Kindnovation

จะเป็นอย่างไร หากกรุงเทพฯ กลายเป็น “เมืองฟองน้ำ”


เปิดแนวคิด “เมืองฟองน้ำ” อีกหนึ่งทางออกเพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ นวัตกรรมบรรเทาความเสียหายจากการระบายน้ำไม่ทันในช่วงฤดูฝน ไม่ว่าจะปีไหน ๆ ปัญหาที่ชาวกรุงต้องเผชิญเสมอยามเข้าสู่ฤดูฝนคือ น้ำท่วม แม้กรุงเทพมหานครจะมีการจัดการน้ำหลากหลายวิธี แต่วิกฤตน้ำท่วมยังคงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ ทำให้ กทม. ต้องหาทางออกเพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วมที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก


ดูดซึม กรอง เก็บ ส่ง วัฏจักรหมุนเวียนทรัพยากรน้ำ
⠶⠶

ในหลายประเทศมีการนำแนวคิด Sponge City หรือ เมืองฟองน้ำ เข้ามาแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง และบรรเทาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง หลักการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การหาวิธีดูดซึม กรอง เก็บ ส่ง น้ำฝนที่ตกลงมาและหมุนเวียนให้คงอยู่ในเมืองนั้น ๆ เป็นการเลียนแบบลักษณะการดูดซึมตามธรรมชาติ โดยใช้นวัตกรรมแปลงน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำที่นำมากักเก็บและใช้ประโยชน์ได้

แนวทางการสร้างเมืองฟองน้ำ ได้แก่ การสร้างถนนและทางเดินแบบฟองน้ำที่ทำให้ดูดซึมน้ำได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นการใช้วัสดุที่สร้างถนนหรือทางเดินแบบทั่วไป เช่น คอนกรีต หรือ ปูน แต่จะมีกรรมวิธีที่ทำให้พื้นผิวมีรูมากกว่าพื้นทั่วไป สามารถให้น้ำไหลผ่านสู่ชั้นผิวดินเร็ว ช่วยลดการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำหรือทะเลไม่ทัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม หรืออาจจะเริ่มต้นด้วยการปูทางเท้าด้วยยางแอสฟัลต์ (Asphalt) หรือยางมะตอย ที่มีคุณสมบัติน้ำซึมผ่านได้ดี 

รวมถึงการสร้างสวนบนหลังคาที่เป็นการเลียนแบบการดูดซึมน้ำแบบธรรมชาติให้ฝนที่ตกลงมาซึมเข้าสู่ต้นไม้ที่อยู่ในสวน แทนที่จะไหลลงสู่พื้นดินและท่วมบ้านเรือนเสียหาย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิธีนี้จะไม่ใช่การช่วยลดน้ำท่วมในปริมาณมาก แต่หากทุกอาคารบ้านเรือนสร้างสวนแบบนี้ไว้บนหลังคา แน่นอนว่าวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมืองฟองน้ำ แนวคิดการจัดการน้ำท่วมของประเทศพัฒนาแล้ว
⠶⠶

ประสิทธิภาพของเมืองฟองน้ำ เห็นผลได้ชัดจากเหตุการณ์ในประเทศจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ เมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองนำร่องในการสร้าง “เมืองฟองน้ำ” แรก ๆ ของประเทศจีนที่ประสบผลสำเร็จในการหลีกเลี่ยงสภาพน้ำท่วมขังรุนแรงได้

ในปี ค.ศ. 2015 นครหนานหนิงเริ่มโครงการปูทางเท้าด้วยยางแอสฟัลต์ ที่มีคุณสมบัติน้ำซึมผ่านได้ระยะทางประมาณ 8.17 กิโลเมตรรอบทะเลสาบหลักในสวนสาธารณะ น้ำฝนที่ทางเท้าดูดซับไว้จะถูกนำไปใช้ทดน้ำให้พืชในภายหลัง กลายเป็นวัฏจักรหมุนเวียน

