Kind Journey

7 เมืองร้างที่เคยรุ่งเรือง ในดินแดนแห่งภูเขาน้ำแข็ง


อลาสกา (Alaska) ดินแดนขั้วโลกเหนือที่ปกคลุมด้วยหิมะน้ำแข็ง เมืองที่เคยเป็นแหล่งล่าทองของนักแสวงโชคในยุคหนึ่ง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ทำให้ดินแดนที่เคยเป็นที่ใฝ่ฝันของนักเสี่ยงโชค กลายเป็นเมืองร้างไร้ผู้คนตลอดกาล

KiNd Journal จะพาไปสำรวจและเปิดหน้าประวัติศาสตร์ว่า เหตุใดสถานที่ทั้ง 7 แห่งในดินแดนสุดขั้วโลกเหนือนี้ ถึงกลายเป็นเมืองร้างไร้ผู้คน หรือที่ถูกเรียกว่าเมืองผีสิง (Ghost Towns)

1

Portage Ghost Town
หมู่บ้านเหมืองแร่ที่แพ้ภัยธรรมชาติ


ตลอดช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1964 เหตุการณ์ทุกอย่างดำเนินไปโดยปกติ กระทั่งเวลา 17.36 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ริกเตอร์ ที่ใช้เวลาเพียง 4 นาที 38 วินาที สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับหมู่บ้านพาร์เทจ (Portage) ในเมืองวิตเทียร์ (Whittier) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแองเคอเรจ (Anchorage) เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐอลาสกา

แผ่นดินไหวครั้งนั้น นับเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงอันดับสองของโลกเท่าที่เคยบันทึกมา ทำให้พื้นที่บางแห่งของอลาสกาสูงขึ้นถึง 30 ฟุต และทำให้อาคารหลายหลังพังทลาย พบผู้เสียชีวิตทั้งหมด 139 ราย ผู้คนที่รอดชีวิตบรรยายถึงแผ่นดินไหวครั้งนั้นว่า “เหมือนกับการขึ้นลิฟต์ขณะที่ประตูเปิดอยู่” หลังจากที่อาฟเตอร์ช็อกหายไป สิ่งที่เหลืออยู่ของหมู่บ้านพาร์เทจ คือซากปรักหักพังและป่าอันแห้งแล้ง

วันนี้ พื้นที่ส่วนที่เหลือของหมู่บ้านพาร์เทจกลายเป็นเมืองผี โครงกระดูกที่ยังหลงเหลืออยู่เป็นหลักฐานว่าหมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นเหมืองแร่มาก่อน แต่ได้สิ้นสุดลงเมื่อถูกพลังแห่งธรรมชาติทำลาย

2

Fort Egbert
แหล่งแสวงโชคของนักขุดทอง


การเดินทางสู่ป้อมปราการเอกเบิร์ต (Fort Egbert) ในเมืองอีเกิล (Eagle) ไม่ใช่เรื่องง่ายจวบจนถึงปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1899 ดินแดนบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนกว่า 1,700 คน ที่เต็มใจจะฝ่าฟันความลำบากเพื่อแสวงหาความร่ำรวยจากการขุดทอง โดยป้อมปราการแห่งนี้สร้างขึ้นในปีเดียวกันเพื่อนำกฎหมายและระเบียบมาสู่อนาธิปไตยในถิ่นทุรกันดาร

ป้อมปราการเอกเบิร์ต ตั้งชื่อตามนายพล Henry Clay Egbert ทหารผ่านศึกในสงครามกลางเมืองที่ถูกสังหารช่วงสงครามฟิลิปปินส์-อเมริกา ป้อมปราการนี้ดำรงตำแหน่งทางยุทธศาสตร์สำหรับการค้าและการขนส่งภายในรัฐอลาสกา ต่อมาในปี ค.ศ. 1911 ป้อมปราการเอกเบิร์ตได้ถูกทิ้งร้างหลังจากที่นักขุดทองย้ายไปแสวงหาในดินแดนใหม่อย่างเมืองโนม (Nome) และแฟร์แบงก์ (Fairbanks)

