Kind Words

เปิดกรุ 5 ตัวละคร LGBTQ+ ในตำนาน ที่คุณอาจไม่เคยรู้!

ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนนี้ KiNd ยังคงตามติดกระแส Pride Month เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งปัจจุบันในโลกความเป็นจริงมีผู้คนให้ความสนใจและออกมาเคลื่อนไหว เพื่อแสดงตัวตนและจุดยืนกันอย่างอิสระ พร้อมเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม แต่รู้หรือไม่ว่า? ในโลกบันเทิง หรือโลกแห่งจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน แอนิเมชัน หรือภาพยนตร์ ได้มีการสอดแทรกเรื่องราวของตัวละคร LGBTQ+ เพื่อให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศมาเนิ่นนานแล้ว แม้ว่าในอดีตจะยังไม่เปิดกว้างเฉกเช่นปัจจุบันก็ตามที

วันนี้ KiNd ชวนไปทำความรู้จักกับ 5 ตัวละครในตำนานจากการ์ตูนและภาพยนตร์ที่หลายคนอาจจะรู้จัก แต่อาจจะไม่ทันสังเกตว่าบทบาทของตัวละครที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอนั้น แสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศได้อย่างแยบยล ไปดูพร้อมกันเลยว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง และคุณรู้จักตัวละครเหล่านี้กันบ้างหรือไม่

🌈
“เซเลอร์ ยูเรนัส” (Sailor Uranus) สาวหล่อจากเรื่องเซเลอร์มูน (Sailor Moon)

: อัศวินแห่งท้องนภา ผู้พิทักษ์ดาวมฤตยู ดวงดาวแห่งสายลม เซเลอร์ยูเรนัส ประโยคประจำตัวของ “เซเลอร์ยูเรนัส” หรือ “เทนโอ ฮารุกะ”

กระโปรงสีน้ำเงิน จากการ์ตูนเรื่องเซเลอร์มูนที่ออกฉายในช่วงยุค 90s ถือเป็นตัวละครแรก ๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็น LGBTQ+ ของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ สะท้อนภาพของสาวหล่อเท่ ผู้ชื่นชอบกีฬาและความเร็วเป็นชีวิตจิตใจ เป็นคู่รักกับ “เซเลอร์เนปจูน” หรือ “ไคโอ มิจิรุ” สาวสวยผมสีเขียว กระโปรงเขียว มีความสามารถด้านการวาดภาพและเล่นดนตรี ซึ่งทั้งคู่เป็นอัศวินเซเลอร์ประจำดาวเคราะห์วงนอกที่เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับสาว ๆ เซเลอร์ประจำดาวเคราะห์วงใน

เมื่อการ์ตูนเซเลอร์มูนได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีการใส่ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเข้าไป สำหรับตัวละครอย่างเทนโอ ฮารุกะ ได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการการ์ตูนญี่ปุ่น โดยเป็นตัวละคร LGBTQ+ คนแรกที่คว้ารางวัลดารานำหญิงยอดนิยมจากงานประกาศผลรางวัลแอนิเมะกรังด์ปรีซ์ ครั้งที่ 17 ที่จัดขึ้นโดยนิตยสาร Animage ในปี ค.ศ. 1995 ด้วย

การ์ตูนแนวสาวน้อยเวทมนตร์ นับว่าเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องเซเลอร์มูนฉบับแอนิเมะได้ตีความตัวละครจากฉบับมังงะบางตัวให้ชัดขึ้น หรืออาจจะฉีกจากเดิม ถือเป็นการนำเสนอมุมมองด้านความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

🌈
ทิงกี้ วิงกี้ (Tinkie Winkie) เกย์สุดน่ารักจากเรื่องเทเลทับบีส์ (Teletubbies)

