Kind Words

จอร์จ ออร์เวลล์: ชายผู้เปลี่ยน “ตัวอักษร” บนผืนกระดาษให้กลายเป็นกระบอกเสียงของประชาชน


21 มกราคม ค.ศ. 1950 จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ผู้เขียนวรรณกรรมคลาสสิก 1984 เสียชีวิตลง ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยวัณโรคในวัย 46 ปี

เป็นเวลากว่าเจ็ดสิบปีแล้วที่ “จอร์จ ออร์เวลล์” จากโลกใบนี้ไป แต่งานเขียนชิ้นสำคัญของเขายังคงได้รับการเผยแพร่ต่อในโลกทุนนิยมเสรีอย่างไม่มีวันจบสิ้น และวันนี้ก็ตรงกับวันที่ออร์เวลล์ได้จากไปตลอดกาล

KiNd ขอหวนรำลึกถึงบุรุษผู้ไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำของรัฐผู้กดขี่ขูดรีดประชาชน แม้ว่าครั้งหนึ่งออร์เวลล์จะเคยเป็นหนึ่งในระบอบนี้เองก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ทำให้ออร์เวลล์ผันตัวมาเป็นนักเขียนอย่างจริง ๆ จัง ๆ เกิดขึ้นเมื่อเขารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของเจ้าอาณานิคมในประเทศพม่า ออร์เวลล์เห็นสภาพสังคมที่รัฐบาลใช้อำนาจในทางมิชอบต่อประชาชน นับแต่นั้นเขาจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ เดินทางกลับมายังอังกฤษและก้าวเข้าสู่วงการนักเขียนอย่างเต็มตัว

ซึ่งผลงานที่สะท้อนรสชาติของความขมขื่นในสังคมแห่งการกดขี่ขูดรีด ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ออร์เวลล์เคยประสบมาทั้งสิ้น ตั้งแต่ Burmese Days (1934) Animal Farm (1945) ไปจนถึง Nineteen Eighty-Four (1949) โดยประสบการณ์ตรงของออร์เวลล์ที่เคยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของระบอบการปกครองอันโหดร้าย



ทุกครั้งที่ออร์เวลล์จรดปลายนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ดีดแบบพกพา รุ่น Remington Home Portable typewriter สลับกับตวัดปลายปากกาลงบนกระดาษเนื้อหยาบข้างกาย ก็ทำให้รัฐต้องหวาดหวั่นต่อโลกแห่งตัวอักษรที่ออร์เวลล์เริ่มลงมือประพันธ์ภายในห้องพักอันเงียบสงบของเขาอยู่ร่ำไป


ย้อนกลับไปกลางปี ค.ศ. 2019 วรรณกรรมคลาสสิก “1984” เกิดเป็นกระแสขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งหนังสือสี่ร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ได้ปลุกกระแสรักการอ่านของคนไทยให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง พร้อมลบภาพจำที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกินแปดบรรทัด” ไปจน (เกือบ) หมด


ด้วยเนื้อหาที่เล่าเรื่องระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จและมีบรรดากระทรวงต่าง ๆ คอยหล่อหลอมชุดความคิดของประชาชนให้กลายเป็นสิ่งที่รัฐอยากให้ประชาชนเชื่อโดยสนิทใจและพร้อมมอบความจงรักภักดีโดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ผ่านรูปแบบการสร้างภาษาใหม่ (Newspeak) โดยมีผู้ควบคุมทางความคิด (Thought Police) คอยชี้นำความคิดของประชาชน พร้อมทั้งจัดตั้งกระทรวงความรัก (Ministry of Love) และกระทรวงสันติภาพ (Ministry of Peace) ซึ่งหมกมุ่นอยู่กับการทำสงครามเสียจนหลงลืมประชาชนในประเทศ

โดยแต่ละกระทรวงที่ออร์เวลล์แต่งขึ้นมานั้นเป็นเหมือนกับการประชดอยู่กลาย ๆ หากอ่านเพียงแค่ชื่อคงคิดว่ารัฐบาลพร้อมสร้างสังคมที่สงบสุข เพื่อเป็นของขวัญให้คนในชาติเป็นแน่ แต่ 1984 ได้แหวกม่านความคิดของผู้อ่าน ตีแผ่เรื่องราวที่รัฐใช้อำนาจเผด็จการครอบงำประชาชน  โดยมี “พี่เบิ้ม” หรือ Big Brother คอยจับจ้องการกระทำของประชาชนอยู่ทุกขณะ


ปัจจุบันในปี ค.ศ. 2021 งานเขียนของออร์เวลล์ยังคงเป็นที่กล่าวขานอยู่เสมอ โดยเฉพาะในโลกการเมืองที่ร้อนระอุไม่ต่างกับสงครามกลางเมืองสเปนที่เขาเคยเข้าร่วมเป็นทหารอาสาสมัคร ออร์เวลล์เห็นความทุกข์ทรมานของเพื่อนร่วมรบ และชาวบ้านที่ต้องสูญเสียแหล่งพำนักของตนไปต่อหน้าต่อตา สงครามจึงกลายสิ่งที่เขาเกลียดชัง พอ ๆ กับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาทำลายความสงบสุขในจิตใจเขา แต่ด้วยจิตวิญญาณนักเขียนการปล่อยประสบการณ์การรบให้สูญเปล่าคงเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย ออร์เวลล์จึงได้ลงมือเขียน Homage to Catalonia (1938) งานเขียนเชิงสารคดีตีแผ่เรื่องราวอันโหดร้ายของสงครามออกมาสู่สาธารณะ

ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ทำให้งานเขียนของออร์เวลล์กลายเป็น “สมบัติทางปัญญา” ที่สังคมโลกยอมรับ คงหนีไม่พ้นการสร้างบางอย่างให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง เขาได้ทิ้งงานเขียนที่เปลี่ยนผืนกระดาษเปล่า ๆ ให้กลายเป็นถ้อยคำอันล้ำลึก พร้อมส่งสารอย่างลับ ๆ แทรกไว้แต่ละบรรทัดอย่างแนบเนียน


ออร์เวลล์ทำให้นักอ่านทั่วโลกต้องกลับมาทบทวนการกระทำของรัฐในประเทศตน


เขาค่อย ๆ ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถาม เมื่อประชาชนเกิดคำถามย่อมทำให้รัฐที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการไม่ชอบใจนัก เพราะประชาชนในทัศนะของผู้นำเผด็จการคือ ประชาชนที่ปราศจากคำถามและพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งอยู่เสมอ ดังนั้นงานเขียนของออร์เวลล์จึงถูกบางประเทศสั่งห้ามอ่านโดยเด็ดขาด ออร์เวลล์คือ “บุรุษ” ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนอย่างเหนียวแน่น ซึ่งความคิดขบถที่เขาส่งผ่านงานเขียนยังคงสั่นคลอนมาถึงประเทศที่นิยมชมชอบการใช้อำนาจ “เผด็จการ” ปกครองประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน…


เรื่องโดย