Kind Words

5 วัฒนธรรม “การเสี่ยงทาย” แม่นแค่ไหนต้องลองเสี่ยง!


รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง… เรื่องเสี่ยง ๆ ที่เรากำลังจะพูดถึงกันในวันนี้ คือเรื่อง “การเสี่ยงทาย” ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด หรือต่อให้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปมากแค่ไหน แต่บางครั้งคนเราก็ยังต้องการที่พึ่งพิงทางใจโดยอาศัยการทำนายโชคชะตาอยู่ดี

…ว่าแต่การเสี่ยงทายจะมีรูปแบบและขั้นตอนอย่างไรบ้าง KiNd ชวนไปทำความรู้จักกับ “5 วัฒนธรรมการเสี่ยงทาย” ที่จะมาช่วยทำนายโชคชะตาของคุณ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ การเสี่ยงทายเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือความต้องการในสิ่งที่ปรารถนา จึงเป็นการสร้างกำลังใจที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์ไปแล้ว


1. เซียมซี เสียงเขย่ากระบอกไม้ไผ่ที่เรามักได้ยินในศาลเจ้าหรือวัดตามวัดวาอาราม คือหนึ่งในวัฒนธรรมการเสี่ยงทายยอดนิยมที่บอกได้เลยว่าแทบไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะนอกจากการไปทำบุญไหว้พระแล้ว กิจกรรมอีกหนึ่งอย่างที่หลายคนพลาดไม่ได้คือ “การเสี่ยงเซียมซี” นั่นเอง

เชื่อกันว่า การเสี่ยงเซียมซีมีต้นกำเนิดจากประเทศจีนมากว่าหนึ่งพันปีแล้ว  โดยนักปราชญ์ชาวจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1502-1822) ซึ่งคำว่า “เซียมซี” มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “เซียนซือ” ซึ่งหมายถึงผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ และมีความสามารถเหนือมนุษย์ธรรมดา ที่สามารถให้คุณหรือโทษแก่ผู้ใดก็ได้ บ้างก็ว่าน่าจะเป็นคำประสมระหว่างคำว่า “เซียน” แปลว่า ไม้ติ้วเสี่ยงทาย กับคำว่า “ซี” แปลว่า โคลง กลอน

ในประเทศไทย สันนิษฐานว่าเซียมซีได้เข้ามาพร้อมกับคนจีนที่เข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยสุโขทัย เกิดขึ้นครั้งแรกในศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี ต่อมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจนเข้ากับวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี เช่น การแปลความหมายของใบเซียมซีจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย ตลอดจนปรับแต่งเนื้อหาเป็นการอุปมาอุปมัย และการใช้โคลงหรือกลอนแบบไทยในการสื่อความหมาย

ส่วนวิธีการเสี่ยงเซียมซี เริ่มต้นด้วยการเขย่าภาชนะที่บรรจุหมายเลขที่เขียนไว้บนไม้ไผ่ที่เหลาเป็นซีก (คนส่วนใหญ่มักเรียกว่าไม้ติ้ว) เขย่าจนกว่าจะมีไม้หล่นลงมา ซึ่งไม้ที่หล่นลงมาแท่งแรกจะแสดงหมายเลข จากนั้นให้นำเลขที่ได้ไปตรวจสอบกับคำทำนาย โดยคำทำนายจะมีลักษณะเป็นกลอนซึ่งมีสัมผัสคล้องจองไพเราะ เชื่อกันว่าหากใบเซียมซีสื่อความหมายที่ดีให้กับชีวิตของผู้เสี่ยงทายให้เก็บใบเซียมซีนั้นไว้ติดตัว ทว่าหากมีความหมายที่ไม่ดีให้ฝากไว้ที่วัดนั้นเสีย สำหรับวัดดังที่ผู้คนนิยมไปเสี่ยงเซียมซี อาทิ วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) และวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร

2. ปัวะโป้ย อีกหนึ่งวัฒนธรรมการเสี่ยงทายที่มักจะวางเคียงคู่มากับเซียมซีตามแท่นบูชาในศาลเจ้า “ปัวะโป้ย” หรือบางคนเรียกสั้น ๆ ว่า “โป้ย” หมายถึง แท่งไม้ประกบคู่กัน โดยทั่วไปมีทั้งหมด 3 ลักษณะ คือ แบบที่หนึ่ง เป็นแบบรูปดวงจันทร์ครึ่งเสี้ยว แบบที่สอง เป็นรูปดวงจันทร์ครึ่งเสี้ยวตัดปลายข้างเดียวทั้งสองอัน ทำให้สามารถวางแบบตั้งตรงได้ แบบที่สาม เป็นข้อไม้ไผ่ผ่าซีกตัดหัวท้ายตรงข้อ ทั้งสามแบบมีลักษณะเหมือนกัน คือ ด้านหนึ่งแบนราบ อีกด้านหนึ่งโค้งนูน คล้ายกับเมล็ดถั่วผ่าซีก วัสดุที่ใช้ทำโป้ยในอดีตจะทำด้วยรากโคนกอไผ่


