Kind People

ล้อมวงคุยกับ “คุณเก่ง-คุณโจ้” แห่ง Creative Talk


จุดนัดพบประจำทุกต้นปีที่เหล่าคนในหลากหลายแวดวงธุรกิจจะมารวมตัวกัน เพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่ ๆ ก็คืองาน “Creative Talk Conference” แต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบงานที่ต่างไปจากเดิม สำหรับ CTC2021 ปีนี้ ได้จัดงานในรูปแบบของ Hybrid Events ที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์

งานออนไลน์จัดเป็นแบบ Active Virtual Conference คือการนำเสนอ Virtual Conference ในรูปแบบที่มุ่งเน้นให้ผู้ร่วมงานรู้สึกตื่นเต้น และสนุกไปกับการรับชม ทั้งยังสามารถเกาะติดกับงานได้ตลอดเวลา ซึ่งจัดขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2564 ส่วนงานแบบ On-Ground นั้นจะมีขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

แต่ล่าสุดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น ยังมีความเสี่ยงสูงและไม่น่าไว้วางใจ เพื่อความปลอดภัยของผู้ร่วมงานทุกฝ่าย ทางทีม CREATIVE TALK ได้ตัดสินใจเปลี่ยนการจัดงาน AP Thailand & SEAC Present CREATIVE TALK CONFERENCE 2021 (CTC2021) จากศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เป็นการจัดงานแบบออนไลน์ 100% ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่



วันนี้ KiNd มีโอกาสได้สนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองกับ “คุณเก่ง-สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม” และ “คุณโจ้-ฉวีวรรณ คงโชคสมัย” ผู้จัดงาน Creative Talk โดยวันนี้เราไม่เพียงแค่จะมาพูดถึงเรื่องการจัดงานแบบ Virtual ครั้งแรกของ Creative Talk เท่านั้น แต่เรายังมีประเด็นเรื่องเจเนอเรชัน (Generations) ที่พูดคุยร่วมกันในครั้งนี้ด้วย


เริ่มต้นที่ “Virtual Conference”
▶▷

“ถ้าปีที่แล้วเราเจอโควิด-19 ในช่วงที่เราจะจัดงาน เราคิดว่าจะไม่ไปทำ Virtual แน่นอน เพราะผมมองว่ามันน่าเบื่อ ง่วงนอน อยู่แต่กับจอคอมพิวเตอร์ แต่พอโควิดระลอกใหม่มาซึ่งมันตรงกับงาน On ground ที่จะจัดพอดิบพอดี เราก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นทำ Virtual ก็ได้ โดยเราต้องปรับมุมมองใหม่ มองว่ามันเป็นโอกาส โดยความท้าทายใหม่ของเราคือการจะทำยังไงให้ Virtual ของเรามันสนุกจนคนไม่อยากลุกไปจากจอ”

– คุณเก่ง สิทธิพงศ์ อธิบายถึงจุดกำเนิดของงาน CTC2021


ด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้ทีม Creative Talk ตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบงานใหม่เป็นแบบ Hybridกล่าวคือมีการจัดงานในรูปแบบ On ground เช่นเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือมีการจัดงานแบบ Virtual เพิ่มขึ้นมาด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักสำหรับการทำ Virtual Conference จากประสบการณ์ของคุณเก่ง และคุณโจ้จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย


1. ปรับการนำเสนอเนื้อหา เพื่อให้เข้าถึงผู้เข้าร่วมงานได้มากที่สุด ซึ่งเนื้อหาที่เหมาะสมคือเนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อเท็จและจริง (Fact) หรือเป็นเรื่องทฤษฎีที่นำไปปฏิบัติได้จริง

2. ปรับเวลาให้สั้นกระชับ เวลาที่เหมาะสมสำหรับ Virtual Conference คือประมาณ 20 นาที เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือรอนานจนเกินไป

3. กิจกรรมสร้างสัมพันธ์ระหว่าง Session อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความสนุก และการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น กิจกรรม Small Talks คือการที่ทีมพิธีกร 3-4 คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึง Session ที่เพิ่งจบไปในประเด็นต่าง ๆ เป็นต้น

4. ไม่กระโดดข้ามแพลตฟอร์ม กิจกรรมภายในงานถือเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี ส่วนวิธีการร่วมสนุกกับกิจกรรมนั้นต้อง “ง่ายและสะดวก” ต่อผู้เข้าร่วมงานให้มากที่สุด

5. อินเทอร์เน็ตต้องแรง อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของงานแบบ Virtual โดยผู้จัดงานต้องคำนึงถึงความเร็ว และความเสถียรของอินเทอร์เน็ต มีระบบและอุปกรณ์ที่รองรับ พร้อมกับมีตัวส่งสัญญาณสำรองในกรณีฉุกเฉิน

6. เพิ่มทางเลือกชมย้อนหลังให้นานขึ้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานบางคนไม่สามารถเข้าร่วมในช่วงเวลาที่จัดงานได้ แต่หากมีทางเลือกนี้ก็ถือเป็นทางออกให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าฟังได้ สามารถจัดสรรเวลาเข้ามาฟังย้อนหลังเองได้

“สิ่งที่เราคิดคือ เราคิดว่างาน Virtual มันต้องเป็น Virtual ในแบบของมัน ในแบบที่ไม่ใช่การเอาอีเว้นท์มายัดใส่ในจอ เราต้องปรับเปลี่ยนมาทำในเวอร์ชันของมัน เราก็เลยเริ่มจากการวิเคราะห์วิถีความเป็นมนุษย์ของผู้เข้าร่วมงานแบบออนไลน์ก่อน” คุณเก่งกล่าว

