Kind Global

Granny’s: แบรนด์เสื้อถักไหมพรมจากรัสเซีย ที่ว่าจ้างคุณยายให้มาทำเสื้อผ้า สุดพิเศษพร้อมส่งต่อความรักและการเอาใจใส่ เหมือนมีคุณยายอีกคนคอยดูแล


เมื่อคุณย่า-คุณยาย หรือ “บาบุชก้า” (Babushka) จากรัสเซียเปลี่ยนงานอดิเรกจากถักนิตติ้งธรรมดา ๆ ให้กลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญ พร้อมส่งมอบความรัก ความอบอุ่น ผ่านเส้นไหมพรมไปยังผู้ซื้อจากทั่วทุกมุมโลก

มาเรีย โลกินาวา (Maria Loginova, Мария Логинова ) อายุ 103 ปี ผู้ผ่านโลกมาแล้วหลายยุคสมัย ตั้งแต่การปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ 1917 สงครามกลางเมือง สงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงการประกาศใช้นโยบายเปเรสตรอยก้า (Perestroika, Перестро́йка) ของมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev, Михаи́л Горбачёв) ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่านโยบายนี้เป็นสาเหตุของการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเดอืนธันวาคมปี ค.ศ. 1991 แม้มาเรียจะมีอายุล่วงเลยมาถึงร้อยกว่าปี แต่เธอยังคงมีสุขภาพแข็งแรง ทำอะไรได้คล่องแคล่วไม่ต่างกับคนวัยหนุ่มสาว และกิจวัตรส่วนใหญ่ของเธอคือ ทำอาหารให้ครอบครัว ทำสวน ถักนิตติ้ง และเลี้ยงหลาน 


“ยายของฉันชอบทำสวนมาก ๆ ยายเลยใช้เวลาเกือบทั้งวันหมกตัวอยู่แต่ในสวน ปลูกมันฝรั่งบ้าง ขุดดินบ้าง เก็บวัชพืชบ้าง ไม่มีเวลามานั่งคิดถึงอดีตเท่าไหร่หรอกค่ะ” หลานสาวของมาเรียกล่าว และเมื่อไม่นานมานี้คุณยายมาเรียได้เข้าร่วมโปรเจกต์ Granny chic ซึ่งเป็นช่องทางการขายสินค้าแฮนด์เมดผ่านอินสตาแกรม @russiangrannies ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มอบโอกาสให้ผู้สูงอายุในรัสเซียที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป สามารถหารายได้เพิ่มเติมหลังจากเกษียณอายุการทำงาน

“ฉันแค่อยากจะทำอะไรดี ๆ เพื่อสังคมผู้สูงอายุ อย่างน้อยก็ทำให้ชีวิตวัยเกษียณของคุณยายฉันดีขึ้น”


โปรเจกต์ Granny chic ก่อตั้งโดย ยูเลีย อลีเยวา (Yulia Alieva, Юлия Алиева) หญิงสาวรัสเซียวัย 28 ปี อดีตพนักงานราชการในกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หลังจากที่เธอตัดสินใจลาออกในปี ค.ศ 2018 ก็ได้เริ่มทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการทำแบรนด์ Granny’s

“ฉันมักได้ยินคุณยายพูดบ่อย ๆ ว่าผู้หญิงเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ถึงความสามารถของเรา” ยูเลียกล่าวในนิตยสาร “Ogonyok” และคำพูดของคุณยายได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เธอจนถึงทุกวันนี้ เธอจึงตัดสินใจสร้างโปรเจกต์เพื่อผู้สูงอายุขึ้นมา โดยมีคุณยายเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญและคอยผลักดันเธออยู่เสมอ ซึ่ง Granny’s จะเป็นธุรกิจถักไหมพรมที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่เกษียณอายุ มาขายงานแฮนด์เมดทางช่องทางออนไลน์ แทนการตั้งขายตามท้องถนน หรือตามเมโทรเหมือนแต่ก่อน

