Kindvironment

Now or Never นักวิทยาศาสตร์อังกฤษยื่นข้อเรียกร้องร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนก่อนจะสายเกินไป


สมาชิกสามคนจาก Scientist Rebellion ได้แสดงจุดยืนด้วยวิธีอารยะขัดขืน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานของสำนักพิมพ์ SpringerNature ในกรุงลอนดอน ผู้เผยแพร่วารสาร Nature หนึ่งในวารสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

พวกเขายื่นข้อเรียกร้องให้สำนักพิมพ์เปิดโอกาสและให้พื้นที่กลุ่ม Scientist Rebellion มีส่วนร่วมในการเขียนบทบรรณาธิการ เพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน และรณรงค์ให้ผู้คนออกมาร่วมแสดงจุดยืนด้วยวิธีอารยะขัดขืนต่อรัฐบาลที่เพิกเฉยต่อความสำคัญของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประเทศต้องเผชิญกับภัยพิบัติอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

วารสาร Nature ตอบกลับข้อเรียกร้องโดยการยื่นข้อเสนอให้กลุ่ม Scientist Rebellion เขียนบทความสั้น ๆ (ไม่เกิน 300 คำ) เพื่อพิจารณาเป็นคอลัมน์แสดงความคิดเห็นในวารสาร


Zac Lumley นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด หนึ่งในผู้ร่วมประท้วงระบุว่า “Nature มีหน้าที่รับผิดชอบในการ ‘ทำ’ ให้เห็นว่าปัญหานี้อยู่ในภาวะเร่งด่วนมากแค่ไหน ไม่ใช่เผยแพร่บทความต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อแค่ ‘บอก’ ว่าปัญหานี้มันเร่งด่วน”

Tim Hewlett นักวิจัยหลังปริญญาเอกสาขาวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ได้ยกตัวอย่างบทความเรื่อง ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากปัญหาภาวะโลกร้อน ที่เผยแพร่ในวารสาร บทความนี้แสดงให้เห็นว่า หนึ่งในสามของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก จะสูญพันธุ์ภายในปี ค.ศ. 2050

Mike Lynch-White นักศึกษาสาขาวิชาฟิสิกส์ และนักเคลื่อนไหวปัญหาโลกร้อน อธิบายว่าการแสดงจุดยืนด้วยวิธีอารยะขัดขืนครั้งนี้ ใช้วิธีพิมพ์ตัวอย่างงานวิจัยที่ระบุถึงการคาดการณ์ปัญหาภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน (ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature ด้วยเช่นกัน) และแปะตามหน้าต่างและประตูของอาคารสำนักงาน

จากสถานการณ์การแสดงจุดยืน ได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแวะเวียนเข้ามาบ้าง เหล่านักเคลื่อนไหวจึงรอสังเกตสถานการณ์ว่าตำรวจจะเข้ามาตรวจสอบด้วยหรือไม่ เนื่องจากไม่มีใครมา Scientist Rebellion จึงทิ้งจดหมายเปิดผนึกไว้ให้กับสำนักพิมพ์ และขอให้มีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายของการเขียนบทบรรณาธิการ และการรณรงค์เพื่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในอนาคต  

Photo Credit: Scientist Rebellion

ข้อความในจดหมายเปิดผนึกจาก
Scientist Rebellion ถึงวารสาร Nature

✉︎

เราคือ Scientist Rebellion กลุ่มที่แสวงหาความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์และสถาบันวิทยาศาสตร์ในการยืนหยัดแสดงจุดยืนเพื่อข้อเท็จจริงและทุกชีวิตบนโลก บทความและงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นแล้วว่า สังคมจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วนเพื่อดำรงไว้ซึ่งสังคมของมวลมนุษยชาติ เพียงแค่กำลังของนักวิทยาศาสตร์นั้นไม่มากพอที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในวารสารด้านวิทยาศาสตร์รายใหญ่ของโลก วารสาร Nature จึงมีกำลังและศักยภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ และเราขอให้คุณลงมือทำทันที ณ ตอนนี้

นักวิทยาศาสตร์ส่งผลงานให้วารสารอย่าง Nature ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ พวกเราลงมือศึกษา เขียนวิจัยออกมา ส่งงานวิจัยเหล่านี้ให้คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาตรวจสอบ และเสียเงินรวมกันแล้วเป็นล้านปอนด์เพื่ออ่านงานวิจัยของเราซ้ำอีกครั้งในวารสาร สำหรับการตอบแทนนักวิทยาศาสตร์อย่างพวกเรา เราต้องการให้ Nature วารสารที่มีบทบาทสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงและใช้พื้นที่ของวารสารเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความซื่อสัตย์ โดยการสื่อสารกับผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมาถึงสถานการณ์ปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน หากภาคสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไม่ตระหนักและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เราจะประสบปัญหาอาหารขาดแคลน ภัยแล้ง และผู้ลี้ภัยจำนวนมากในรอบหลายทศวรรษ ผู้คนหลายพันล้านจะสูญเสียบ้านและอาจรวมถึงชีวิตของพวกเขา

ตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษตั้งแต่วงการวิทยาศาสตร์ยืนยันถึงปัญหาภาวะโลกร้อน หน่วยงานรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ ล้วนล้มเหลวในทุก ๆ ด้านกับการรับมือและป้องกันปัญหาภาวะโลกร้อน ข้อเท็จจริงคือปัญหาภาวะโลกร้อนนั้นสาหัสขึ้นเรื่อย ๆ ก๊าซเรือนกระจกกำลังเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศกำลังถูกทำลาย อนาคตของเรากำลังถูกพรากไป แต่รัฐบาลก็ยังทำงานแบบขอไปที เช่นการตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี ค.ศ. 2050 และหากอ้างอิงจากผลงานของหน่วยงานรัฐเหล่านี้ในอดีตที่ผ่านมา เราจะพบว่าพวกเขาไม่มีทางทำได้สำเร็จ


ถ้าเรายังไม่สามารถระงับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดได้สำเร็จภายใน ค.ศ. 2050 เราจะต้องรับมือกับวิกฤตและภัยพิบัติที่คาดไม่ถึง กระทั่งตอนนี้เรามีผู้ลี้ภัยจากผลกระทบปัญหาภาวะโลกร้อนมากกว่าสิบล้านชีวิต มีภัยธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น มีอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฝ่ายขวาจัดที่มีแนวคิดต่อต้านวิทยาศาสตร์ กลับหาผลประโยชน์ร่วมกันกับองค์กรที่มีแนวคิดเดียวกันในการทำลายชั้นบรรยากาศ ทำลายป่า มหาสมุทร และระบบนิเวศ ทำลายโอกาสสุดท้ายที่อนาคตอันริบหรี่นี้จะไปต่อได้

ทางออกของปัญหาคือเราต้องแก้ไขรูปแบบการใช้ที่ดิน พลังงาน การขนส่ง และการเกษตรอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลต้องออกมาตรการดำเนินการอย่างเข้มงวด นานหลายทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างหนักภายใต้ขอบเขตอำนาจในมือ เราเผยแพร่ผลงานวิจัย ให้คำแนะนำในการจัดตั้งนโยบาย หรือกระทั่งออกแถลงการณ์ผ่านสื่อ และทั้งหมดที่เราทำนั้นไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงสักนิดเดียว หากรัฐบาลยังเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงของปัญหาภาวะโลกร้อนที่ได้รับการยืนยันมานานหลายทศวรรษ ผลักให้มนุษยชาติต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

เราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ไม่ควรหยุดแค่การพูดถึงปัญหาเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ แต่เราต้องแสดงให้เห็นถึงความแม่นยำของหลักการทางวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยการลงมือทำ ไม่ใช่แค่การพูด เราจะต้องต่อสู้ ยืนหยัดเพื่อความจริง และยืนหยัดเพื่อมนุษย์ทุกคน


กลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบได้ เกิดจากอารยะขัดขืนหรือการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช้ความรุนแรง และรณรงค์ให้ผู้คนออกมาร่วมแสดงอารยะขัดขืนด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเคลื่อนไหวของซัฟฟราเจ็ตต์ (ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในอังกฤษ) ไม่นานมานี้ Richard Horton บรรณาธิการบริหารของวารสารการแพทย์ The Lancet  ได้เผยแพร่บทความที่ชี้ให้เห็ถึงความล้มเหลวของวงการวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และร่วมเรียกร้องให้ภาคประชาชนออกมาแสดงอารยะขัดขืนกดดันรัฐบาลให้ลงมือแก้ไขวิกฤตภาวะโลกร้อน

เรากำลังเรียกร้องให้ Nature เขียนและเผยแพร่บทบรรณาธิการที่ร่วมสนับสนุนและรณรงค์ ให้ผู้อ่านร่วมแสดงอารยะขัดขืน กดดันรัฐบาลให้หยุดการทำลายโลกใบนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากบทบรรณาธิการของ Nature ฉบับล่าสุด ได้ตั้งประเด็นว่า วารสารควรวิพากษ์และให้ความสำคัญกับนโยบายการเมืองมากขึ้น “ข้อตกลงที่เป็นแนวทางเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์และการเมืองกำลังถูกละเมิด และ Nature ไม่สามารถเพิกเฉยกับเรื่องนี้ได้” Scientist Rebellion รู้สึกเห็นด้วยกับข้อความดังกล่าวอย่างยิ่ง

ความเชื่อหนึ่งที่มีอยู่อย่างยาวนานในวงการวิทยาศาสตร์คือ การจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือนั้น จะต้องเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่สนใจการเมือง แต่ถ้าหากนักวิทยาศาตร์ไม่ตระหนักว่าชีวิตของมนุษย์ล้วนขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงระบบ ก็ไม่เหลือเหตุผลที่ประชาชนจะเชื่อในวิทยาศาสตร์เช่นกัน


โลกดำรงอยู่ด้วยสันติภาพ เราก็ต้องแสดงออกอย่างสันติเช่นกัน การแสดงออกด้วยวิธีอารยะขัดขืนนี้ มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเราและสิทธิของลูกหลาน สิทธิที่จะได้ใช้ชีวิตต่อไป

เราขอให้คุณสื่อสารกับสมาชิกวารสาร Nature รณรงค์ให้พวกเขาร่วมแสดงออกอย่างสันติด้วยวิธีอารยะขัดขืนกับพวกเรา เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบกลับจากคุณ


ด้วยรักและแรงแค้น,
Scientist Rebellion


ที่มา


เรื่องโดย