ในปีเดียวกัน จีนเปิดตัวแผนสร้างเมืองฟองน้ำ โดยเลือกเมืองกลุ่มแรกจำนวน 16 เมือง ซึ่งรวมถึงหนานหนิงและเทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งโครงการสร้างเมืองฟองน้ำทำให้ปริมาณน้ำฝนร้อยละ 70 ถูกดูดซับและนำมาใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น โดยจีนตั้งเป้าจะสร้างเมืองฟองน้ำในพื้นที่เมืองและสิ่งปลูกสร้างมากกว่าร้อยละ 20 สำเร็จตามเป้าภายในปี ค.ศ. 2020 และจะมีสัดส่วนของเมืองฟองน้ำร้อยละ 80 ขึ้นไปภายในปี ค.ศ. 2030 

หนานหนิงลงทุนกว่า 11,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 51,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างเมืองฟองน้ำ ซึ่งในฤดูน้ำหลากของจีนช่วงที่ผ่านมา พื้นที่หลายแห่งทางตอนใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่หนานหนิงรอดจากวิกฤตดังกล่าว 


ด้านเทศบาลนครไทเปร่วมกับภาคเอกชน แก้วิกฤตน้ำท่วมด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวในเมืองและปรับกายภาพเมืองตามหลักการ “เมืองฟองน้ำ” ที่ผลักดันให้เป็นนโยบายเมืองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ตอบรับกับแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งหลายเมืองทั่วโลกก็เริ่มใช้แนวคิดเดียวกันนี้กับการจัดการน้ำท่วมในเมืองแล้วเช่นกัน

ในปี ค.ศ. 2015-2018 เทศบาลนครไทเปเปลี่ยนพื้นถนน ทางเท้า เลนจักรยาน สนามกีฬาโรงเรียน ไปจนถึงพื้นลานจอดรถสาธารณะทั่วเมืองกว่า 173,819 ตารางเมตร ให้เป็นเหมือนฟองน้ำคอยดูดซึมน้ำ ซึ่งพื้นเหล่านี้สามารถช่วยลดปริมาณน้ำฝนที่เอ่อล้นในเมืองได้ถึงร้อยละ 7.3-17.85 ในวันที่ฝนตก โดยน้ำฝนที่ดูดซึมได้จากในสวนสาธารณะยังถูกนำไปหมุนเวียนใช้ต่อในระบบน้ำของสวน และบางส่วนก็ถูกนำไปใช้ในโรงเรียนประถมหลายแห่งทั่วไทเป 

ขณะที่เมืองรอตเตอร์ดามแห่งเนเธอร์แลนด์ มีแนวคิดในการป้องกันน้ำท่วมด้วยการเปลี่ยนเมืองเป็น “เมืองฟองน้ำ” โดยการสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือแก้มลิง กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง เช่น สร้างพื้นที่จอดรถใต้ดิน สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 4 แห่ง หรือ อาคารลอยน้ำต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะบนหลังคาและดาดฟ้าที่ปกคลุมด้วยพืชดูดซึมน้ำฝน

กรุงเทพฯ กับวิธีการจัดการน้ำที่ (อาจยัง) ไม่ยั่งยืน
⠶⠶

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ ปี ค.ศ. 2017 ระบุว่า กรุงเทพมหานคร มีแนวทางเพื่อการจัดการปริมาณน้ำฝนในเขต กทม. ด้วยกัน 2 แนวทาง คือ แนวทางการป้องกันน้ำท่วม โดยการเสริมคันกันน้ำ ซึ่งมีแนวกัน 2 จุด คือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 77 กิโลเมตร และฝั่งตะวันออกระยะทาง 75 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้งป้องกันน้ำท่วมในบริเวณที่ถูกปิดล้อม

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง คือ แนวทางเพื่อการระบายน้ำ สำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วมขังอันเนื่องมากจากปริมาณน้ำฝน โดยมีการก่อสร้างทางด้านวิศวกรรม ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ 227 แห่ง ท่อระบายน้ำที่มีระยะทางรวม 6,400 กิโลเมตร แก้มลิง 25 แห่ง สถานีสูบน้ำ 127 แห่ง อุโมงค์ระบายน้ำ 7 แห่ง และคูคลองทั้งสิ้น 1,682 สาย 