ในการรวบรวมผู้สูงอายุที่ชื่นชอบการถักนิตติ้งจากทั่วทั้งรัสเซีย ยูเลียเห็นว่าควรสร้างเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา หลังจากนั้นเธอจึงเปิดบัญชีอินสตาแกรมในชื่อ @russiangrannies ตอนแรกมีคนรู้จักเพียงไม่กี่คน หลายคนก็มีความเคลือบแคลงใจด้วยซ้ำว่านี่อาจจะเป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงผู้สูงอายุ เพราะคงมีน้อยคนที่จะยอมให้ใช้ช่องทางของตัวเองมาขายงานแฮนด์เมดที่ได้กำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ยูเลียก็ไม่ท้อถอย ยังคงมุ่งมั่นทำโปรเจกต์ต่อไป ประจวบกับมีคุณยายท่านหนึ่งติดต่อมาเข้าร่วมโปรเจกต์ หลังจากใช้เวลาไม่นานคุณยายก็สามารถขายออร์เดอร์แรกได้สำเร็จ เลยเกิดเป็นการบอกต่อกันปากต่อปากว่านี่ไม่ใช่ธุรกิจหลอกลวง แต่สามารถสร้างรายได้ได้จริง ๆ โปรเจกต์ของเธอจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

“ฉันชอบถักนิตติ้งมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วล่ะ ฉันมักจะถักให้ตัวเอง พี่สาว และเพื่อน ๆ ของฉันอยู่เสมอ” เอเลนา เลโอนิโดฟนา (Elena Leonidovna, Елена Леонидовна) คุณยายรุ่นบุกเบิกโปรเจกต์กล่าว “ตอนนี้ฉันสามารถดูแลหลาน ๆ ได้แล้ว แน่นอนว่าในช่วงวัยของพวกเขาย่อมอยากได้นู่นอยากได้นี่เต็มไปหมด เมื่อฉันเข้าร่วมโปรเจกต์ของยูเลียเลยทำให้ฉันสามารถดูแลพวกเขาได้อย่างเต็มที่ นอกจากจะได้ทำในสิ่งที่ฉันรักแล้ว ยังสามารถนำสิ่งนี้มาดูแลหลาน ๆ ได้ด้วย” 


คำเตือน: ถ้าคิดว่าคุณยายจะถักนิตติ้งได้ไม่กี่แบบ คุณคิดผิดแล้วล่ะ เพราะคุณยายนักถักนิตติ้งของเรามีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมาก ๆ อีกทั้งยังสามารถสร้างสรรค์ลายใหม่ ๆ ออกมาได้เรื่อย ๆ อีกด้วย เมื่อเทียบกับแบรนด์ดังอย่าง Zara และ H&M แล้ว อิรีนา ครุชโควา (Irina Kryuchkova, Ирина Крючкова) ได้แต่ส่ายหน้า พร้อมกล่าวว่า “เส้นไหมพรมพวกนี้เป็นของสังเคราะห์ทั้งนั้น ดูไม่มีชีวิตชีวาเลยสักนิด ต่างกับงานถักนิตติ้งของเธอโดยสิ้นเชิง เพราะในการถักนิตติ้งทุกครั้ง เธอทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเพื่อสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด แม้ว่าแบรนด์ใหญ่ ๆ จะมีบางอย่างที่อาจจะดีกว่างานของเธอ แต่คุณคงไม่ได้รับความอบอุ่นใจเหมือนการสวมใส่งานที่ฉันถักแน่นอน”

น่ารัก อบอุ่น โดดเด่นสะดุดตา

คำนิยามผลงานของเหล่าคุณย่า-คุณยายผู้เข้าร่วมโปรเจกต์ คำสั้น ๆ ที่สื่อความหมายออกมาได้อย่างชัดเจน ผ่านชิ้นงานคุณภาพที่พร้อมปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสเวตเตอร์ลวดลายแปลกตา จัมเปอร์สีนีออนสุดฮิป กระเป๋าสานสุดเก๋ หมวกคาโนเทียร์ หรือจะทำเป็น Patchwork โดยการนำผ้ามาตัดเป็นรูปร่างต่าง ๆ ที่ต้องการตามรูปทรงเรขาคณิต แล้วนำมาเย็บต่อ ๆ กันเป็นผ้าห่มผืนโตหรือผ้าปูโต๊ะก็ย่อมได้ 

ทุกชิ้นงานจะมีชื่อของผู้ถักอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ว่าคุณกำลังสวมใส่งานถักจากฝีมือคุณยายท่านใดในดินแดนหมีขาวแห่งนี้ ยูเลียกล่าวต่อว่า “ฉันอยากสร้างสังคมที่ผู้คนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ผ่านงานแฮนด์เมดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความเอาใจใส่ของบรรดาคุณย่า-คุณยายจากทั่วรัสเซีย”

