Kind Drink

“ชานมไข่มุก” กับพื้นที่ของไต้หวันบนเวทีโลก

เมนูเครื่องดื่มรสกลมกล่อม อบอวลไปด้วยความหวานจากนมและความขมจากชา แถมยังมีไข่มุกชิ้นโตจากแป้งมันสำปะหลังให้เคี้ยวหนึบหนับ จะเป็นเมนูอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “ชานมไข่มุก” เครื่องดื่มสุดโปรดของใครหลาย ๆ คนนั่นเอง แล้วเครื่องดื่มชนิดนี้มีที่มาจากไหนกันนะ? จากชาใสรสขมมาเป็นชานมรสหวานได้อย่างไร?

วันนี้ KiNd จะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักชานมไข่มุกอย่างเจาะลึกกันเลย!

จากชาสู่ชานมไข่มุก: ความคลาสสิกที่ร่วมสมัย

“ชา” เป็นองค์ประกอบหลักของชานมไข่มุกและเป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับผู้คนมาอย่างช้านาน มีการค้นพบว่าชาวจีนนำใบชามาบริโภคตั้งแต่ประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล และมีตำนานเล่าขานถึงต้นกำเนิดชากันว่า ในยุคโบราณของจีน มีหัวหน้าเผ่า (ซึ่งเทียบศักดิ์ได้เท่ากับราชาหรือจักรพรรดิในปัจจุบัน) นามว่า เสินหนงหรือเฉินหนง (神農; Shen Nung Shennong) ได้นั่งต้มน้ำร้อนอยู่ใต้ต้นไม้ จู่ ๆ ก็มีใบชาร่วงลงมาในน้ำร้อน เมื่อได้ชิมจึงค้นพบว่าน้ำที่ต้มด้วยใบชานี้ทำให้ร่างกายอบอุ่น ผ่อนคลาย และสดชื่นได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาได้รับการเผยแพร่ออกไป จากวันนั้นจนถึงวันนี้ วัฒนธรรมการดื่มชาดำรงอยู่กับผู้คนมากว่า 4,700 ปีเลยทีเดียว

นอกจากวัฒนธรรมการดื่มชาเป็นที่นิยมในประเทศจีนแล้ว ความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมนี้ได้ถูกเผยแพร่ไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงไต้หวันด้วย ย้อนไปในสมัยราชวงศ์ชิง ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้อพยพมายังเกาะไต้หวัน และมีการขนส่งต้นชาจากมณฑลฝูเจี้ยนของจีนมาด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเพาะปลูกชาในไต้หวัน ต่อมาไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ญี่ปุ่นได้สนับสนุนการเพาะปลูกชา รวมทั้งปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของไต้หวันเองที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูง ทำให้ชาที่ได้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และส่งผลให้ชาไต้หวันได้รับความนิยมอย่างมาก พร้อมด้วยปัจจัยอย่างการลงนามในสนธิสัญญาเทียนจิน (Treaty of Tianjin) ทำให้ไต้หวันต้องทำการค้าขายกับชาติตะวันตก นำมาซึ่งการส่งออกชาไปยังประเทศอื่น  ๆ ส่งผลให้ชาไต้หวันโด่งดังไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

ไม่ได้มีเพียงต้นชาที่ส่งต่อมาที่เกาะไต้หวัน วัฒนธรรมการชงชาแบบดั้งเดิมของชาวจีนหรือกงฟูชา (工夫茶; Gong Fu Tea Ceremony) ก็ได้ส่งต่อมาเช่นกัน กงฟูชามีขั้นตอนที่พิถีพิถันและใช้เวลานาน จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการเครื่องดื่มที่ทำง่ายและรวดเร็ว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการชงชาให้มีความรวดเร็ว กลายเป็นชาสำเร็จรูป นอกจากนี้ ได้มีการค้นหาวิธีทำให้ชามียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะผู้คนไม่นิยมดื่มเครื่องดื่มในช่วงฤดูร้อน ปัญหานี้ได้คลี่คลายลงไป เมื่อมีเจ้าของร้านชาชาวไต้หวันได้เห็นการใส่น้ำแข็งในกาแฟร้อนจากร้านกาแฟในประเทศญี่ปุ่น จึงได้มีการใส่น้ำแข็งลงไปในชาบ้าง กลายเป็นชาเย็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

พัฒนาการของชายังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในช่วงปี ค.ศ. 1980 ที่ร้านชาชุนสุ่ยถัง (春水堂人文茶館; Chun Tsui Tang) ร้านขายชาในเมืองไถชง ได้ทดลองนำขนมพื้นบ้านชื่อว่า เฟินหยวน (粉圓; Fen Yuan) ที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังใส่ลงไปในชา ปรากฏว่ามีรสชาติอร่อย จึงทดลองนำมาขาย กลายเป็นว่าเมนูนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ยอดขายของร้านชุนสุ่ยถังกว่า 80% มาจากเมนูชานมไข่มุกเป็นหลักเลยทีเดียว ต่อมาชานมไข่มุกได้รับความนิยมไปทั่วเกาะไต้หวัน และได้รับการขนานนามว่าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติไต้หวันที่ไม่ว่าใครก็ต้องมาลิ้มรสให้ได้!