ในคติของลัทธิเต๋าเชื่อว่า โป้ยเป็นสัญลักษณ์แทนหยิน-หยาง ด้านโค้งนูนเป็นภาวะหยาง ส่วนด้านเกลี้ยงเรียบเป็นภาวะหยิน เมื่อเสี่ยงทายแล้วถ้าหากชิ้นหนึ่งคว่ำและชิ้นหนึ่งหงาย เรียกว่า “อิ้นโป้ย” หรือ “เส้งโป้ย” บ่งบอกถึงความสมดุลของสภาวะหยิน – หยาง ถือเป็นการตอบรับหรืออนุญาตในเรื่องที่อธิษฐานเสี่ยงทาย หากผลการทำนายออกมาเป็นหงาย – หงาย เรียกว่า “เฉ่วโป้ย” หมายถึง คำถามนั้นหรือคำอธิษฐานนั้นไม่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคำถามคลุมเครือหรือไม่ครอบคลุม และถ้าผลการทำนายออกมาเป็นคว่ำ – คว่ำ เรียกว่า “อิมโป้ย” หรือ “ข่าวโป้ย” หมายถึง ไม่ใช่ ไม่ได้ หรือไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ขั้นตอนในการใช้โป้ยนั้น อาจจะแตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น

3. คุกกี้เสี่ยงทาย “…เพราะยังไงก็ต้องเสี่ยง รักไม่รักก็ต้องเสี่ยง Come on Come on Come on Come on baby ให้คุกกี้ทำนายกัน” เกริ่นเข้าเรื่องด้วยเพลงคุกกี้เสี่ยงทายของ BNK48 ก่อนเลย แต่มากกว่าเพลงสนุก ๆ ที่หลายคนติดหู กลับมีที่มาที่น่าสนใจทีเดียว


“คุกกี้เสี่ยงทาย” หรือ “Fortune cookie” เรียกว่ามีที่มาจากหลากหลายแห่งมาก เพราะใคร ๆ ก็ต่างคิดว่าเจ้าขนมเสี่ยงทายนี้มาจากประเทศตัวเองกันทั้งนั้น สำหรับที่มาแรกว่ากันว่าคุกกี้เสี่ยงทาย เป็นที่รู้จักของชาวอเมริกันผ่านร้านอาหารจีน ขนาดที่ว่าใครไปกินอาหารจีนตามภัตตาคารจะต้องมีการแกะขนม เพื่ออ่านคำทำนายโชคชะตาข้างใน บ้างก็ทำเป็นคำมงคล หรือเลขมงคล จนบางคนนำไปตีเป็นเลขลอตเตอรี่เพื่อเสี่ยงโชคก็มี

ส่วนที่มาที่สอง เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น จากข้อมูลของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นชื่อ ยาสุโก นากามาชิ (Yasuko Nakamachi) ผู้ได้รับฉายาว่า “นักสืบคุกกี้” เนื่องจากเขาศึกษานิทานเรื่องเล่าต่าง ๆ มานานนับสิบปี ทำให้มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่า คุกกี้เสี่ยงทายเป็นสูตรขนมอบประจำตระกูลที่อาศัยอยู่ใกล้ศาลเจ้าชินโตในเมืองเกียวโต ซึ่งทำขนมที่เรียกว่า “สึจิอุระเซนเบะ” (Tsujiura senbei) เป็นขนมอบกรอบกินกับน้ำชา ที่มีรูปร่างเหมือนคุกกี้เสี่ยงทายนั่นเอง

บ้างก็ให้ข้อมูลว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุกกี้เสี่ยงทายแบบญี่ปุ่นเป็นที่นิยมมากในรัฐแถบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา กล่าวคืออาหารเย็นมักจะปิดท้ายด้วยคุกกี้เสี่ยงทายเสมอ แต่เนื่องจากในเวลานั้น ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่มีอาชีพทำอาหารและขนมแบบญี่ปุ่นถูกบังคับให้เข้าค่ายกักกัน จึงทำให้ขนมชนิดนี้หากินได้ยากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้พ่อค้าชาวจีนมองเห็นโอกาสทองจึงได้เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน กระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ขนมดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ และกลายเป็นตัวแทนการมีอยู่ของชาวจีนในอเมริกาไปโดยปริยาย


