Kind Health

ศิลปะแห่งการพักผ่อน: การไม่ทำอะไรเลยคือการพักผ่อนอย่างแท้จริง


ค.ศ. 2020 เป็นปีที่ยาวนาน ยากลำบาก และชวนปวดหัวที่สุดสำหรับใครหลายคน แต่นอกเหนือจากความคิดเหล่านี้ อีกคำหนึ่งที่จะนิยามปีที่ผ่านมานี้ได้ก็คือ คำว่า “พักผ่อน”

การพักผ่อน เหมือนจะเป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกคนรู้จักกันดี อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่า ไม่ใช่ทุกกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจะเป็นการพักผ่อนอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่า เราอาจจะกำลังพักผ่อนผิดวิธี เพราะอย่างนั้นแล้ว เราควรจริงจังกับการพักผ่อนให้มากขึ้น

นักข่าวชาวเยอรมันและนักเขียนเจ้าของผลงาน Niksen: Embracing the Dutch Art of Doing Nothing Olga Mecking เล่าว่าเธอตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอยู่เฉย ๆ บ้าง หลังจากอ่านบทความเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองมากเกินไป


การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือการอยู่เฉย ๆ
●○

“ฉันอ่านบทความเกี่ยวกับการใช้ชีวิตเยอะมาก และรู้สึกเหมือนกำลังโดนบอกว่า สิ่งที่ฉันทำมาตลอด กระทั่งการกินหรือการขยับตัว ฉันทำผิดมาตลอดเลย” เธออธิบาย

“มันน่ารำคาญและทำให้ฉันรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง Niksen บอกกับผู้อ่านว่ามันโอเค เราไม่จำเป็นต้องเก่งขึ้นตลอดเวลา หนังสือเล่มนี้ช่วยได้มากทีเดียว”

Niksen เป็นภาษาเยอรมัน แปลตรงตัวได้ว่า ไม่ทำอะไรเลย Mecking กล่าวว่า Niksen ช่วนให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ ข้อสรุปนี้ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน งานวิจัยระบุว่า

มนุษย์มีเครือข่ายสมองที่ทำงานอัตโนมัติ (Default Mode) เป็นช่วงที่สมองของเราเข้าสู่ช่วงพักผ่อนและใช้ความคิด ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญและดีที่สุดสำหรับการพัฒนาและการทำงาน


มากไปกว่านั้น การปิดการใช้งานส่วน “โฟกัส” ที่เราเพ่งสมาธิเพื่อทำกิจกรรม ยังช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เนื่องจากการพักสมองแบบนี้จะช่วยดึงความทรงจำ และเกิดการเชื่อมโยงความคิดต่าง ๆ ในหัวของเรา ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า การทำอะไรง่าย ๆ ปล่อยใจให้เหม่อลอยไปบ้าง เช่น การเดินเล่น การทำความสะอาดบ้าน ยังช่วยให้เราแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งจุดประกายให้เราทำตามเป้าหมาย คิดหาวิธี กำหนดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอนเพื่อไปถึงเป้าหมายในอนาคตนั้นได้ดีขึ้น

Mecking ระบุว่า เราต่างรู้ว่าร่างกายของเราต้องการการพักผ่อน แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้นกับสมองของเรา “เรามักจะอยากให้สมองของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา และสมองที่ไม่เคยพักผ่อนเลย สุดท้ายก็จะถูกรบกวนทำให้เสียสมาธิในที่สุด”


“นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงคิดไอเดียดี ๆ ไม่ออกตอนที่เราพยายามคิดมากเกินไป และไอเดียเจ๋ง ๆ เหล่านี้มักจะมาตอนเราแช่อ่างอาบน้ำ ออกไปเดินเล่น หรือปิ๊งออกมาตอนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย” เธอกล่าว

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ความเป็นจริงนั้นต่างออกไป งานวิจัยจำนวนมากพบว่า ผู้คนทั่วโลกเลือกที่จะทำกิจกรรมสักอย่างมากกว่าอยู่เฉย ๆ แล้วจมไปกับความคิดของตัวเอง

แต่อย่าเพิ่งถอดใจไป ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่สามารถพักสมองได้ง่าย ๆ นักประสาทวิทยาและทีมวิจัยจาก Neuroscience Research Australia ดร. Steve Kassem มีทางออก

ปล่อยวางไม่ได้ ทำยังไงดี?
●○

“สิ่งที่ทำให้สมองเราเข้าโหมดพักผ่อนได้ คือตอนที่เรารู้สึกเหนื่อย แต่ไม่ใช่การเหนื่อยจากความเครียด” เขากล่าว

