัวหอมกับสหรัฐฯ ในช่วงนั้นจึงถูกปิดตายลง
ส่วนเกษตรกรชาวเท็กซัสกลับต้องเผชิญกับปัญหาการมีสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามาจากเกาะคานาเรียสก็เป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ ส่งผลให้คุณภาพของสินค้าลดลงตามไปด้วย ในปี ค.ศ. 1925 พวกเขาจึงได้เบนเข็มไปซื้อเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์กราโน (คนละสายพันธุ์กับเกาะเบอร์มิวด้า) จากสเปน เพื่อนำมาทดลองปลูกทดแทนหัวหอมสายพันธุ์เดิม
ในปี ค.ศ. 1946 หัวหอมเบอร์มิวเดียนที่ผลิตขึ้นจากรัฐเท็กซัสก็ถึงคราวต้องพบกับจุดจบลงในที่สุด เพราะรัฐบาลได้เปลี่ยนฟาร์มหัวหอมสายพันธุ์เดียวกับเกาะเบอร์มิวด้าเป็นสายพันธุ์กราโนจนหมด ทำให้หัวหอมยอดนิยมถึงคราวต้องอับแสงลงและสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ตลอดกาล ส่วนหัวหอมจากเบอร์มิวด้าเองก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน จากจำนวนยอดขายที่ยังคงตกต่ำลงเรื่อย ๆ จนแทบเรียกได้ว่าขายไม่ออกเลยก็ว่าได้ ทำให้ชาวพื้นเมืองเริ่มถอดใจและทิ้งไร่ของตนไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม หัวหอมของเบอร์มิวด้าก็ยังคงสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปได้อยู่ แม้จะต้องใช้ความพยายามในการหาสักเล็กน้อยก็ตาม
Photo Credit: Onion/Bernews
ตำนานที่ยังมีชีวิต
จากสถานการณ์การส่งออกที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ทำให้ในปี ค.ศ. 1930 ชาวเบอร์มิวด้าได้ออกแคมเปญเพื่อเรียกลูกค้าต่างชาติให้กลับมาอีกครั้ง แต่ความพยายามของพวกเขาก็ไม่เกิดผลใด ๆ ไม่ว่าเขาจะแนบข้อความไปถึงผู้ซื้อสินค้าแสดงถึงความพิเศษของหัวหอมที่ถูกปลูกขึ้นบนเกาะแห่งนี้มากมายขนาดไหน แต่ทุกอย่างล้วนผ่านแล้วผ่านไป ความนิยมในหัวหอมมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย
แม้ว่าตลาดหัวหอมจะเปลี่ยนไปอยู่ที่เท็กซัส นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา อีกทั้งยังมีคู่แข่งจากเกษตรกรในแคลิฟอร์เนีย วอชิงตัน ฮาวาย และจอร์เจีย แต่ชาวเบอร์มิวด้าก็ไม่ได้เจ็บปวดอีกต่อไป เพราะพวกเขาเชื่ออยู่เสมอว่าหัวหอมของพวกเขาเป็น “ของจริง” ซึ่งไม่มีที่ไหนสามารถลอกเลียนแบบได้
นี่คือความภาคภูมิใจของชาวเบอร์มิวด้า ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย หัวหอมของจริงก็ยังคงอยู่บนเกาะของพวกเขา ไม่อาจมีใครแย่งชิงมันไปได้…
ที่มา
- The Onions of Bermuda. https://onepagestories.home.blog
- Horst Augustinovic. Do you know why Bermudians are nicknamed ‘Onions’?. www.bermuda.com
- Bermuda Onions. www.bermudianlife.com/bermuda-sweet-onions/
- “เบอร์มิวดา” สามเหลี่ยมลึกลับที่สวยจับใจ. https://mgronline.com/travel/detail