ชวนข้ามมิติแห่งกาลเวลาย้อนกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นการทะลุกระจกบานใหญ่แบบทวิภพ หรือจากเสียงมนต์สะกดของคัมภีร์กฤษณะกาลีอย่างละครเรื่องบุพเพสันนิวาส…
แต่ครั้งนี้ KiNd จะพาไปดูความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมป้อมปราการ และความรุ่มรวยของวัฒนธรรมย่านป้อมเพชร ที่เรียกได้ว่าเป็นประตูด่านหน้า และเป็นเมืองท่าการค้านานาชาติที่สำคัญของอยุธยาเมืองหลวงแต่ก่อนเก่าของไทย
ปราการด่านหน้าป้องกันข้าศึก!
☖☗
“ป้อมเพชร” เป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บริเวณทางแยกระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก (ปัจจุบันมักเรียกกันว่า “จุดสำเภาล่ม” เนื่องจากเป็นจุดน้ำวนซึ่งทำให้เรืออับปางอยู่เสมอ) อยู่ใกล้กับวัดสุวรรณดาราราม สันนิษฐานว่าสร้างในรัชสมัยของสมเด็จพระธรรมราชา ช่วงปี พ.ศ. 2123 ป้อมเพชรเป็นหนึ่งในป้อมของกรุงศรีอยุธยาที่ยังหลงเหลือมาในปัจจุบัน และได้รับการกล่าวขานว่า “มีความแข็งแรงประดุจเพชร” ตามดังชื่อที่ตั้งไว้ให้สอดคล้องกัน
จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของป้อมแห่งนี้ มีการก่อสร้างทับซ้อนกันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกมีลักษณะเป็นรูปกลมมน ส่วนครั้งที่ 2 มีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม สร้างทับลงบนฐานกลมมนเดิม สันนิษฐานว่าป้อมรูปกลมมนเป็นรูปแบบที่ช่างโปรตุเกสเป็นผู้ออกแบบ ดังปรากฏหลักฐานในอาณานิคมหลาย ๆ แห่งที่ชาวโปรตุเกสเคยยึดครอง
ส่วนป้อมรูปหกเหลี่ยมคาดการณ์ว่าสร้างขึ้นภายหลัง โดยการออกแบบของช่างชาวฝรั่งเศส เพราะเป็นแบบที่นิยมสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยสามารถเห็นได้จากลักษณะของป้อมเมืองลพบุรี และเมืองบางกอก ตัวป้อมนั้นมีความสูง 6.50 เมตร ส่วนผนังก่อด้วยอิฐสลับด้วยศิลาแลงหนา 14 เมตร มีช่องเชิงเทินเป็นรูปโค้งซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ ถือเป็นป้อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามาทางน้ำ ตรงมุมพระนครด้านตะวันออกเฉียงใต้ โดยป้อมนี้สามารถประจันรับข้าศึกได้รอบทิศ แต่ละด้านจะมีช่องกุด (ช่องประตูเล็ก ๆ ใช้ตั้งปืนใหญ่ แต่มีบางช่องใช้เป็นประตูเข้า-ออกเมือง) ทำให้สามารถยิงปืนใหญ่ออกไปจากทุกทิศทุกทางได้
หากจะบอกว่า “ป้อมเพชร” เป็นเหมือนปากประตูสู่พระนครก็ดูจะไม่เสียหาย เพราะถือเป็นจุดแรกที่เรือทุกลำที่แล่นผ่านกรุงศรีอยุธยาจะต้องเห็น นอกจากป้อมเพชรจะเป็นป้อมปราการที่ใหญ่ที่สุดของเมืองที่ช่วยป้องกันศัตรูผู้รุกรานในภาวะสงครามแล้ว ยังถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศอีกด้วย
จากคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม บรรยายถึงป้อมเพชรไว้ว่า “ป้อมปืนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงมั่งคงแข็งแรง สูง 3 วา 2 ศอก ป้อมนี้สูงกว่ากำแพงกรุง 2 ศอก มีชานชาลารอบป้อมกว้าง 3 วา มีกำแพงแก้วล้อมรอบชานป้อม มีประตูช่องกุฎข้างซ้ายป้อมประตู 1 ข้างขวาป้อมประตู 1 ประตูทั้งสองนั้นเดินออกตามชานป้อมใหญ่ได้รอบป้อม มีปืนแซกตามช่อง 8 กระบอก ชั้นล่างปืนใหญ่รางเกวียนบันจุทุกช่อง 16 กระบอก ป้อมใหญ่นี้มีชื่อ ป้อมเพชร ตั้งอยู่ตรงแม่น้ำตะลาดบางกะจะ… ป้อมเพชรมีรูปร่างเหมือนหัวสำเภา คนแต่ก่อนเรียกย่านหัวสาระภา บริเวณนี้ยังเป็นย่านการค้าของชาวจีนตั้งแต่ป้อมเพชร มีตลาดใหญ่ (ย่านในไก่) ต่อเนื่องตลาดน้อย จนถึงวัดสุวรรณดาราราม”
ย่านการค้านานาชาติ ต้อนรับพ่อค้าจากตะวันออกและตะวันตก
☖☗
ลองจินตนาการหากเราได้ขึ้นไปยืนมองภาพจากมุมบนป้อมเพชร ประตูแห่งการค้าในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาพที่ได้เห็นจะเป็นเช่นไร? แม่น้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบ พร้อมเรือแพนาวานานาชาติที่ใช้ขนถ่ายสินค้าจอดแน่นขนัด และละลานตาไปด้วยพ่อค้าหลากหลายเชื้อชาติ ตามที่เอกสารจากหอหลวงพรรณนาไว้โดยสรุป ดังนี้