 

Your destination เพราะเราอยากเป็นจุดหมายปลายทางของคุณ
▶▷


การนำ Virtual เพื่อมาใช้จัดงานอีเว้นท์ นอกจากจะเป็นหนึ่งทางออกในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องมาตรการของภาครัฐที่ให้กักตัวอยู่ที่บ้าน พร้อมหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคแล้ว ยังช่วยขยายมิติทางการตลาดของผู้เข้าร่วมงานได้อีกด้วย เรียกว่าเป็นข้อดีที่สุดของการใช้ Virtual ก็ว่าได้ เพราะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้จำนวนมาก โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความจุของพื้นที่

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเข้าถึงงาน เสพเนื้อหาที่เป็นจุดขายในงาน Creative Talk ได้โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานที่จริง ไม่ว่าจะอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ทว่าประสบการณ์ที่ได้รับก็จะแตกต่างออกไป

“ความน่าสนใจคือ งานอีเว้นท์ของเราจะมีโอกาสกลายเป็นงานที่ International มากขึ้น เมื่อ 2 ปีที่แล้วเราเคยคิดว่าในอนาคตเราจะไปจัดงานที่สิงคโปร์ CTC Singapore หรือที่ฮ่องกง แต่ตอนนี้เราคิดว่าไม่จัดแล้ว เราจัดที่กรุงเทพนี่แหละ เราจะทำที่กรุงเทพให้สนุกไปเลย แล้วก็นำเสนอผ่าน Virtual ถ้าเนื้อหามัน International คนดูจากต่างประเทศอาจจะรู้สึกอยากบินมาก็ได้ เรามองว่าเราใช้ Virtual เป็นโอกาสในการที่จะดึงคน แล้วทำให้งานเราอินเตอร์ขึ้นโดยไม่ต้องไปต่างประเทศ เราจะทำให้ตัวเองเป็น Destination ที่ใคร ๆ ก็อยากมาร่วมงาน”

คุณโจ้ กล่าว

หยิบยกประเด็นเรื่องเจเนอเรชันมาคุย
▶▷

เจเนอเรชันคืออะไร? คำว่า Gen หรือ Generation นั้น เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นในหลายวงการ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งสาเหตุหลักคือช่วงอายุที่แตกต่างกัน ซึ่งมักจะทำให้วิถีคิด ค่านิยม และพฤติกรรมต่าง ๆ แตกต่างกันไปด้วย โดยการแบ่งเจเนอเรชันตามหลักสากลนั้นมี 4 กลุ่ม คือ 1. Baby Boomer หรือ Gen B เป็นคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2489–2507 2. Generation X หรือ Gen X เกิดประมาณปี พ.ศ. 2508-2523 3. Generation Y หรือ Gen Y คือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524-2543 4. Generation Z หรือ Gen Z คือคนที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป

ประเด็นเรื่องเจเนอเรชันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวหลักที่เรากำลังพูดคุยตอนไหนก็ไม่แน่ใจนัก กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็พูดคุยกันไปอย่างออกอรรถรสแล้ว อ้อ! นึกออกแล้ว ถ้าจำไม่ผิดเรากำลังคุยเรื่องการบริหารทีมงานกัน ยาวไปจนการบริหารประเทศ ซึ่งคุณเก่งบอกกับเราว่า

ผมมองว่าการบริหารประเทศก็เหมือนการบริหารธุรกิจ คือหมายความว่ามันจะมียุคที่เหมือนอย่างธุรกิจครอบครัวเอาง่าย ๆ พ่อผมอาจจะอายุมากไปแล้ว มีแต่มุมมองเดิม ๆ แต่คนรุ่นใหม่ก็จะคิดในอีกมุมหนึ่ง ผสานเอาเทคโนโลยีเข้ามา คือในมุมผมก็ไม่ได้คิดว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะต้องแบบออกไปเลยขนาดนั้นนะ เพราะว่าแต่ละคนจะมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน”

 

เจนแตกต่างที่ลงตัว
▶▷

คือ Leader มันเป็นเรื่องของ Vision ความสำคัญคือเราต้องรู้จักแบ่งปันกัน ต้องเปิดมุมมองความคิดให้กว้าง เราต้องเชื่อด้วยนะว่าเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง เราต้องฟังหลาย ๆ ทีม เดี๋ยวนี้เป็นยุคของพาร์ทเนอร์ชิพ คุณไม่สามารถเป็นหนึ่งคนที่เก่งทุกอย่าง แล้วงกความสามารถตัวเอง เราต้องเติบโตไปด้วยกัน คนอายุน้อยต้องทำตัวให้แก่ คนแก่ต้องทำตัวให้เด็ก ไม่ควรเอาเรื่องเจเนเรชันมาเป็นข้ออ้าง เพราะถ้ามันมิกซ์เข้ากันได้ นั้นแหละคือสิ่งที่ดีคุณเก่งกล่าว

ความแตกต่างของช่วงวัยในองค์กรอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการลดความขัดแย้งในที่ทำงานควรเริ่มจากการเปิดมุมมอง และเข้าใจคุณค่า รวมถึงความสามารถของแต่ละคนโดยไม่เอาความต่างมาเป็นปัญหา มองในแง่บวกว่าความหลากหลายของเจเนอเรชันที่ต่างกันนี้เอง ก่อให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในทางสร้างสรรค์ พร้อมกับพาองค์กรก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ที่มา


เรื่องโดย


ภาพโดย