เมื่อแฟชั่นในยุคปลายศตวรรษที่ 4 กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง การผสมผสานระหว่าง “ถุงเท้า” และ “รองเท้าแตะ” จึงออกมาเป็นค่านิยมกระแสหลักของชาวเยอรมัน แม้ครั้งหนึ่งจะเคยถูกวิจารณ์จากแฟชั่นกูรูว่า “น่าเกลียด” แต่พวกเขาก็ไม่ได้สนใจ ทว่าทุกวันนี้ถุงเท้ากับรองเท้าแตะ ได้ฝ่าฟันกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ จนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ความสบายของเท้าเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่คนทั่วโลกต้องการ!
__
ในอดีตการสวมถุงเท้ากับรองเท้าแตะ ถูกจัดให้อยู่ในหมวดการแต่งกายที่พลาดสุด ๆ อย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ และมักมีนักวิจารณ์ด้านแฟชั่นออกมาวิพากษ์อยู่เสมอ ๆ เช่น “ถ้าอากาศร้อนพอที่จะใส่รองเท้าแตะเดินออกมาข้างนอกได้ แล้วทำไมต้องสวมถุงเท้าลงไปอีกล่ะ?” นักวิจารณ์ A กล่าว และนักวิจารณ์ B ก็เสริมขึ้นมาว่า “เห็นด้วย ทำไมต้องใส่ถุงเท้ากับรองเท้าแตะ? มันไม่ได้กันน้ำหรืออะไรเลย ถ้าคุณเดินไปเหยียบน้ำ เท้าคุณก็เปียก ถ้าเผลอไปเหยียบโคลน เท้าคุณก็เละหมดน่ะสิ”
การออกมาวิพากษ์ของบรรดาแฟชั่นกูรูทั้งหลาย เป็นการประกาศออกมากลาย ๆ ว่า “เฮ้! พวกคุณ ๆ ทั้งหลาย เราไม่ยอมรับการใส่ถุงเท้าคู่กับรองเท้าแตะหรอกนะ ถอดถุงเท้าของคุณออกเถอะ!”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวเยอรมันหลายคนยังคงเลือกสวมใส่ถุงเท้าคู่กับรองเท้าแตะอยู่ดี แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสีย ๆ หาย ๆ ว่าทำไมต้องใส่ถุงเท้าสีขาวสุดเฉิ่ม คู่กับรองเท้าแตะสายหนังที่ล้าสมัยไปแล้วด้วย แต่ชาวเยอรมันก็ยังคงเป็นชาวเยอรมัน พวกเขาไม่สนใจเสียงวิจารณ์เหล่านี้ ไม่สนใจเทรนด์แฟชั่นว่าจะเป็นยังไง
เรียกง่าย ๆ คือไม่สนใจที่จะทำตามกระแสนั่นแหละ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ พวกเขาคิดแค่ว่า อยากดูแลทะนุถนอมเท้าของตัวเอง ให้อยู่ในสภาพดีที่สุดก็เท่านั้น และดูเหมือนว่านิสัยดังกล่าว จะถูกถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานเสียด้วยสิ ถึงขนาดที่ชาวเยอรมันบางคนเอ่ยปากออกมาว่า นี่คือนิสัยที่แสดงถึงตัวตนของเราได้ดีที่สุด
อย่างในการ์ตูนของ Miguel Fernandez นักเขียนการ์ตูนซีรีส์ That’s so German! เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวเยอรมัน ๆ ออกมาให้ชาวต่างชาติเข้าใจความเป็น “ชาวเยอรมันแท้ ๆ” สู่สายตาชาวโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ภาพเจ้าของกำลังพาสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดออกมาเดินเล่น โดยเจ้าสุนัขตัวนี้กำลังสวมถุงเท้าเทนนิสสีขาวกับรองเท้าสายหนังสำหรับเดินป่าอยู่ด้วย แม้ว่าจะเป็นมุกพื้น ๆ ที่คนผ่านมาเห็นคงแอบหัวเราะแห้ง ๆ ออกมาก็ตาม แต่ต้องยอมรับเลยว่า มุกนี้แสดงความเป็นเยอรมันออกมาได้ชัดเจนจริง ๆ
หรือจริง ๆ แล้วชาวเยอรมันคือ ผู้มาก่อนกาล…?
ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเรื่อง “ถุงเท้าและรองเท้าแตะ” ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก มีแค่ภาษาอังกฤษกับภาษาอื่น ๆ อีกสองสามภาษา แต่ไม่มีภาษาเยอรมัน ซึ่งจริง ๆ แล้วชาวเยอรมันสวมถุงเท้าคู่กับรองเท้าแตะมาตั้งแต่ในสมัยคณะทิวทอนิก (Teutonic Order) เพิ่งจัดตั้งราวปี ค.ศ. 1190 เลยด้วยซ้ำ
มีการหยิบยกหลักฐาน “การสวมถุงเท้าคู่กับรองเท้าแตะ” ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นเก่าแก่ที่สุด ผ่านทางโบราณสถานของโรมโบราณ ในนอร์ทยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษการวิเคราะห์ชิ้นส่วนของรองเท้าแตะพบว่า ชาวโรมันสวมถุงเท้าคู่กับรองเท้าแตะกันมาตั้งแต่สองพันปีที่แล้ว!
ถุงเท้าแบบโรมาโน-อียิปต์ บริเวณนิ้วโป้งจะมีขนาดใหญ่กว่านิ้วส่วนอื่น ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าคนโบราณออกแบบมาเพื่อสวมใส่กับรองเท้าแตะโดยเฉพาะ ถุงเท้าชิ้นนี้ถูกพบในระหว่างการสำรวจทางโบราณคดี จากสถานที่ฝังศพในอียิปต์ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 หรือประมาณในศตวรรษที่ 4-5 ปัจจุบันถุงเท้าชิ้นนี้ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum- V&A Museum) ในลอนดอน ตั้งแต่ปี 1900
ส่วนประเทศแถบเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น ก็ได้มีการสวมถุงเท้า หรือ “ทะบิ” (Tabi- 足袋) ใส่คู่กับรองเท้าแตะเช่นกัน โดย Birgit Haase นักประวัติศาสตร์แฟชั่นและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย HAW Hamburg กล่าวว่า ชาวญี่ปุ่นสวมทะบิคู่กับรองเท้าแตะมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 ซึ่งถุงเท้าแบบดั้งเดิมนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อสวมคู่กับรองเท้าเกี๊ยะโดยเฉพาะ และทะบิก็เป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายอย่างเป็นทางการ สำหรับพิธีชงชาอีกด้วย
photo credit: pinterest/ Ali-jo Vens
ถุงเท้าและรองเท้าแตะ: ความนิยมจากในอดีต
ขณะที่หลายประเทศค้นพบหลักฐานว่ามีการสวมถุงเท้ากับรองเท้าแตะปรากฏออกมามากมาย แต่ในเยอรมนีกลับไม่มีหลักฐานที่ปรากฏออกมาชัดเจน แม้ว่าชุดเลเดอร์โฮเซน (Lederhosen) หรือชุดกางเกงหนังขาสามส่วน ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองของชาวเยอรมัน จะเผยให้เห็นถุงเท้าที่สูงขึ้นมาถึงเข่าของผู้ชายชาวเยอรมันเลยก็ตาม แต่ก็ยังหาหลักฐานไม่พบว่า ชาวเยอรมันสวมถุงเท้าคู่กับรองเท้าแตะมาตั้งแต่ช่วงเวลาใดกันแน่
Lena Sämann หัวหน้าแผนกแฟชั่นของ Vogue เยอรมนี กล่าวถึงนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันกับสำนักข่าว Deutsche Welle (DW) ว่า “พวกเขามักจะปีนเขาโดยสวมถุงเท้าเทนนิสกับรองเท้าแตะ และยังชอบเดินป่าด้วยรองเท้าแตะอีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ก็ทำให้ชาวยุโรปตอนใต้ประหลาดใจไม่น้อย”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวเยอรมันเป็นนักเดินทางอันดับต้น ๆ ของโลก แต่พวกเขายังคงต้องการความสะดวกสบายและอยากจะทำทุกที่ให้ “รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน” ขณะกำลังเดินทางท่องเที่ยว
ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมชาวเยอรมันมักนำถุงเท้าพกใส่กระเป๋าเดินทางไปด้วย เพราะพวกเขารู้สึกว่า อย่างน้อย ๆ ถุงเท้าก็เหมือนกับรองเท้าสลิปเปอร์ที่พวกเขาสวมใส่เวลาอยู่บ้าน Sämann กล่าว “ชาวเยอรมันมักจะเตรียมความพร้อมรับมือกับทุก ๆ สถานการณ์อยู่เสมอ ซึ่งการสวมถุงเท้าขณะท่องเที่ยวหรือเดินป่า อาจจะช่วยให้เท้าของพวกเขาได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุดอีกทางหนึ่ง” เธอกล่าวเสริม
Birgit Haase นักประวัติศาสตร์แฟชั่น กล่าวถึงเหตุผลอื่น ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากความสะดวกสบายของการเดินทางว่า
“การสวมถุงเท้าขณะเดินทางจะช่วยดูดซับเหงื่อจากฝ่าเท้าของพวกเขาได้ ซึ่งมันไม่ได้ไร้ประโยชน์เหมือนอย่างที่กูรูหลาย ๆ คน ออกมาวิจารณ์”
รองเท้าแตะ: กระแสวัฒนธรรมสุดแกร่ง (?)