มีเรือปากกว้างมากกว่า 7 เมตร พวกพ่อค้าจีนและแขกจามทอดสมอขายน้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด สาคูเม็ดใหญ่เม็ดเล็ก กำมะถัน จันทน์แดง หวายตะค้า กระแชง เคย และสินค้าต่าง ๆ จากชายฝั่งทะเล มีแพลอยของพวกลูกค้าไทย จีน แขกเทศ แขกจาม นั่งร้านแพ ขายสรรพสิ่งของต่าง ๆ กันทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ท้ายปากคลองวัดสุวรรณดาราราม ตลอดแม่น้ำไปจนหน้าพระราชวังหลัง นอกจากนั้นทางฝั่งตรงข้ามป้อมเพชร มีแพจอดตั้งแต่ท้ายวัดพนัญเชิงตลอดไปจนท้ายวัดพุทไธศวรรย์ และเลยไปจอดเป็นระยะจนหน้าวัดไชยวัฒนาราม ตรงฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ท้ายเกาะเรียน มีแพจอดเรี่ยรายขึ้นมาจนถึงท่าเสือข้าม มีแพชุกชุมมากขึ้นมาจนถึงท้ายวัดพนัญเชิง
ในตำนานกรุงเก่า เรียกบริเวณป้อมเพชรว่า “บางกะจะ” ซึ่งมีเรือนแพและร้านค้ามากมาย เรือสินค้าจากหัวเมืองชายทะเล และเรือสินค้าชาวต่างชาติจะเข้ามาจอดขายเต็มไปหมด ที่นี่จึงเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่งของพระนคร ส่วนบริเวณหลังป้อมเพชรเป็นย่านพักอาศัยของขุนนางชั้นสูง (รวมถึงพระราชชนกของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ด้วยเช่นกัน)
สมัยอยุธยาได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย-เปอร์เซีย สินค้าส่งออกของอยุธยาที่ขายยังต่างประเทศ ได้แก่ ข้าว หมากพลู ฝ้าย กระวาน กานพลู ไม้กฤษณา ทองคำ เงิน พลอย ดีบุก เครื่องถ้วยชามสังคโลก เครื่องปั้นดินเผา และของป่าต่าง ๆ ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากเรือของต่างชาติ ได้แก่ ผ้าแพร ผ้าลูกไม้ เครื่องหอม ถ้วยชาม เครื่องกระเบื้องญี่ปุ่น ใบชา สุรา กระดาษ เครื่องแก้ว เหล็ก ทองแดงแท่ง เครื่องมือช่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีทางโปรตุเกสที่ส่งทูตมา และมีการติดต่อกับทางฝั่งยุโรป ทำให้มีการนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาสร้างป้อมปราการ และมีการสร้างพัฒนาอาวุธให้ทันสมัยขึ้น โดยป้อมเพชรกลายเป็นป้อมปราการสำคัญที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของชาวต่างชาติเกือบทุกฉบับทั้งของชาวฮอลันดาและชาวฝรั่งเศสว่าเคยเดินทางมาเยือน
ถึงเวลากลับมาทัศนา ด้วยสายตาของปัจจุบัน
☖☗
ปัจจุบันร่องรอยความรุ่งเรืองของบริเวณป้อมเพชรเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ทั้งสถาปัตยกรรมของตัวป้อม และบรรยากาศความครึกครื้นที่เคยเป็นย่านการค้าขายสมัยอดีต แน่นอนว่าสภาพของสถาปัตยกรรมต้องมีความเสียหายไปตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เมื่อครั้งเสียกรุงฯ และเสื่อมถอยไปตามกาลเวลาที่ยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ ทว่า “ป้อมเพชร” เงาอดีตที่แข็งแกร่งยังคงทอดยาวมาจวบจนปัจจุบัน (เพราะป้อมอื่น ๆ นั้นไม่มีร่องรอยของโบราณสถานหลงเหลืออยู่เลย นอกจากป้อมเพชร และป้อมประตูข้าวเปลือก ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณวัดราชประดิษฐานเท่านั้น)
หากเรายืนทัศนาจากมุมมองบนป้อมเพชร ณ ขณะนี้ ทุกคนจะได้เห็นวิวของสายน้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักสีขุ่นที่นิ่งสงบ นาน ๆ ทีจะมีเรือน้อยใหญ่ไม่กี่ลำที่แล่นลอยผ่าน ทิวทัศน์รอบป้อมเพชรเป็นอิฐเก่า ๆ กับซากปรักหักพังที่ยังคงรูปร่างของป้อมปราการเดิมอยู่ และมีการปรับแต่งพื้นที่บางส่วนเป็นสวนหย่อมให้ผู้คนมาพักผ่อนหย่อนใจริมแม่น้ำ เมื่อปัจจุบันกำลังเริ่มถวิลหาอดีต ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดเหมือนกันว่า ถ้าความรุ่งเรืองในอดีตเหล่านั้นกลับมาอีกครั้งในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร…
อ้างอิง
- วชิรญาณ. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา. https://vajirayana.org
- ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา. /www.facebook.com/HistoryKrungsriAyutthaya
- ป้อมเพชร. https://thailandtourismdirectory.go.th
- อยุธยา-Ayutthaya Station. www.facebook.com/Ayutthayastation
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. ท่าเรือนานาชาติ ย่านการค้า ยุคอยุธยา. www.matichon.co.th/columnists
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. ย่านการค้านานาชาติ แต่ขาดแบ่งปันความรู้ ที่อยุธยา. www.matichon.co.th/columnists