หากมองความสะอาดของบ้านเมืองเท่ากับความโปร่งใสไร้ทุจริตของรัฐบาล สิงคโปร์ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งเมืองที่สะอาดตั้งแต่สถานที่ต่าง ๆ จนถึงสังคมคนเมือง
KiNd Global ชวนสำรวจความสะอาดของสิงคโปร์ ประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ความสะอาดตั้งแต่สนามบินสู่เมืองสิงคโปร์
◆◇
หนึ่งในสนามบินที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าดีที่สุดคือ สนามบินชางงีของสิงคโปร์ ซึ่งได้รับรางวัลการันตีว่าเป็นสนามบินยอดเยี่ยมของโลกปี ค.ศ. 2020 จากการโหวตจากนักเดินทางทั่วโลกผ่านเว็บไซต์ของ Skytrax และหากนับย้อนกลับไปก็พบว่าสนามบินชางงีได้รับรางวัลดังกล่าวติดกัน 8 ปีซ้อน
สนามบินชางงีไม่เพียงเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเท่านั้น เพราะความสะอาดก็ได้มาตรฐานระดับโรงแรม มีอุปกรณ์ไฮเทคครบครัน และยังมีจุดชมวิวพิเศษที่สามารถมองเห็นรันเวย์และเครื่องบินที่จอดเทียบตัวอาคารได้อย่างชัดเจน
เหนือกว่าสิ่งอื่นใด หากคุณเดินทางออกจากสนามบินชางงีเพื่อเข้าตัวเมืองโดยคาดหวังว่าพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของสิงคโปร์จะเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดตาเช่นเดียวกับสนามบินคุณจะไม่ผิดหวังเลยแม้แต่น้อย โดยนิตยสารนิวยอร์กไทม์ส เคยให้คำนิยามว่า “…the city so clean that bubble gum is a controlled substance – เมืองสะอาดจนหมากฝรั่งกลายเป็นสิ่งห้ามนำเข้าประเทศ”
นอกจากนี้ ในสากลโลกสิงคโปร์ยังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่ามีถนนที่สมบูรณ์แบบ สะอาดสะอ้าน มีสวนสาธารณะที่ตกแต่งอย่างสวยงาม และไม่มีขยะมูลฝอยตามทางให้เกะกะสายตา
ความสะอาดที่หมายถึงความโปร่งใสของรัฐบาล
◆◇
อย่างไรก็ตาม หากไปถามชาวสิงคโปร์เรื่องความสะอาดของเมือง เชื่อว่าหลายคนน่าจะยอมรับว่าประเทศของตนสะอาดเป็นพิเศษ เพราะผู้นำได้ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อจัดหาและรักษาภาพลักษณ์ให้สิงคโปร์เป็นเมืองสะอาดต่อสาธารณชน
โดนัลด์ โลว์ นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะของสิงคโปร์ กล่าวว่า “ชื่อเสียงด้านความสะอาดของสิงคโปร์เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามส่งเสริม เดิมทีความสะอาดนั้นมีความหมาย 2 ประการ ได้แก่ ประการแรกคือความสะอาดด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนประการที่สองคือความสุจริตของรัฐบาลและสังคมที่ไม่ยอมให้มีการทุจริตเกิดขึ้น”
Photo Credit: Shawn Ang/ Unsplash
นับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราช ผู้นำสิงคโปร์ขณะนั้น ลี กวนยู ก็ได้ริเริ่มการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเติบโตที่ยั่งยืน โดยโครงการแรกคือ “เมืองแห่งสวน” (Garden City) ในปี ค.ศ. 1967 มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้สิงคโปร์ปกคลุมด้วยความเขียวขจีจากต้นไม้ และมีสภาพแวดล้อมที่สะอาด ต่อมาในปี ค.ศ. 1968 ได้มี “โครงการรณรงค์ความสะอาดแห่งสิงคโปร์” (Singapore Clean Campaign) ส่วนในปี ค.ศ. 1971 มีการออกกฎเกณฑ์ด้านมลพิษทางอากาศ ซึ่งบรรจุอยู่ใน “พระราชบัญญัติ อากาศสะอาด” (Clean Air Act) นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังตัดสินใจที่จะตั้งเขตอุตสาหกรรมให้อยู่ห่างจากตัวเมืองในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 70 และการบําบัดแม่น้ำสิงคโปร์ที่เต็มไปด้วยมลพิษจากการสัญจรทางน้ำให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสะอาดในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 80
เมืองสะอาดเพราะคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม
◆◇
