โรงเรียนในนิวซีแลนด์ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงศึกษาธิการว่า ควรเปลี่ยนการเรียกคำนำหน้าชื่อให้ตรงตามความต้องการของนักเรียนโดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศกำเนิด เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในรั้วโรงเรียน และเป็นการสะท้อนถึงบรรทัดฐานทางสังคมในนิวซีแลนด์ และทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
กฎระเบียบดังกล่าวถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นเวลาเกือบยี่สิบปีแล้ว ดังนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ทำการปรับปรุง แก้ไขกฎระเบียบให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยทางกระทรวงฯ ยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ควรบรรจุบทเรียนเรื่องความหลากหลายทางเพศลงในหลักสูตร เพื่ออธิบายความแตกต่างทางเพศที่แพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันนักเรียนสามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนของตัวนักเรียนเอง ทำให้พวกเขาสามารถเติบโตไปในสังคมที่มีความลื่นไหลได้อย่างภาคภูมิใจ อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนทัศนคติทางสังคมที่มีต่อเพศทางเลือกอีกด้วย
แม้ว่า โรงเรียนประถมและมัธยมจะถูกแยกออกจากกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนระดับชั้นใด ทุกโรงเรียนควรตั้งคำถามกับบรรทัดฐานทางเพศที่ในอดีตได้ถูกตีกรอบจำกัดอยู่เพียงแค่สองเพศ ซึ่งปัจจุบันค่านิยมดังกล่าวได้กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว นักเรียนควรได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม ให้พวกเขาคิดวิเคราะห์เองว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่พวกเขาอยากเป็น โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่เพศชาย-หญิงตามบรรทัดฐานทางสังคม
ทางกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้แนะนำเพิ่มเติมอีกว่า การกำหนดหลักสูตรเรื่องเพศศึกษา ทางกระทรวงฯ ให้อิสระแก่ทางโรงเรียนในการร่างหลักสูตรอย่างเต็มที่ แต่ควรคำนึงถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรมของนักเรียนมาเป็นอันดับหนึ่ง
“กฎระเบียบใหม่นี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการสอนเรื่องความสัมพันธ์และเพศวิถีศึกษาในโรงเรียนจะไม่สูญเปล่า” Tracey Martin รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
นโยบายดังกล่าวมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผู้ที่สนับสนุน LGBTQ มองว่าเป็นนโยบายที่เปิดกว้างและเหมาะสมกับยุคสมัย ส่วนกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยมองว่านักเรียนหรือคนข้ามเพศไม่ควรใช้ห้องน้ำตามที่พวกเขาต้องการ แต่ควรใช้ห้องน้ำหรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าตามเพศกำเนิดของตนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ขณะที่ทางกระทรวงฯ ยืนยันว่า “การระบุตัวตนของเด็ก ๆ นั้น ควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขาเอง และพวกเขาควรได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องน้ำหรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สอดคล้องกับตัวตนของตนเอง”
Photo Credit: Photo Credit: Rainbow Youth/ thegoodregistry.com
ข้อความส่วนหนึ่งของเอกสารแนะนำระบุว่า ไม่ควรจำแนกบุคคลใดบุคคลหนึ่งไว้ในเพศลักษณ์ (Sexual Characteristics) เพียงแค่สองลักษณะเท่านั้น แต่ควรทำให้นักเรียนตระหนักได้ว่าสังคมมีความลื่นไหลมากกว่าเพศชายและหญิง ซึ่งการระบุเพศของนักเรียน ควรขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพวกเขาเอง
จากการสำรวจนักเรียนระดับมัธยมในนิวซีแลนด์จำนวน 1 ใน 10 คน พบว่า พวกเขาเป็นเพศทางเลือกหรือเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้เผยตัวตนให้เพื่อนร่วมชั้นหรือทางโรงเรียนรับรู้ ต่อมากลุ่ม Rainbow Youth ซึ่งเป็นผู้สนับสนุน LGBTQIA จึงได้ออกมากล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า “นี่คือเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องออกกฎระเบียบใหม่”
“ความพยายามของนิวซีแลนด์จะช่วยให้พวกเขามั่นใจได้ว่า เยาวชน LGBTQIA สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แก่พวกเขา” Daina Ruduša ผู้จัดการอาวุโสด้านการสื่อสารขององค์กร OutRight Action International กล่าวกับทาง Global Citizen ผ่านทางอีเมล
Photo Credit: The Balloon show/en.wikipedia.org
จากการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า มีเยาวชน LGBTQ + จำนวนมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เคยคิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะถูกกลั่นแกล้งและก่อกวนจากผู้ไม่มีความเข้าใจในความแตกต่างตรงนี้ พวกเขาต้องอดทนอยู่ในสังคมที่คาดหวังว่าจะต้องเป็นเพียงผู้ชายหรือผู้หญิง ซึ่งนี่เป็นค่านิยมทางสังคมที่คับแคบและล้าสมัยไปแล้ว Ruduša อธิบายเพิ่มเติม
ปัญหาที่มักพบตามมาคือ นักเรียนกลุ่มที่ประสบกับการถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับในสังคมมีแนวโน้มจะลาออกจากโรงเรียน และมีการขาดเรียนสูงกว่าปกติ ทำให้การเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายลดลง ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกรักและนับถือในคุณค่าของตัวเองลดต่ำลงไป และนำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตในที่สุด
Photo Credit: Rainbow Youth/de-de.facebook.com
“สิ่งสำคัญคือ คนหนุ่มสาวสามารถมองเห็นภาพสะท้อนของตัวเองจากสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้อยู่ในโรงเรียน” Pooja Submaranian ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชกล่าว เธอเสริมว่า นักเรียนชาวสีรุ้งหลายคนถูกรังแกหรือกลัวการถูกเลือกปฏิบัติจากที่โรงเรียนและนโยบายนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการมานานเกินไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนบางคนกังวลว่า กฎระเบียบดังกล่าวและหลักสูตรที่ทางกระทรวงศึกษาธิการกำหนดออกมาจะไม่ครอบคลุมโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ
“กฎระเบียบใหม่เพียงอย่างเดียวจะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานตามที่เราต้องการ ตราบใดที่ไม่มีการนำมาปฏิบัติจริง” Jackie Edmond ผู้บริหารระดับสูงของการวางแผนครอบครัวกล่าว “เราต้องการการสนับสนุนจากทางกระทรวงศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติได้อย่างทั่วถึง”
ที่มา
- Leah Rodriguez. New Zealand Schools Have Been Advised to Use Students’ Preferred Names, Genders, and Pronouns. www.globalcitizen.org/content
- Charlotte Graham-McLay. New Zealand schools urged to use students’ preferred names, genders and pronouns. www.theguardian.com/new-zealand-schools