อักษรภาพที่ทำให้หวนนึกถึงอักษรอียิปต์โบราณแห่งอดีตกาล แสดงให้เห็นว่ายุคต่าง ๆ ในแต่ละศตวรรษกำลังเชื่อมถึงกัน
“Emoji” หรือ “อิโมจิ” เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่เป็นการผสมคำระหว่างคำว่า E (絵) หมายถึง รูปภาพ และ Moji (文字) หมายถึง ตัวอักษร รวมเป็นอักษรภาพ ไม่ว่าจะเป็นหน้ายิ้ม หน้าร้องไห้ หรือรูปหัวใจ ไอคอนจำนวนหลากหลายนี้ ในทุก ๆ วันจะถูกใช้เพื่อส่งข้อความทางสมาร์ทโฟนผ่านแฟลตฟอร์มต่าง ๆ
ปัจจุบันอิโมจิได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้คนทั่วโลก โดยถูกสร้างขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เริ่มต้นปรากฎบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือเล็ก ๆ แล้วขยายไปสู่การสื่อสารระดับโลก ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจนมีจำนวนมากกว่า 3,000 ตัว ทั้งนี้อิโมจิได้ถูกจัดอันดับให้กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสมัยนิยมอันทรงพลังมายาวนานหลายทศวรรษ เพราะไม่ว่าชาติใดภาษาไหนก็ล้วนแต่สื่อสารกันผ่านอีโมจิทั้งนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “อิโมจิ” ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารแห่งศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว
จุดกำเนิดที่เกิดจากข้อจำกัด
ใครจะไปรู้ว่าข้อจำกัดทางเทคโนโลยีนั้นแหละ ที่ทำให้มนุษย์เรายิ่งพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี
เรื่องราวจุดกำเนิดของ “Emoji” เริ่มต้นขึ้นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปี 1998 เมื่อโทรศัพท์มือถือกลายเป็นของใช้ทั่วไปของคนญี่ปุ่น ในเวลานั้นผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่สุด (บริษัท NTT Docomo) จึงได้พัฒนาโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต และ “ชิเงตากะ คุริตะ” (Shigetaka Kurita) หนึ่งในสมาชิกของทีมพัฒนาระบบมือถือ เขาเป็นผู้รับผิดชอบฟังก์ชั่นการส่งข้อความในมือถือ ซึ่งเป็นฟีเจอร์หลัก โดยคุริตะเกิดความคิดที่จะพัฒนาระบบการส่งข้อความที่ต่อยอดมาจากการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องใช้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์มาสู่การส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่หน้าจอโทรศัพท์มือถือที่นิยม ณ ขณะนั้นมีขนาดเล็ก สามารถแสดงตัวอักษรได้ทั้งหมดเพียง 48 ตัวเท่านั้น นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่เขาและทีมงานต้องก้าวข้ามให้ได้
จากนั้นคุริตะจึงได้นำโปรเจกต์การทำ “อิโมจิ” ไปเสนอกับทีมเพื่อพัฒนาฟังก์ชั่นการส่งข้อความ ทว่าการใช้อิโมจิยังมีข้อจำกัดเรื่องพิกเซล เนื่องจากหน้าจอ LCD นั้นประกอบด้วยพิกเซล และเพื่อให้หน้าจอแสดงตัวอักษร 48 ตัวได้ ต้องใช้พิกเซลจำนวน 12×12 ซึ่งเท่ากับ 144 พิกเซล จากนั้นเขาจึงนำกระดาษกราฟมาออกแบบวาดอิโมจิในตารางขนาด 144 ช่อง ซึ่งไอคอนแรกที่เขาวาดก็คือ “หัวใจ” ต่อจากนั้นเขาจึงคิดเพิ่มเติมเป็นอิโมจิสีหน้าของมนุษย์ เช่น หน้ายิ้ม หน้าร้องไห้ เพราะไอคอนสีหน้าพวกนี้ ทำให้เราสามารถส่งต่อความรู้สึกได้ในเพียงไอคอนเดียว นอกจากนี้ยังพิมพ์ง่าย และเข้าใจง่าย จนท้ายที่สุดเขาก็สามารถคิดอิโมจิได้ถึง 176 ตัวภายในเวลา 1 เดือน
