Kind Health

ร้อนก็ร้อน แต่ทำไมยังนอนห่มผ้า?


คืนหนึ่งในฤดูร้อน อากาศอบอ้าวเกินกว่าจะข่มตาหลับลงได้ง่าย ๆ แต่แม้ว่าอุณหภูมิจะสูงเท่าไหร่ สิ่งหนึ่งที่เราขาดไปไม่ได้ก็คือผ้าห่ม และต่อให้อุณหภูมิแตะ 30 องศาเซลเซียส การนอนหลับโดยไม่ห่มผ้าก็เป็นไปได้ยากอยู่ดี

หลายคนล้วนเคยประสบเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว ในคืนที่อากาศร้อนแต่เราก็ยังต้องการผ้าห่มคลุมตัวตอนนอน มันเป็นเพราะอะไรกันแน่นะ?

ทำไมเรานอนไม่หลับถ้าไม่มีผ้าห่ม?

คนส่วนใหญ่เข้านอนพร้อมผ้าห่ม จากงานวิจัยในปี ค.ศ. 2002 ของ Carol Worthman และ Melissa Melby จากมหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการนอนของผู้คนระบุว่า ผู้คนเลือกที่จะนอนโดยห่มผ้ามากกว่า มีเพียงรายเดียวที่เลือกไม่ห่มผ้าเนื่องจากประกอบอาชีพเก็บของป่าและอาศัยอยู่ในป่า

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า มนุษย์ติดการห่มผ้านั้นมีเหตุผลมาจากทั้งด้านธรรมชาติของร่างกายและด้านพฤติกรรม ซึ่งสามารถสรุปได้ 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ

1. อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ Anna McGinn อธิบายว่าการห่มผ้าช่วยรักษาความอบอุ่นเมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดลง นาฬิการ่างกายที่เป็นตัวขับเคลื่อนการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเราจะค่อย ๆ สั่งการให้ลดอุณหภูมิภายในร่างกายตั้งแต่เวลาประมาณช่วงบ่ายเป็นต้นไป และลดลงต่อเนื่องตลอดช่วงเย็นจนถึงกลางดึก

กลไกการลดอุณหภูมิของร่างกายมีไว้เพื่อช่วยให้มนุษย์หลับได้สนิท เพราะเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูง มนุษย์จะรู้สึกตื่นตัว ในทางกลับกันเมื่ออุณหภูมิต่ำลง เราจะรู้สึกง่วงนอนได้ง่าย และด้วยเหตุนี้เอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับส่วนใหญ่จึงแนะนำให้รักษาอุณหภูมิห้องให้ต่ำลงในช่วงกลางคืนเพื่อให้เราหลับได้สนิทนั่นเอง

ร่างกายมนุษย์ในช่วงกลางวันสามารถรักษาระดับอุณหภูมิร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับกันในช่วงกลางคืน 2-3ชั่วโมงแรกของการนอน อุณหภูมิจะเริ่มลดลง แต่เมื่อไรที่มนุษย์หลับสนิทถึงขั้น Rapid Eye Movement Sleep (REM Sleep) หรือสถานะที่วงจรกล้ามเนื้อต่าง ๆ หยุดนิ่ง เหลือเพียงกล้ามเนื้อหัวใจและกะบังลมที่ยังทำงานอยู่ ในระยะการหลับลึกขั้นนี้ ร่างกายจะสูญเสียความสามารถในการรักษาระดับอุณหภูมิอย่างสมบูรณ์

ด้วยกลไกนี้ทำให้มนุษย์คล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายได้ (นี่คือเหตุผลที่เราเจอน้องจิ้งจก จิ้งเหลน หรือกิ้งก่า ออกมานอนอาบแดดอยู่เนือง ๆ) ตามปกติแล้วมนุษย์สามารถรักษาระดับอุณหภูมิร่างกายได้ ยกเว้นก็แต่ตอนที่หลับสนิท เราถึงต้องการผ้าห่มหรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ มาช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายยามค่ำคืน และไม่ว่าอากาศจะร้อนแค่ไหน เมื่อไรที่กระบวนการนอนหลับถึงขั้น REM Sleep อุณหภูมิร่างกายก็จะลดลงต่ำที่สุดอยู่ดี

2. ผ้าห่มช่วยให้หลับสบาย

การสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เราต้องการผ้าห่ม ระหว่างการนอนในระดับ REM Sleep ร่างกายจะลดการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่ช่วยให้มนุษย์รู้สึกสงบ มีความสุข และสุขภาพดี ผ้าห่มเองก็มีส่วนช่วยเพิ่มเซโรโทนินเช่นกัน

บางการศึกษาระบุว่า การนอนหลับพร้อมผ้าห่มหนานุ่มสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนินของสมองด้วยเช่นกัน

“น้ำหนักของผ้าห่มสามารถกระตุ้นระบบประสาทและหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนินซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และยังช่วยหลั่งเมลาโทนินหรือฮอร์โมนตามธรรมชาติของร่างกายที่ช่วยควบคุมเรื่องการนอนหลับ” Anna McGinn กล่าว

3. ความเคยชินสมัยแบเบาะ

อีกเหตุผลที่มนุษย์ติดผ้าห่มคือความเคยชินตั้งแต่วัยเด็ก คนที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ส่งเข้านอนพร้อมห่มผ้าให้ ก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมห่มผ้านอนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

ความสามารถด้านการควบคุมอุณหภูมิร่างกายของเด็กวัยแบเบาะนั้นไม่เท่าผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงใช้ผ้าห่มหรือห่อตัวเด็กไว้เพื่อรักษาความอบอุ่นของร่างกาย ความเคยชินนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ติดผ้าห่มเช่นกัน โดย Anna McGinn เสริมว่า “เมื่อเราห่มผ้า เหมือนเราบอกร่างกายและสมองของเราว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว”

มนุษย์ขี้ร้อน VS ผ้าห่ม

ในกรณีที่เราเป็นคนร้อนง่ายไม่ชอบห่มผ้าเอาเสียเลย แต่ถ้าไม่ห่มก็นอนไม่หลับอีก เพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ Ann McGinn มีคำแนะนำมาฝาก

1.  ลดระดับอุณหภูมิของห้องนอนให้เย็นลง โดยอุณหภูมิที่พอเหมาะพอดีอยู่ที่ประมาณ 19 – 23 องศาเซลเซียส

2. อย่าเข้านอนโดยไม่ห่มผ้า! เปลี่ยนมาเลือกผ้าห่มที่บางลงและระบายอากาศได้ดีแทน เช่นผ้าลินิน ผ้าฝ้าย หรือผ้าใยไผ่

3. เลือกผ้าห่มสีอ่อนเพราะสีอ่อนดูดซับแสงน้อยกว่าสีเข้ม

4. เลือกผ้าหรือผ้าห่มที่ช่วยเรื่องระบายความร้อนโดยเฉพาะ


อย่างไรก็ตามการนอนหลับอย่างมีคุณภาพก็ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างมากกว่าแค่ผ้าห่ม (เช่น ท่าทางการนอนหลับ)  Anna McGinn ยอมรับว่าการหาวิธีการนอนที่เหมาะกับเราที่สุดนั้นค่อนข้างท้าทาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้นหาวิธีการนอนนั้นสำคัญ เพราะเราทุก ๆ คนควรนอนหลับอย่างมีคุณภาพทุก ๆ คืน


ที่มา


เรื่องโดย