Kind Creations

“ช่างสัก” อาชีพนอกกรอบสังคมเกาหลีใต้ กับการออกมาเรียกร้องให้เข้ามาอยู่ในกรอบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย


Doy ช่างสักชาวเกาหลีใต้ผู้ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และระดับสากล หากนึกไม่ออกว่าเขาได้รับความนิยมขนาดไหนก็ลองจินตนาการถึง แบรด พิตต์ ซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูด ที่เอ่ยชื่อนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็คงมีแต่คนร้องอ๋อ เขาถึงขนาดยกพื้นที่บนผิวหนังให้ Doy ได้วาดลวดลายลงไป นอกจากนี้ยังมีหนึ่งในสมาชิกวงเคป็อปอย่าง EXO ก็ได้กลายมาเป็นลูกค้าคนสำคัญเช่นกัน

แต่การสักในแดนกิมจิแห่งนี้กลับมีเรื่องราวที่ละเอียดอ่อนซ่อนอยู่ แม้ว่าการสักจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่การประกอบอาชีพช่างสักของเขา อาจนำมาสู่การถูกจำคุก เนื่องจากในเกาหลีใต้การสักจะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ตอนนี้ Doy กำลังรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายที่เป็นตัวสะท้อนว่าการสักในเกาหลีใต้จะต้องเป็นคนชายขอบทางสังคมเท่านั้น เนื่องจากในอดีตการมีรอยสักเป็นตัวสะท้อนว่าบุคคลนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมในประเทศ


แม้ว่าการสักลายลงบนผิวหนังในเกาหลีใต้จะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่กฎหมายก็มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปกว่านั้นว่า ผู้ที่ให้บริการสักจะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีคุณสมบัติครบถ้วนเท่านั้นถึงจะกระทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องถูกจำคุกเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี  

แต่ Doy เห็นว่า กฎหมายที่กำหนดขึ้นมามันล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีมานี้กระแสการสักได้เป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ศิลปินดารา นักร้องเคป๊อป นักกีฬา และคนในวงการอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีฐานแฟนคลับที่แน่นหนา


อาชีพของ Doy ได้กลายมาเป็นตัวสะท้อนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ ซึ่งหากดูจากจำนวนผู้ติดตามในอินตาแกรมของเขาเกือบ 500,000 คน เพียงเท่านี้ก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ฝีมือของเขาเป็นที่ยอมรับมากขนาดไหน

เมื่อถามถึงแบรด พิตต์ ซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูด เขาปฏิเสธที่จะตอบคำถามเหล่านี้ เพราะต้องการรักษาความลับของลูกค้า ชื่อเสียงของ Doy เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยผลงานการออกแบบลายสักของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะที่หาจับตัวได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น ลายนก ครัวซองต์ ไปจนถึงนักกายกรรม ที่เขาได้บรรจงใส่รายละเอียดและสีสันที่ซับซ้อนลงไปในลายสักทุกครั้ง

“ตอนที่ผมเดินทางกลับบ้านหลังจากสักให้แบรดเสร็จ ผมไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกนี้ยังไง มีเพียงความรู้สึกภาคภูมิใจที่เอ่อล้นออกมา” Doy ในวัย 40 ปี กล่าวกับสำนักข่าว AFP

“แต่เมื่อผมเดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติอินชอน ความรู้สึกภูมิใจทั้งหมดก็ถูกแทนที่ด้วยความกังวลว่าพวกเขาจะตรวจเจอเครื่องมือสักที่ซ่อนตัวอย่างสงบอยู่ในกระเป๋าผม”

Doy มีชื่อจริงว่า Kim Do-yoon กล่าวว่า “สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ช่างสักกว่า 20,000 ราย เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี และอาจถูกสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกลูกค้าผู้ไม่ประสงค์ดีหรือไม่พอใจกลับมาแบล็กเมล์พวกเขาในภายหลัง”

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเขาได้ก่อตั้งสหภาพช่างสักแห่งแรกของประเทศ และได้ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองการสักจากผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแพทย์โดยให้สามารถประกอบอาชีพนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่หลังจากที่ Doy ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้เกิดกระแสขึ้นในสังคม สื่อต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจกิจกรรมสหภาพแรงงานของเขา แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาต้องเผชิญกับการถูกยื่นหนังสือร้องเรียนทางอาญาจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม และตอนนี้เขาต้องตกอยู่ภายใต้การสอบสวนของตำรวจ