จากไต้หวันสู่หัวมุมถนนทั่วโลก

ชานมไข่มุกคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีปัจจัยอื่น ๆ ช่วยส่งเสริม อย่างปัจจัยด้านวิถีชีวิตของผู้คนที่รวดเร็วและเร่งรีบมากขึ้น เมื่อทุกอย่างต้องว่องไว ภาคธุรกิจต่าง ๆ จึงพยายามตอบสนองวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างธุรกิจอาหารที่มีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด เราสามารถพบเห็นร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) ได้ทั่วทุกหัวมุมถนน ไม่ว่าจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอื่น ๆ รวมถึงชานมไข่มุกด้วย นอกจากจะหากินได้ง่าย มีวิธีการทำที่รวดเร็ว และมีปริมาณมากทำให้อิ่มท้องได้ไว ยังช่วยประหยัดเวลาได้มากขึ้น ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ การมีตัวเลือกที่หลากหลายก็ทำให้ชานมไข่มุกได้รับความนิยมเช่นกัน ทั้งการกำหนดความหวานของชา การเลือกเปลี่ยนจากชาเป็นนมสด กาแฟ โกโก้ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ตามแต่ละร้านกำหนด หรือจะเลือกเปลี่ยนไข่มุกแล้วแทนที่ด้วยเจลลี่ เฉาก๊วย พุดดิ้ง หรือสารพัดของหวานอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ การมีตัวเลือกที่หลากหลายทำให้ผู้บริโภคสามารถรังสรรค์ชานมไข่มุกได้ตามต้องการ ช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภคในระดับปัจเจกที่มีความชื่นชอบและความต้องการที่แตกต่างกัน จึงไม่แปลกที่ชานมไข่มุกได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย และด้วยความฮิตที่ฉุดไม่อยู่นี้ ส่งผลให้ธุรกิจอาหารอื่น ๆ มีการนำสินค้าของตนมาปรับสูตรให้มีรสชาติเหมือนชานมไข่มุก เพื่อเกาะกระแสความฮิตของชานมไข่มุกและสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีมรสชานมไข่มุก ลูกอมรสชานมไข่มุก ขนมกรุบกรอบรสชานมไข่มุก ไปจนถึงเมนูแปลก ๆ อย่างพิซซ่าชานมไข่มุก เลยทีเดียว

ชานมไข่มุกในฐานะ Soft Power

ย้อนไปในช่วงปี ค.ศ. 1990 เป็นครั้งแรกที่ชานมไข่มุกเป็นที่รู้จักในประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย แต่ต่อมาช่วงปี ค.ศ. 2010 เทรนด์อาหารสุขภาพกำลังมาแรง ทำให้เมนูแคลอรีสูงอย่างชานมไข่มุกโดนปัดตกไป จนมาถึงปัจจุบัน เมื่อไต้หวันอยู่ภายใต้การดูแลของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ทำให้ชานมไข่มุกได้รับการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจด้วยนโยบาย New Southbound Policy ที่พร้อมเผยแพร่และแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี เกษตรกรรม และวัฒนธรรมของไต้หวันไปสู่ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ด้วยการผลักดันอย่างเต็มกำลังจากภาครัฐทำให้ชานมไข่มุกกลับมาเฉิดฉายได้อีกครั้ง และความนิยมของชานมไข่มุกไม่ได้จำกัดอยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น แต่ได้กระจายไปยังถึงทวีปอื่น ๆ หรือทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ทุกวันนี้ ไม่ว่าใคร เชื้อสายใด สัญชาติไหน ก็ชื่นชอบชานมไข่มุกกันทั้งนั้น

นอกจากชานมไข่มุกจะเป็นตัวแทนของไต้หวันบนเวทีโลกแล้ว ชานมไข่มุกยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองอีกด้วย ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ มีการนำเสนอข่าวการประท้วงของเขตปกครองต่าง ๆ ของประเทศจีน ซึ่งมีฮ่องกงเป็นพื้นที่หลัก โดยชาวฮ่องกงได้รวมตัวกันประท้วงด้วยเหตุผลทางด้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในส่วนของไต้หวันที่แม้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ชาวไต้หวันก็มีการสนับสนุนชาวฮ่องกงอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน กฎหมายนี้จะยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง และมีผู้ประท้วงชาวฮ่องกงหลายรายที่ถูกทางการจีนควบคุมตัว แต่ด้วยความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ ทำให้เกิดกระแสการต่อสู้ในรูปแบบอื่น ในโลกออนไลน์มีการก่อตั้งพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการบนแพลตฟอร์ม Twitter เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลจีนภายใต้ชื่อ “Milk Tea Alliance” หรือ “พันธมิตรชานม” ที่มีการใช้วัฒนธรรมร่วมอย่าง “ชา” เป็นสัญลักษณ์ ทั้งฮ่องกงและไต้หวันได้รับวัฒนธรรมการดื่มชามาจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ทั้งสองแห่งมีชาที่แตกต่างออกไป กลายมาเป็นชานมที่มีต้นกำเนิดในฮ่องกง และชานมไข่มุกที่มีต้นกำเนิดในไต้หวัน พันธมิตรชานมไม่ได้หยุดไม่เพียงเท่านี้ ผู้คนจากประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชียที่มีวัฒนธรรมการดื่มชา และประสบปัญหาการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐ อย่างประเทศอินเดีย ประเทศเมียนมา รวมถึงประเทศไทย ก็ได้ยกชาชื่อดังในประเทศของตนมาต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน

เป็นอย่างไรกันบ้าง กับสาระน่ารู้เกี่ยวกับชานมไข่มุกที่ไม่ได้มีแต่ความอร่อย KiNd หวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ควบคู่ไปกับความอร่อย ว่าแล้วก็… ไปซื้อชานมไข่มุกดื่มกัน!



อ้างอิง

เรื่องโดย

ภาพโดย