“กิจกรรมเช่นการเดินป่า ไปจนถึงดูหนังตลอดทั้งวัน หรือกระทั่งทำงานบ้านงานสวน สามารถช่วยให้สมองคุณพักผ่อนได้ อะไรก็ได้ที่คุณรู้สึกสนุก ไม่เครียด ไม่กังวล หรือกดดัน”


แม้การนอนจะเป็นวิธีพักผ่อนยอดฮิต ดร. Kassem กล่าวว่า การนอนหลับไม่ใช่ทางออกสำหรับการพักผ่อนเสมอไป “มันไม่ง่ายเหมือนการนอนหลับ ผลการศึกษาพบว่าการนอนหลับไม่ได้แปลว่าเราจะหลับลึก (REM Deep Sleep) เสมอไป คุณอาจจะไม่นอนได้ถึง 18 ชั่วโมง (หรือศิลปินบางคนอาจจะอดนอนได้ถึง 72 ชั่วโมงเมื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ) แต่กลับไม่รู้สึกเหนื่อยหรือลำบากอะไร อย่างมากที่สุดก็แค่หมดแรง เพราะคุณได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่ชอบทั้งวัน”

ดร. Kassem กำลังบอกกับเราว่า การได้ทำสิ่งที่รักไม่ใช่แค่ช่วยให้เราไปถึงสภาวะลื่นไหล (Flow State) สภาวะที่เราจดจ่ออยู่กับการทำกิจกรรม รู้สึกพึงพอใจและเพลิดเพลินไปกับกระบวนการทำงานนั้น ๆ แต่ยังช่วยให้เรามีสติ ตระหนักรู้ความเป็นไปของตัวเอง ไม่ฟุ้งซ่าน ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งสองอย่างนี้คือผลจากเครือข่ายสมองที่ทำงานอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้สมองของเราได้พักผ่อนนั่นเอง

การพักผ่อนคือการทำอะไรไปตามธรรมชาติของร่างกาย ไม่ใจดใจจ่อกับการคิดวิเคราะห์อะไรบางอย่างจนเกินไป เราใช้สมาธิในการทำกิจกรรมนั้น ๆ แต่ไม่ใช่เคร่งเครียดไปกับมัน ดร. Kassem กล่าว


แล้วการพักผ่อนที่ดีที่สุดควรทำอย่างไร?
●○

ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่าการนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด “มีแค่การนอนหลับเท่านั้นที่เป็นการชาร์จแบตให้สมอง” กล่าวโดย ดร. Thomas Andrillon จาก Monash University’s Turner Institute for Brain and Mental Health

เขาอธิบายว่าเมื่อเรากำลังตื่น ประสาทสัมผัสของเราจะทำงานอยู่ตลอดเวลา จากทั้งการใช้ความคิดและจากกิจวัตรประจำวันของเรา และผลลัพธ์จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ คือ เราสร้างความเชื่อมโยงจากการกระทำไปยังเซลล์ประสาทของเรา ซึ่งเป็นวิธีที่สมองเรียนรู้ และเก็บความทรงจำ


“สิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้เกิดการพักผ่อนอย่างแท้จริง คือการลดระดับการทำงานของระบบเผาผลาญของร่างกาย ลบความทรงจำระยะสั้นบางอย่างที่เราทำขณะตื่นนอน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นในตอนที่เรานอนหลับ” เขากล่าว

“หากคุณมีเซลล์ประสาทจำนวนจำกัด และปล่อยให้การเชื่อมโยงเกิดสะสมไปเรื่อย ๆ นั่นเป็นอันตรายในระยะยาว เพราะเป็นการใช้งานสมองเกินความจำเป็น”

นอกเหนือจากการนอนหลับ “การทำอะไรที่ชอบ ปล่อยให้สมองได้ดื่มด่ำไปกับกิจกรรมเหล่านั้น เช่น ออกไปท่องเที่ยวธรรมชาติ เล่นกับสัตว์ต่าง ๆ หรือเด็กเล็ก หรือสร้างสรรค์อะไรบางอย่างด้วยมือของคุณเอง ก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้เช่นกัน” ดร. Andrillon กล่าว

“บางครั้ง การทำกิจกรรมที่ช่วยให้คุณผ่อนคลาย โดยไม่จดจ่อไปกับเป้าหมายว่า “ต้องผ่อนคลาย” ก็ทำให้ผ่อนคลายได้เหมือนกัน”


ที่มา


เรื่องโดย