อย่างไรก็ตาม ป้อมปราการเอกเบิร์ตทำหน้าที่เป็นสถานีโทรเลขจนถึงปี ค.ศ. 1925 โดยอาคาร 5 หลังจากทั้งหมด 45 หลัง ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการบูรณะและบำรุงรักษาโดย Eagle Historical Society

ปัจจุบัน ป้อมปราการเอกเบิร์ตดูแลโดย Eagle Historical Society สำหรับผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชม แนะนำให้สอบถามที่พิพิธภัณฑ์ล่วงหน้าเพื่อตรวจสอบเวลาทำการ โทรศัพท์. +1 262-594-8961

3

Kennicott Ghost Town
เหมืองทองที่เคยร่ำรวยที่สุดในโลก


ครั้งหนึ่งที่เมืองเคนนิคอตต์ (Kennicott) เคยรุ่งเรืองจากทองแดง ที่นี่เต็มไปด้วยคนงานที่เข้ามาเพื่อค้นหาความมั่งคั่งและทำงานในเหมือง หลังจากค้นพบทองแดงในพื้นที่ กลุ่มนักลงทุนผู้มั่งคั่งได้ก่อตั้ง Kennicott Copper Corporation ขึ้นในปี ค.ศ. 1900 เพื่อทำการขุดหาแหล่งทองบนพื้นที่เหนือเคนนิคอตต์ และ รูท กลาเซียร์ (Root Glaciers) ต่อไป

เหมืองแห่งนี้ ได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบเป็นเวลากว่า 27 ปี บริษัททำเงินได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างแมคคาร์ธี (McCarthy) ได้เติบโตขึ้น เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงานบริการทางเพศเป็นสิ่งต้องห้ามในเคนนิคอตต์ หมู่บ้านแมคคาร์ธีเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีสาธารณูปโภคทุกรูปแบบรวมถึงซ่องโสเภณี

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1938 ทองแดงได้หมดสิ้นไป เหมืองปิดตัวลง ถูกทิ้งร้าง และการรถไฟก็หยุดให้บริการในปีเดียวกัน นับได้ว่าตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 สถานที่นี้ถูกทิ้งร้างโดยสิ้นเชิง

วันนี้ เคนนิคอตต์เปรียบเสมือนเมืองผีที่แท้จริง ขณะที่เมืองแมคคาร์ธี มีประชากรไม่ถึง 36 คน สิ่งที่เหลืออยู่ในเมืองทำให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับยุคการทำเหมืองอันเก่าแก่ของอลาสกา อาคารจำนวนหนึ่งจากยุคนั้นยังคงใช้งานอยู่และได้รับการจดทะเบียนในบันทึกประวัติศาสตร์แห่งชาติ

4

The Slide Cemetery
สุสานที่อันตรายที่สุดในยุคตื่นทอง


สุสานสไลด์ (The Slide Cemetery) ตั้งอยู่ในเมืองดาย (Dyea) ถิ่นทุรกันดารของรัฐอลาสกา ที่นี่คือสถานที่รำลึกถึงเหตุการณ์ที่อันตรายที่สุดในยุคตื่นทอง (Gold Rush) เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1898 เกิดภัยพิบัติหิมะถล่มบนถนนชิลคูท (Chilkoot) ซึ่งเป็นเส้นทางที่นักขุดทองมุ่งหน้าจากท่าเรือสแคกเวย์ (Skagway) ไปยังทุ่งทองคำในเมืองคลอนไดค์ (Klondike) ภัยพิบัติดังกล่าวทำให้นักขุดทองเกือบ 100 ชีวิตถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งเดียวกันในอุทยานแห่งชาติ Klondike Gold Rush

หลังจากหิมะถล่มในวันนั้น การจราจรบนเส้นทางชิลคูทหายไป และเมืองดายได้เปลี่ยนเป็นเมืองร้างอย่างรวดเร็ว สุสานสไลด์กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เหลืออยู่

5

Treadwell Ruins
ซากปรักหักพังแห่งเมืองหลวงอลาสกา


ซากปรักหักพังของเหมืองแร่ Treadwell ในจูโน (Juneau) เมืองหลวงแห่งรัฐอลาสกา ได้กลายเป็นเมืองร้างที่งดงามแห่งหนึ่ง