ในวันนี้สมาชิกที่เข้าร่วมโปรเจกต์ Granny chic มีจำนวนมากถึง 137 คนแล้ว นอกจากนั้นยังมีคุณปู่-คุณตาผู้ชื่นชอบในการถักนิตติ้งเข้าร่วมโปรเจกต์อีก 4 คนด้วยกัน ซึ่งคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโปรเจกต์นี้มีเพียง 2 ข้อง่าย ๆ คือ ข้อหนึ่งต้องมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป หรือข้อสองต้องมีหลาน



Photo Credit: Russiangranies/ Instagram

ขอเพียงมีใจรักในงานนิตติ้งไม่ว่าจะเคยทำอาชีพไหนมาก่อนก็ไม่สำคัญ

ช่างถักนิตติ้งที่เข้าร่วมโปรเจกต์มีหลากหลายอาชีพ เรียกได้ว่ามีแทบทุกอาชีพก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร อาจารย์ ช่างยนต์ ซึ่งชิ้นงานของพวกเขาล้วนมีเอกลักษณ์และความพิเศษเฉพาะตัว แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตในอดีตของคุณตา คุณย

อาเซีย อะดอลฟอปนา (Asya Adolfovna, Ася Адольфовна) วัย 78 ปี ผู้สืบเชื้อสายจากชาวเยอรมันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัสเซียช่วง ค.ศ. 1762 – 1796 สมัยการปกครองของพระนางแคทเธอรีนมหาราช (Catherine the Great) แต่ในปี ค.ศ. 1941 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์มีมติให้เนรเทศชาวโวลก้า-เยอรมันออกจากพื้นที่การปกครองโซเวียตทั้งหมด ซึ่งพ่อแม่ของเธอก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่โดนเนรเทศเช่นกัน ครอบครัวของเธอจึงได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานแถบเทือกเขาอูราล และชาวโวลก้า-เยอรมันอีกหลายล้านครัวเรือนต่างก็กระจายไปตั้งถิ่นฐานใหม่อีกหลายที่ เช่น ไซบีเรีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน ทำให้เธอเหมือนเกิดและเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมพิเศษ

หากคิดว่าเบื้องหลังชีวิตของคุณยายอาเซียน่าทึ่งแล้ว เราต้องบอกเลยว่า ยังมีเรื่องที่น่าทึ่งกว่านั้นอีกคือ เรื่องเล่าจากหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุกาณ์การปิดล้อมเลนินกราด (Siege of Leningrad) โดยกองทัพนาซี ที่ยาวนานถึง 872 วัน การปิดล้อมครั้งนี้เริ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวของรัสเซียที่อากาศหนาวเหน็บจนติดลบ เส้นทางภายนอกถูกตัดขาด ไม่ต้องพูดถึงอาหารที่นับวันจะเริ่มหมดลงไปเรื่อย ๆ ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 800,000 ราย 

คาลเลอร์เกีย ปาฟลอฟนา (Kalleria Pavlovna, Каллергия Павловна) วัย 82 ปี หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เธอยังจำได้ ต้องรีบอพยพออกจากเมืองโดยรถไฟให้เร็วที่สุด ขณะที่ท้องฟ้าก็เต็มไปด้วยระเบิดที่ตกลงมาไม่ต่างอะไรกับห่าฝน อาหารก็ขาดแคลน ไม่มีอะไรให้กินประทังชีวิตเลยสักอย่าง ท้ายที่สุดเลยต้องกินซุปที่ทำจากเปลือกมันฝรั่งและกระเทียม

“ฉันจำได้ว่ารสชาติมันดีมาก ๆ เมื่อเทียบกับหลายวันที่ไม่มีอะไรตกถึงท้องเราเลย” เธอเล่าในเพจ Granny’s “ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุในรัสเซียมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เงินบำนาญที่พวกเขาได้รับกลับไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ฉันอยากให้สังคมตระหนักถึงความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุมากกว่านี้ และเชื่อว่าการสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาจะช่วยให้ชีวิตของผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ยูเลียกล่าวปิดท้าย


ที่มา


เรื่องโดย