อย่างไรก็ตาม กทม. ยอมรับว่ามี 6 ปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้แก่ ฝนตกหนักเกินกว่า 60 มิลลิเมตร มวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงสู่ทะเล น้ำทะเลหนุน พื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ท่อระบายน้ำอุดตัน และขยะในลำคลองขวางทางระบายน้ำ 


แม้แนวทางดังกล่าวดูจะครอบคลุมหากเกิดวิกฤตน้ำระบายไม่ทัน แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมน้ำขังที่ผ่านมานั้นก็พอสรุปได้ว่า แนวทางการจัดการดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอต่อการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง 

โอกาสที่กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองฟองน้ำ
⠶⠶

ในขณะที่แนวคิด Sponge City หรือ เมืองฟองน้ำ เป็นแนวคิดที่จะช่วยเข้ามาจัดการปัญหาน้ำท่วม แต่ผลวิจัยเรื่อง “ลักษณะเชิงพื้นที่ของลักษณะพื้นผิวในเมืองและการประเมินความเหมาะสมของอาคารสำหรับการก่อสร้างเมืองฟองน้ำ” ของ Haifeng Jia ในปี ค.ศ. 2017 กลับพบว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมในการก่อสร้างเมืองฟองน้ำมีราคาสูงถึง 15-22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 467-700 ล้านบาทต่อตารางกิโลเมตร  

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “การรับรู้และความเต็มใจจ่ายของสาธารณะชนในการริเริ่มเมืองฟองน้ำในกรุงเทพมหานคร” ของนิสิตปริญญาโทประจำสาขาวิชาการจัดการทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2019 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยอมรับและยินดีที่จะจ่ายเงินบริจาคเพื่อโครงการเมืองฟองน้ำ คิดเป็นร้อยละ 62.7 ขณะที่ร้อยละ 37.3 ไม่เต็มใจจ่าย ซึ่งผลวิเคราะห์ทางสถิติสามารถคำนวณมูลค่าความเต็มใจจะจ่ายเงินบริจาคเพื่อโครงการเมืองฟองน้ำเฉลี่ย 145 บาท ซึ่งสามารถนำไปประเมินผลต่อโครงการในลักษณะเดียวกันได้


ดังนั้น เพื่อให้โครงการเมืองฟองน้ำเกิดขึ้นจริง จึงต้องเกิดจากการสนับสนุนของประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องอาจนำเสนอหรือดำเนินโครงการในพื้นที่ที่เศรษฐกิจดีอยู่แล้ว หรือเป็นช่วงภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัว เพราะจะเพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะตอบรับการสนับสนุนโครงการมากขึ้น 

การเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็น “เมืองฟองน้ำ” เหมือนอย่างหนานหนิง ไทเป หรือรอตเตอร์ดาม อาจจะไม่ง่ายนัก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะหากมองในแง่ภูมิศาสตร์ ไทเปมีลักษณะคล้ายคลึงกรุงเทพฯ คือมีพื้นที่ใจกลางเมืองเป็นพื้นที่ต่ำ ความสูง 5-10 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีแม่น้ำคั่นเมืองออกเป็นสองฝั่ง ซึ่งทำให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำต้องทำหน้าที่รองรับน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำ และช่วยป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ใจกลางเมืองด้วยเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ แต่เทศบาลนครไทเปได้เริ่มต้นจัดการน้ำท่วมเมืองด้วยแนวคิดป้องกันอุทกภัย ทั้งสร้างกำแพงกั้นน้ำ การผันน้ำฝนลงอุโมงค์ใต้ดิน การจัดสรรพื้นที่ริมแม่น้ำให้เป็นแหล่งรองรับน้ำ รวมถึงสร้าง “เมืองฟองน้ำ” จึงไม่น่าใช่เรื่องเกินความคาดหวัง หากกรุงเทพฯ จะกลายเป็น “เมืองฟองน้ำ” ในอนาคต 


ที่มา


เรื่องโดย