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1999 บริษัทฯ จึงประกาศใช้ฟีเจอร์อิโมจิ และไม่นานก็มีการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งในปี 2010 อีโมจิได้ปรากฎอยู่ในสมาร์ทโฟน เติบโตแพร่หลายไปทั่วโลก พร้อม ๆ กับมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น ขยับได้ มีเสียงได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในเมืองนิวยอร์ก (Museum of Modern Art: MoMA) ยังได้จัดแสดงอิโมจิชุดแรก ๆ ที่คิดค้นขึ้นในญี่ปุ่น โดยจัดแสดงกว่า 176 ตัว ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยอิโมจิชุดนี้เป็นผลงานจัดแสดงถาวรของพิพิธภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการยกย่องในฐานะ DNA ต้นกำเนิดของอิโมจิในปัจจุบัน
เมื่อวงการธุรกิจใช้ “อิโมจิ” ส่งเสริมการตลาด
การใช้อิโมจิจะทำให้ลูกค้ารู้สึกใกล้ชิดและคุ้นเคย เหมือนเป็นการส่งข้อความพูดคุยกับเพื่อนและญาติ
“Emoji เป็นตัวช่วยกำหนดน้ำเสียงของข้อความที่ถูกส่งไปทางสมาร์ทโฟน นอกจากนั้นมันยังมีนัยถึงท่าทาง สีหน้า และอวัจนะภาษาต่าง ๆ ในการสื่อสารระหว่างบุคคล” – นักวารสารมืออาชีพจาก New York University –
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือมีมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้นักการตลาดส่วนใหญ่หันมาสนใจทำการตลาดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Marketing) เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น การใช้อิโมจิเพื่อทำการตลาดจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก สำหรับนักการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Chevy, Domino’s และ Budweiser ต่างใช้อิโมจิในการสื่อสารกับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นบนแฟลตฟอร์มทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้อิโมจิยังถูกบรรจุเข้าไปในแป้นพิมพ์ของมือถือส่วนหนึ่ง ทำให้การใช้อิโมจินั้นง่ายขึ้นกว่าในอดีต ยกตัวอย่างแคมเปญเด่น ๆ ในการใช้อิโมจิ อาทิ Domino’s Pizza ใช้การส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ด้วยอิโมจิเพียงอย่างเดียว โดยให้ลูกค้าส่งอีโมจิรูปพิซซ่ามา 🍕 ก็สามารถสั่งพิซซ่าได้อย่างทันใจ และ โรงแรม Aloft เลือกส่งรายการอิโมจิมาให้ลูกค้า หากลูกค้าอยากเรียกใช้บริการอะไร ไม่จำเป็นต้องโทรหาที่ล็อบบี้ เพียงแค่พิมพ์อิโมจิตามที่กำหนด ก็สามารถได้รับบริการตามที่ต้องการได้ทันที 🍽
การทำอิโมจินั้นสามารถสร้างกระแสได้มากมาย เช่น ทวิตเตอร์นั้นได้สร้างอิโมจิหลาย ๆ ประเภทไว้ เพื่อใช้ในโอกาสวาระต่าง ๆ และคนก็นิยมร่วมกิจกรรมด้วยจำนวนมาก เช่น อิโมจิเป็นตัวละครเรื่องสตาร์ วอร์ส (Star wars) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาของภาพยนตร์ เป็นต้น