ในทางปฏิบัติความสะอาดของสิงคโปร์หมายถึงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพ การจัดการด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกและโรคต่าง ๆ การจัดการแม่น้ำที่มีมลพิษอย่างหนักเป็นเวลานานนับสิบปี การปลูกต้นไม้ทั่วเกาะ และการเปลี่ยนจากผู้ค้าขายสตรีทฟู้ดตามข้างทางไปสู่ร้านค้าในศูนย์อาหารที่มีหลังคาเป็นระเบียบ รวมถึงการออกกฎหมายรณรงค์ด้านสุขอนามัยสาธารณะทั่วประเทศเพื่อดึงดูดให้พลเมืองสิงคโปร์เข้ามามีส่วนร่วม
Photo Credit: Larry Teo/ Unsplash
“การรักษาชุมชนให้สะอาดต้องอาศัยคนที่มีความรับผิดชอบ” ลี กวนยู ประกาศขณะริเริ่มโครงการ “Keep Singapore Clean” เมื่อปี ค.ศ. 1968 ซึ่งเป็นโครงการต่อต้านการทิ้งขยะประจำปี คำปราศรัยของลีกระตุ้นความรู้สึกแห่งความภาคภูมิใจให้ชาวสิงคโปร์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อสภาพแวดล้อมของเมืองดีขึ้น สิงคโปร์ก็ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยเช่นกัน ส่งผลให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยาวนานขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ปัจจุบันสิงคโปร์ติดอันดับต้น ๆ ของการสำรวจสภาพสังคมต่าง ๆ เช่น เมืองแห่งความปลอดภัยส่วนบุคคล และเมืองที่มีคุณภาพในด้านการครองชีพ ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในโลก
สาธารณสุขของสิงคโปร์ในสถานการณ์โควิด-19
◆◇
ในสถานการณ์โควิด-19 สิงคโปร์เป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าสามารถรับมือกับโรคระบาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกคำสั่งระงับการเดินทางเข้าประเทศสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายใหม่เพียงไม่กี่ราย และได้เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนแล้วโดยใช้วัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech และ Modernaโดยรัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันว่ามีแผนจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครบทุกคนภายในสิ้นปี ค.ศ. 2021
Photo Credit: Kirill Petropavlov/ Unsplash
ไท จี ชุง ผู้อำนวยการกองรักษาความสะอาดสาธารณะของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์เปิดเผยว่า “เราได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวิธีจัดการกับการฆ่าเชื้อโรคของโรคโควิด-19 ทั้งเทคนิคการฆ่าเชื้อโรค ขั้นตอนความปลอดภัยและการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ถูกต้องในการรับมือกับการระบาดของโรคติดต่อ”
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลให้ผู้นำของสิงคโปร์ต้องวางมาตรการเข้ม บังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากทุกครั้ง และเฝ้าติดตามผู้ที่เสี่ยงได้รับเชื้อไวรัส ซึ่งประชาชนตอบสนองมาตรการของรัฐบาลอย่างทันท่วงที
สิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถแก้ไขปัญหาบรรลุได้ตามแผนที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านความสะอาดของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 คือ การปลูกฝังค่านิยมกับประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญ ทั้งคุณค่าความสะอาดของสิ่งแวดล้อม เมือง และสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์สามารถบริหารจัดการคน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้
อ่านเรื่องราวของสิงคโปร์เพิ่มเติมได้ที่
- สิงคโปร์เมืองเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 66 ตารางเมตรต่อคน. https://kindconnext.com/kindcult/city-in-a-garden
- Fort Canning Park อดีตราชฐานต้องห้าม สู่ปอดสีเขียวใจกลางมหานครสิงคโปร์. https://kindconnext.com/kindcult/fort-canning-park
ที่มา
- Singapore’s endless pursuit of cleanliness. www.bbc.com/singapores-endless-pursuit-of-cleanliness
- Singapore Sustainable Blueprint 2015 (SSB2015). https://progreenecon.files.wordpress.com
- สิงคโปร์คุมโควิดได้ตามเป้าหมาย เล็งเปิดประเทศได้อีกครั้งภายในสิ้นปีนี้. www.thansettakij.com