แม้จะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า การสวมถุงเท้าคู่กับรองเท้าแตะเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ตอนไหน แต่สำหรับชาวเยอรมันแล้ว พวกเขาคุ้นเคยกับการสวมรองเท้าแตะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774
เมื่อ Johann Adam Birkenstock ช่างทำรองเท้าชาวเยอรมัน ก่อตั้งธุรกิจของครอบครัว โดยใช้ชื่อว่า “Birkenstock” จนถึงปัจจุบันรองเท้าแตะอายุเกือบสามศตวรรษนี้ก็ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย!
แต่รองเท้าพื้นไม้ก๊อกที่นิยมใส่กันในปัจจุบันนั้น เป็นรุ่นที่ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็นรุ่นที่พัฒนาขึ้นมาจากปี ค.ศ. 1945 ส่วนคนที่เผยแพร่ความสะดวกสบายของการสวมใส่รองเท้าแตะนั้น ต้องยกความดีความชอบให้ Margot Fraser นักออกแบบชาวเยอรมัน-อเมริกัน ขณะที่เธอไปทำสปาที่ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1966 และพบว่า รองเท้าที่ร้านสปาจัดไว้ให้นั้น ใส่สบายกว่ารองเท้าทั่วไปอยู่มาก นับแต่วันนั้น เธอจึงได้นำรองเท้าแตะไปวางขายที่แคลิฟอร์เนียในช่วงปี 1960 และได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากเหล่าฮิปปี้
ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1980 Margot Fraser ได้เปลี่ยนแบรนด์รองเท้าแตะธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นธุรกิจมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ยังคงนิยมสวมถุงเท้าคู่กับรองเท้าแตะอยู่เสมอ โดยการใช้ชีวิต “สบาย ๆ” ของชาวอเมริกันฝั่งตะวันตก ได้ถูกนำมาล้อเลียนผ่านตัวละคร ในทีวีซีรีส์ “Portlandia” อีกทั้งยังถูกนำมาสร้างเป็นมีมอีกนับไม่ถ้วน เพราะชาวอเมริกันฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต่างกันสุดขั้ว ทำให้อเมริกันชนทั้งหลายสามารถแยกได้ทันทีว่า พวกเขาเป็นอเมริกันตะวันออกหรือตะวันตก ผ่านรูปแบบการใช้ชีวิต และการใส่รองเท้าแตะกับถุงเท้าก็เป็นหนึ่งใน “สิ่งบ่งชี้” ว่าพวกเขามาจากฝั่งตะวันตก
นอกจากนี้ยังมีรองเท้าเพื่อสุขภาพของเยอรมันอีกแบรนด์หนึ่ง ที่นำไม้ก๊อกมาทำพื้นรองเท้าเช่นกันคือ Wörishofer ซึ่งถูกคิดค้นในช่วงปีค.ศ. 1940 ที่ Bad Wörishofen เมืองแห่งสปาในเขต Unterallgäu รัฐบาวาเรีย โดยเริ่มเป็นที่รู้จักในปี ค.ศ. 2010 หลังจากดาราฮอลลีวูด Kirsten Dunst และ Maggie Gyllenhaal กำลังสวมรองเท้าแตะเดินเล่นอยู่ หลังจากนั้นไม่นานรองเท้าแตะแบรนด์ Wörishofer ก็ถูกจัดอยู่ในลิสต์แฟชั่นที่ “น่าเกลียด” ตาม Birkenstock, Crocs และ Ugg ไปติด ๆ
ขณะเดียวกันรองเท้าสัญชาติเยอรมันแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Adidas ก็ได้เข้าสู่วงการรองเท้าแตะ โดยเริ่มผลิตรองเท้าแตะรุ่น Adilette ขึ้นในปี ค.ศ. 1963 หลังจากที่นักกีฬาส่งคำร้องขอว่า อยากจะมีรองเท้าสำหรับสวมใส่ในห้องล็อกเกอร์และห้องอาบน้ำ ทาง Adidas จึงได้ผลิตรองเท้าแตะแบบสลิปออน โดยตัวพื้นรองเท้าทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ พร้อมแถบคาดสามเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้คนก็เริ่มนิยมสวมใส่รองเท้าแตะกันมากขึ้น และมักจะสวมถุงเท้าคู่กันเสมอ