Adobe Emoji Trend Report 2019 ได้รายงานผลวิเคราะห์จากการศึกษาผู้ใช้งานอิโมจิ 1,000 คน ช่วงอายุ 16-73 ปี ในสหรัฐอเมริกา พบว่ากว่า 51% บอกว่าชอบแบรนด์ที่ใช้ อิโมจิที่เข้ากับลักษณะนิสัยของพวกเขา และมีแนวโน้มจะมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์มากขึ้น อิโมจิไม่เพียงกระตุ้นให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ยังจูงใจให้ซื้อสินค้าได้ด้วย โดยผู้เข้าร่วมวิจัยกว่า 44% กล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มจะซื้อสินค้าของแบรนด์ที่ใช้อิโมจิในการโฆษณาและสนทนาด้วยมากกว่า
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีธุรกิจห้างร้านจำนวนมากที่ใช้ “ภาษาอิโมจิ” มาเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าและบริการของตนมากยิ่งขึ้น จนไม่น่าเชื่อว่าอิโมจิเล็ก ๆ นี้จะส่งผลต่อธุรกิจได้อย่างดีทีเดียว
3 อิโมจิตัวท็อป ที่นิยมใช้ในแอปฯ ยอดฮิต
เคยมั้ย… บางครั้งไม่รู้จะพิมพ์ข้อความอะไร การส่งอิโมจิกลับเป็นการสื่อความหมายได้ดีกว่า
“ใช้ค่อนข้างบ่อยค่ะ ตอนที่รู้สึกชอบเรื่องที่กำลังคุยอยู่ ฉันจะใช้อิโมจิที่มีตาเป็นรูปหัวใจ 😍”
– ข้อมูลบทสัมภาษณ์ผู้คนในญี่ปุ่นจาก NHK World –
“ใช้เวลาอยากแบ่งปันความรู้สึกค่ะ ฉันอยากใช้อิโมจิ หน้าร้องไห้ ตอนที่อยากแสดงความซาบซึ้ง 😭”
ปัจจุบันจำนวนประชากรทุกวัยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สัดส่วนกว่า 80% ทำให้ทุกวันนี้แพลตฟอร์มออนไลน์ (Social Media Platform) กลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนใช้เวลาอยู่ด้วยนานที่สุด วันนี้เราเลือกมา 3 แพลตฟอร์มยอดนิยมกับผลสำรวจการใช้อิโมจิในแต่ละปี จะเป็นอย่างไรไปดูกัน
จากผลการสำรวจของ The Unicode Consortium พบว่า อิโมจิ 3 อันดับที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ในปี 2018 ได้แก่
อันดับที่ 1 คือ 😂 หัวเราะทั้งน้ำตา
อันดับที่ 2 คือ ❤️ หัวใจสีแดง
อันดับที่ 3 คือ ♻️ รีไซเคิล
ส่วนในแพลตฟอร์มอินสตาแกรม หนึ่งในแอปพลิเคชั่นยอดนิยม จากผลสำรวจในปี 2016 พบว่า อิโมจิที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 คือ ❤️ หัวใจสีแดง
อันดับที่ 2 คือ 😍 หน้ายิ้มพร้อมตารูปหัวใจ
อันดับที่ 3 คือ 😘 หน้าส่งจูบ
ปิดท้ายกันที่แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ซึ่งในแต่ละวันมีผู้ใช้อิโมจิเฉลี่ยถึงวันละ 60 ล้านครั้ง โดย Mark Zuckerberg ได้โพสต์ภาพเผยไว้ถึง 10 อันดับ สำหรับอิโมจิที่มีคนใช้บนเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก แต่เราขอหยิบยกกันมาเพียง 3 อันดับ ผลปรากฏว่า
อันดับที่ 1 คือ 😂 หัวเราะทั้งน้ำตา
อันดับที่ 2 คือ 😍 หน้ายิ้มพร้อมตารูปหัวใจ
อันดับที่ 3 คือ 😘 หน้าส่งจูบ
วิวัฒนาการของอักษรภาพตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าโลกของเรามีการคิดค้นเรื่องการสื่อสารตลอดเวลา ด้วยแพลตฟอร์มที่แตกต่างตามยุคสมัย และในอนาคตข้างหน้านั้น “ภาษารูปภาพ” จะพัฒนาไปในรูปแบบใด ถือเป็นเรื่องท้าทายที่ชวนให้ติดตาม
อ้างอิง
- NHK World. อิโมจิสุดยอดนวัตกรรมของญี่ปุ่น Japan’s Top Invention. www3.nhk.or.jp
- Emoji ภาษาแห่งศตวรรษที่ 21. www.whatphone.net
- Which are the world’s most popular emojis?. www.weforum.org
- What Are the Most Popular Emojis Used on Social Media?. www.lifewire.com
- 3 เหตุผลที่แบรนด์ควรเริ่มลองใช้ Emojis มัดใจผู้บริโภคได้แล้ว. www.marketingoops.com