“ผมรู้สึกแย่มาก ที่ต้องถูกสอบสวน” เขากล่าว แต่เรื่องนี้ไม่ได้หยุดความตั้งใจของเขาแต่อย่างใด เขากลับรู้สึกว่า “ผมต้องทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้” 

“ถ้าคุณไม่สนใจสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ ในอนาคตมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”


ช่างสักอาชีพอาชีพที่ผิดกฎหมาย

สมาคมการสักแห่งเกาหลี ซึ่งเป็นองค์กรแยกต่างหากจากสหภาพช่างสักของ Doy ได้ประเมินว่ามีผู้ประกอบการอย่างน้อยหนึ่งล้านรายที่สักลายจากช่างเถื่อน ขณะที่อุตสาหกรรมนี้กลับมีมูลค่าในตลาดสูงถึง 2 แสนล้านวอนต่อปี หรือประมาณ 5,277 ล้านบาท

ช่างเสริมสวยกว่า 200,000 คน ที่ใช้เทคนิคการแต่งหน้าถาวร เช่น การสักปาก สักคิ้ว ก็นับว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายเช่นกัน ซึ่งในสังคมเกาหลีมองว่ารอยสักให้ความหมายในเชิงลบและเป็นสัญลักษณ์ของชาวแก๊ง หากปรากฎภาพรอยสักอยู่ตามสื่อสาธารณะก็จะถูกเซนเซอร์ออกไปทั้งหมด 

ด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาคัดค้านการรับรองการสักอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่สหภาพช่างสักออกมาเรียกร้อง โดยกล่าวว่า “การกระทำเช่นนั้นจะเป็นอันตรายแก่ผู้รับบริการ เพราะหากได้รับการสักจากผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจนำไปสู่การติดเชื้อร้ายแรงหรืออาจเกิดอาการแพ้ได้” เจ้าหน้าที่ของสมาคมการแพทย์เกาหลีกล่าว

Doy กล่าวว่า สหภาพของเขามีแผนที่จะจัดทำหลักเกณฑ์ด้านสุขภาพสำหรับช่างสักเช่นกัน โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่สนับสนุนเหตุผลในการออกมาเรียกร้องของเขา

Photo credit: tattooist_doy/instagram


จากประสบการณ์ 14 ปีของเขาในวงการนี้ อีกทั้งยังได้ผ่านการสักลายให้ลูกค้ามาไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย เขาไม่เคยถูกฟ้องร้องหรือถูกร้องเรียนจากผู้รับบริการเลยแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งมีการร้องเรียนจากผู้ไม่ประสงค์ออกนามในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีช่างสักหลายรายสูญเสียรายได้หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่น่าเศร้าที่ช่างสักบางคนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงจากเหตุการณ์นี้ 

Kim Goang-seok ช่างสักวัย 54 ปี เล่าว่า “ตอนที่เขาไปสักเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ลูกค้าของผม 80 เปอร์เซ็นต์เป็นพวกชาวแก๊ง พวกเขามักให้ผมสักลายเสือไม่ก็ลายมังกรตัวใหญ่ ๆ ลงบนแผ่นหลัง”

Kim ถูกตัดสินโทษจากการสักทั้งหมดสามครั้งและเคยถูกจำคุกเป็นเวลาแปดเดือน แต่เรื่องเหล่านี้ไม่มีทางที่จะหยุดเขาได้ เขาจะไม่มีวันล้มเลิกการเป็นช่างสักโดยเด็ดขาด 

“ผมรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องทำเรื่องผิดกฎหมายมาโดยตลอด ตอนนี้ก็ยังรู้สึกไม่สบายใจอยู่ดี” Kim Goang-seok ผู้เป็นเจ้าของร้านสักไร้ป้าย ซึ่งเป็นร้านลับ ๆ ที่แทรกตัวอยู่ในเมืองอุลซานทางตอนใต้มานานกว่าสองทศวรรษกล่าว


ที่มา