เชื่อว่ากลุ่มคนที่มีวัยเด็กอยู่ในยุค 90s คงจะจำภาพตัวละครหลัก 4 สีแสนสดใส ไม่ว่าจะเป็นสีม่วง – ทิงกี้วิงกี้ สีเขียว – ดิฟซี่ สีเหลือง – ลาล่า และสีแดง – โพ ที่ยังคงฝังลึกอยู่ในห้วงความทรงจำ ขอเท้าความกันสักนิด “เทเลทับบีส์” คือ รายการทีวีสำหรับเด็กวัยก่อนเข้าเรียน เริ่มต้นออกอากาศทางช่อง BBC มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 จนถึงปี ค.ศ. 2001 เป้าหมายหลักคือการสร้างความเพลิดเพลินและสนุกสนาน ผ่านตัวละครหลัก 4 พี่น้องที่ออกมาแจกความสดใสบนหน้าจอทีวี เรื่องราวเกิดขึ้นบนดินแดนเทเลทับบีส์อันกว้างใหญ่ และมีตัวละครประกอบอย่างเจ้าเครื่องดูดฝุ่นที่ดูเหมือนสัตว์เลี้ยง และพระอาทิตย์ที่หน้าเหมือนทารกมาช่วยเติมเต็มความสนุกสนาน พร้อมมีคำฮิตติดปากอย่าง “โอ๊ะโอ” และ “หมดเวลาสนุกแล้วสิ” ถือเป็นการ์ตูนที่เด็ก ๆ หลายคนในยุคนั้นติดกันงอมแงมเลยทีเดียว แต่นอกจากความสนุกแล้ว ตัวละครแต่ละตัวยังแฝงไปด้วยความหลากหลายทางสังคมอีกด้วย

โดยตัวละครที่เราจะพูดถึงกันคือ “ทิงกี้วิงกี้” พี่ใหญ่ของบ้าน มีนิสัยน่ารัก อ่อนโยน ชอบทำขนมหวาน ชอบถือกระเป๋าสีแดงเหมือนกระเป๋าผู้หญิง นอกจากนี้ ยังมีลักษณะที่สื่อถึงความเป็น LQBTQ+ คือโดดเด่นด้วยตัวสีม่วง ส่วนบนหัวมีเสาอากาศที่เป็นรูปสามเหลี่ยมอันเป็นสัญลักษณ์ของ Gay Pride จนทำให้ในปี ค.ศ. 1999 เกิดเป็นกระแสขึ้นมาจากนักวิจารณ์รายการทีวีชื่อ Jerry Falwell ผู้นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ ออกมาเขียนบทความโจมตีเทเลทับบีส์ ในเชิงเตือนพ่อแม่ที่มีลูกให้ระวังตัวละครตัวสีม่วงไว้นะ เพราะทิงกี้วิงกี้เป็นเกย์อย่างเปิดเผย (Parents Alert: Tinky Winky Comes Out of the Closet)

หลังจากนั้นเขาก็ได้ไปออกรายการโทรทัศน์ในรายการ Today Show พร้อมกล่าวว่า

“เด็กผู้ชายวิ่งเล่นไปมาพร้อมกับถือกระเป๋าผู้หญิงและทำตัวบอบบาง เป็นการทิ้งแนวคิดความเป็นชายและแสดงความเป็นผู้หญิงแทน ซึ่งจะทำให้คนคิดว่าการเป็นเกย์มันโอเค แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ชาวคริสเตียนเห็นด้วย”

ต่อมาผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในอเมริกันได้ออกมาจัดงานแถลงข่าวว่า เทเลทับบีส์ เป็นการ์ตูนที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน มันเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและน่ารักที่สุดที่เด็ก ๆ สามารถรับชมได้” แม้ว่าปัจจุบันเทเลทับบีส์จะกลายเป็นแค่การ์ตูนเด็กในอดีต แต่เรื่องราวและภาพตัวละครที่มีสีสันอันหลากหลายนั้น ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนอย่างแน่นอน

🌈
“เอมโพริโอ อิวานคอฟ” (Emporio Ivankov) กะเทยผู้แข็งแกร่งจากเรื่องวันพีซ (One piece)


สาวกการ์ตูนญี่ปุ่นอันโด่งดังอย่างวันพีซ ต้องรู้จักตัวละครที่มาสร้างสีสันตัวนี้อย่างแน่นอน นั่นก็คือ “เอมโพริโอ อิวานคอฟ” หรือ “อิวา” เป็นราชินีกะเทยผู้ครองอาณาจักรคามาเบกกะ และเป็นหนึ่งในผู้นำกองทัพของคณะปฏิวัติ ร่วมกับดราก้อนซึ่งเป็นพ่อของตัวละครเอกอย่างลูฟี่อีกด้วย ตอนแรกที่ปรากฏตัวออกมาคือตอนที่ช่วยลูฟี่หลบหนีออกจากคุกอิมเพลดาวน์ (คุกที่ใช้คุมขังผู้กระทำความผิดและโจรสลัดจากทั่วโลก) และยังมีพลังพิเศษในการควบคุมฮอร์โมนได้อย่างอิสระจากการกินผลไม้ปีศาจโอรุ โฮรุ ถือว่าเป็นตัวละครแนว LGBTQ+ ที่มีบทบาทสำคัญตัวหนึ่งเลย