4. โยนเหรียญ การเสี่ยงทายโดยใช้เหรียญ ถือเป็นวัฒนธรรมการเสี่ยงทายสุดคลาสสิกที่มีความเป็นสากล เพราะเกือบทุกประเทศทั่วโลกต่างรู้จักเป็นอย่างดี โดยสันนิษฐานว่ากำเนิดขึ้นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล ซึ่งมีบันทึกว่า “ชาวลิเดียน” หรือ “the Lydians” เป็นผู้เริ่มทำพิธีดังกล่าวขึ้น โดยพวกเขาเชื่อว่าการตัดสินใจปัญหาที่ยาก ๆ ควรให้พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้กำหนด ดังนั้นจึงมีการคิดค้นวิธีด้วยการโยนเหรียญขึ้น และถามพระเจ้าว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ถ้าออกหัวแปลว่า “ใช่” แต่ถ้าออกก้อยแปลว่า “ไม่ใช่” นั่นเอง

ต่อมาในสมัยของจักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ ได้นำธรรมเนียมการโยนหัว – ก้อยมาใช้เช่นกัน เนื่องจากในเหรียญโรมันทุกเหรียญ ด้านหนึ่งจะมีภาพศีรษะของซีซาร์ปรากฏอยู่ เมื่อโยนเหรียญเสี่ยงทายแล้วเหรียญด้าน “หัว” จะกลายเป็นตัวตัดสินว่าใครถูกใครผิด ใครเป็นฝ่ายชนะ ทั้งยังเป็นตัวบ่งชี้คำตอบว่า “ใช่” จากพระผู้เป็นเจ้า นอกจากนี้ ประเทศจีนเองก็มีความเชื่อเรื่องการเสี่ยงทายโดยใช้เหรียญที่เรียกว่า “การเสี่ยงเหรียญอี้จิง” ซึ่งจะใช้เหรียญสำหรับพยากรณ์จำนวน 6 เหรียญด้วยกัน

5. ยกช้าง การยกช้างเสี่ยงทาย เป็นการเสี่ยงทายที่ไม่แตกต่างกับการโยนเหรียญเสี่ยงทาย เพราะเป็นคำถามแบบเดียวกันคือ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ซึ่งความจริงแล้วอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ในการเสี่ยงทายไม่จำเป็นต้องเป็นช้าง แต่สามารถใช้สิ่งของที่อยู่รอบตัว หาได้ง่ายแต่มีน้ำหนักพอสมควร ไม่หนักและไม่เบาจนเกินไป เช่น หิน


สำหรับการยกช้างเสี่ยงทายนั้น บางวัดอาจจะไม่มี เนื่องจากไม่ได้เป็นที่แพร่หลายเฉกเช่นเซียมซี ส่วนใหญ่เป็นการอธิษฐานเสี่ยงทายเรื่องความความสำเร็จ โดยมีวิธีดังนี้ ยกครั้งที่ 1 ตั้งจิตให้มั่น นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถามหรืออธิษฐานเรื่องที่อยากให้สำเร็จ ครั้งแรกถ้าสำเร็จให้ยกขึ้น ส่วนยกครั้งที่ 2 ถามหรืออธิษฐานหมือนเดิม ถ้าสำเร็จให้ยกไม่ขึ้น

สำหรับผู้หญิง ให้ใช้นิ้วนางยกนิ้วเดียว ส่วนผู้ชายใช้นิ้วก้อยยกนิ้วเดียว โดยเลือกข้างที่ถนัด นั่งคุกเข่าลงด้านข้างของตัวช้าง จากนั้นค่อย ๆ ยกขึ้น หากครั้งแรกยกขึ้น ครั้งที่สองไม่ขึ้น หมายถึง คำขอพรที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้จะเป็นจริง สำเร็จสมหวังตามที่ปรารถนา

วัฒนธรรมความเชื่อเรื่องการเสี่ยงทาย ถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปแล้ว เพราะสำหรับบางคน ในบางครั้งการตัดสินใจทำอะไรสักอย่างในชีวิตกลับเป็นเรื่องที่ยาก เพราะความรู้สึกไม่มั่นใจ การเสี่ยงทายจึงถือเป็นหนึ่งทางออกที่ช่วยสร้างกำลังใจที่ดีได้นั่นเอง



อ้างอิง


เรื่องโดย