เหมืองแร่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินของคนงานและครอบครัวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1883 แต่มาถึงจุดสิ้นสุดอย่างกะทันหันในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1917 เพราะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ นำไปสู่เหมืองที่ถูกน้ำท่วมถึงสามในสี่ โชคดีที่ไม่มีคนเสียชีวิต เนื่องจากคนในเหมืองอพยพอย่างรวดเร็ว แต่อุปกรณ์มากมายมลายหายไปหมดสิ้น

ทุกวันนี้ สิ่งที่เหลืออยู่ในเมืองนี้ได้พังทลายลง เหลืออาคารเพียงไม่กี่หลังที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสวนสาธารณะที่บริหารจัดการโดยเมืองและเขตปกครองของจูโน โดยมีเส้นทางเดินรถและป้ายบอกข้อมูลกระจายอยู่ทั่วบริเวณเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ในพื้นที่

6

Ukivok
หมู่บ้านสยองขวัญบนหน้าผาสูงชัน


หมู่บ้าน Ukivok ที่ให้บรรยากาศสยดสยองแห่งนี้ ตั้งอยู่บนเกาะคิง (King) เกาะเล็ก ๆ นอกชายฝั่งอลาสกาในเมืองโนมและยังคงเกาะติดอยู่บนหน้าผาสูงชันแม้จะถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วก็ตาม

ครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นบ้านพักในช่วงฤดูหนาวของชาวพื้นเมืองที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า Aseuluk หรือ Ukivokmiut (People of the Sea – ผู้คนแห่งทะเล) ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 200 คน โดยในฤดูร้อน ชาวพื้นเมืองมักเข้าไปในเมืองหลักอย่างอลาสกาเพื่อหาอาหารและขายของ พอถึงฤดูหนาวก็กลับมายังหมู่บ้านเพื่อล่าสัตว์ทะเล

จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ได้มีสำนักงานกิจการชาวอินเดียแห่งอเมริกา หรือ Bureau of Indian Affairs เข้ามาเคลื่อนย้ายผู้คนไปอยู่ในเมืองอลาสกาถาวร แล้วในที่สุดเมื่อถึงปี ค.ศ. 1970 หมู่บ้าน Ukivok ก็กลายเป็นเมืองร้างตลอดกาล

7

Buckner Building
ตึกร้างที่เคยเป็นฐานทัพสมัยสงครามโลก


อาคารบัคเนอร์ (Buckner Building)เคยใช้เป็นที่ตั้งและที่อยู่อาศัยของประชากรในเมืองวิตเทียร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1949 โดยถูกเรียกว่า “City Under One Roof – เมืองใต้หลังคาเดียวกัน” และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารหลังนี้ได้ถูกใช้เป็นฐานทัพลับเฉพาะของกองทัพด้วย

ภายในอาคารประกอบไปด้วยโบสถ์, โรงพยาบาลขนาดเล็ก, โรงละครขนาด 320 ที่นั่ง, ลานโบว์ลิ่ง 4 เลน, ห้องสมุด, สถานีวิทยุ, สนามปืนไรเฟิล, ห้องปฏิบัติการภาพถ่าย, โรงอาหารขนาดใหญ่และห้องครัว, ร้านเบเกอรี่, ร้านตัดผม, ห้องรับรองของเจ้าหน้าที่, คุก และห้องพักสำหรับทหารและครอบครัวของพวกเขาในเวลานั้น แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้มลายหายสิ้นไปในปี ค.ศ. 1964 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอลาสกา

ปัจจุบัน อาคารหลังนี้กำลังพังทลายลงอย่างช้า ๆ เกือบทุกห้องมีน้ำลึกหนึ่งนิ้วไหลท่วมพื้น มีทั้งเชื้อราและเชื้อโรคต่าง ๆ อาศัยอยู่ ทุกอย่างภายในและภายนอกถูกทำลายลง และไม่อนุญาตให้ผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ ทิ้งไว้แต่เพียงความทรงจำที่ไม่อาจหวนคืน




อ้างอิง


เรื่องโดย