Photo credit: wikipedia/socks and sandals
ยุครุ่งเรืองของรองเท้าแตะ
หากคุณมาที่เบอร์ลินตอนนี้ คุณจะเห็นผู้คนสวมใส่รองเท้าแตะกันทั่วบ้านทั่วเมือง เหมือนกับเห็นคนจากยุคเก่า ๆ กำลังเดินเล่นอยู่ตามท้องถนน
“และลักษณะการแต่งกายที่คุณจะเห็นบ่อย ๆ คือ กางเกงขาสั้น หมวกตกปลา ถุงเท้าเทนนิส และรองเท้าแตะเดินป่า” Sämann จาก Vogue เยอรมนีกล่าว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ นิตยสารแฟชั่นจำนวนนับไม่ถ้วน ได้ตีพิมพ์ค่านิยมจากในอดีต ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกูรูแฟชั่นออกมาวิจารณ์ว่า “น่าเกลียด” ปัจจุบันถูกนำกลับมาพลิกโฉมใหม่อีกครั้งว่า “นี่คือหนึ่งในแฟชั่นที่ต้องทำตาม” ซึ่งการกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งของถุงเท้าและรองเท้าแตะ ทำให้ดีไซเนอร์ชื่อดังหลาย ๆ แบรนด์ ต่างภูมิใจนำเสนอ ถุงเท้าราคาแพงให้คุณสวมใส่ นอกจากให้ความอบอุ่นแล้ว ยังช่วยปกปิดนิ้วเท้า และเพิ่มความสุภาพในการแต่งกายของคุณไปพร้อมกัน
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา หลาย ๆ แบรนด์ชั้นนำอย่าง Miu Miu, Wood Wood และ Vetements ได้นำถุงเท้าและรองเท้าแตะขึ้นสู่รันเวย์ระดับโลก โดยพวกเขามองว่า ความนิยมดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้นในกลุ่มฮิปสเตอร์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึง “ความเท่แบบไม่ตั้งใจ” เพื่อให้การแต่งกายไม่ดูจงใจมากจนเกินไป
ขณะที่เหล่าคนดังนับไม่ถ้วนต่างคีบรองเท้าแตะออกมาอวดโฉมกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ Justin Bieber นักร้องชาวแคนาดา, Tyler the Creator แร็ปเปอร์และดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน, Mary-Kate และ Ashley Olsen อดีตนักแสดงเด็กแฝดชาวอเมริกัน ปัจจุบันผันตัวเข้าสู่วงการแฟชั่นดีไซเนอร์อย่างเต็มรูปแบบ ไปจนถึง M.I.A. ศิลปินชาวอังกฤษเชื้อสายทมิฬ
Photo credit: pinterest/ Ali-jo vens
ทางสำนักข่าว DW ได้รายงานเพิ่มเติมว่า ชาวเยอรมันไม่ได้สนใจกระแสแฟชั่นที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอยู่เสมอนี้เลยแม้แต่น้อย พวกเขาเพียงแค่เฝ้ามองผู้คนถกเถียงประเด็นนี้อยู่ไกล ๆ ไม่ได้ต้องการกระโดดร่วมวงสนทนานี้แต่อย่างใด
ท้ายที่สุดแล้ว คำจำกัดความของคำว่า “แฟชั่น” ก็ยังคงไม่มีอะไรที่เป็นตัวกำหนดตีกรอบอย่างชัดเจน ว่าสิ่งที่สวมใส่บนร่างกายนั้น เป็นที่สิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
แต่อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ยุคสมัยที่หมุนเวียนมาบรรจบอีกครั้งของแฟชั่นยุคโบราณ “ถุงเท้าและรองเท้าแตะ” ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกวิจารณ์อย่างหนัก ทำไมผู้คนในยุคปัจจุบัน และแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลก จึงเลือกหยิบแฟชั่นชิ้นนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากผู้คนทั่วโลกอีกด้วย
ที่มา
- Elizabeth Grenier. Germans, socks and sandals: An exploration of the cliche. www.dw.com
- Katherine J. Wu. 1,700-Year-Old Sock Spins Yarn About Ancient Egyptian Fashion. www.smithsonianmag.com