อิวาเป็นชายที่มีร่างกายสูงใหญ่ มีขนตาสีดำยาว และโดดเด่นด้วยผมทรงแอโฟรสีม่วง นิสัยส่วนตัวจะเป็นคนที่เสียงดังและเปิดเผย ให้ความสำคัญกับมิตรภาพและความผูกพันเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ เขายังมีความเชื่อว่าผู้คนควรเป็นในสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือโอคามะ (กะเทย) ขอแค่ได้เป็นสิ่งที่อยากเป็นก็เพียงพอแล้ว โดยเขาได้ก้าวข้ามเรื่องการแบ่งแยกเพศไปตั้งนานแล้ว


นอกจากนี้ ในการ์ตูนเรื่องวันพีซยังมีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศอีก ได้แก่ “บอน เคลย์” (Bon Clay) ถือเป็นหนึ่งในตัวละครแรก ๆ ที่เรียกตัวเองว่ากะเทย ในอดีตเคยเป็นหนึ่งในศัตรูตัวหลักของกลุ่มหมวกฟาง แต่ด้วยมิตรภาพที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นเพื่อนรักกันในที่สุด และตัวละครอีกตัวคือ “คิคุโนะโจ” (Kikunojo) ซามูไรจากแคว้นวะ แม้ตัวเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง แต่งกายด้วยชุดกิโมโนจนดูแทบไม่ออกเลยว่าเป็นผู้ชาย โดยอาจารย์โอดะ ผู้เขียนเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอภาพลักษณ์ของความเป็น LGBTQ+ ผ่านท่าทางหรือสรีระเพื่อบ่งบอกเพศ ทว่าใช้บทสนทนาในเรื่องเพื่อสื่อความแทน วันพีซจึงกลายเป็นการ์ตูนขึ้นหิ้งอีกเรื่องที่สามารถสะท้อนวัฒนธรรม และภาพสังคม LGBTQ+ ในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างดีเยี่ยม

🌈
“อัลบัส ดัมเบิลดอร์” (Albus Dumbledore) พ่อมดหัวใจสีม่วงจาก Fantastic Beast

“อัลบัส ดัมเบิลดอร์” คือหนึ่งในตัวละครสำคัญในนวนิยายอันโด่งดังของ J.K. Rowling ทั้งเรื่อง “Harry Potter” และ “Fantastic Beast” หากจะบอกว่าตัวละครตัวนี้ เป็นพ่อมดหัวใจสีม่วงก็คงจะไม่เกินจริงนัก เพราะเรื่องราวความรักของดัมเบิลดอร์ที่มีให้กับเกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ พ่อมดหนุ่มที่เป็นคู่หูกันมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น โดยทั้งคู่มีความชื่นชอบและสนใจในเรื่องคล้ายกัน จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเกินกว่าเพื่อน ถึงขั้นตกลงทำสัญญาเลือดร่วมกัน ทว่านิยามความรักของทั้งคู่ได้กลายเป็นเพียงแค่ศัตรูที่รักกันเท่านั้น เมื่อกรินเดลวัลด์ กลับไปหลงใหลในศาสตร์มืด จนทำให้ทั้งคู่ต้องเดินกันคนละเส้นทาง

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Fantastic Beast ได้ย้อนเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งคู่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในภาค The Secrets of Dumbledore ที่เท้าความตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์จนถึงจุดแตกหัก และด้วยความที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายทั่วโลก ทำให้บางประเทศที่มีกฎหมายห้ามนำเสนอเรื่องราวของ LGBTQ+ ถึงกับต้องตัดฉากบางฉากออกกันเลยทีเดียว

🌈
เลอฟู (LeFou) ตัวละครชายรักชายจากภาพยนตร์เรื่อง Beauty and the Beast

ภาพยนตร์จากค่าย Disney เรื่อง Beauty and the Beast (2017) ถูกสร้างให้มีเรื่องราวที่น่าสนใจขึ้น ด้วยการเพิ่มบทบาทของ “เลอฟู” ตัวละครจอมเปิ่นที่เป็นลูกสมุนวายร้ายคอยซัพพอร์ตลูกพี่อย่างแกสตอง ให้มีรสนิยมรักเพศเดียวกัน ถือว่าเป็นตัวละครดิสนีย์ตัวแรกที่เป็น LGBTQ+ เลยก็ว่าได้ ซึ่งตัวละครเลอฟู รับบทโดย จอช แกด (Josh Gad) นักแสดงชาวอเมริกันเจ้าบทบาท

“เลอฟู คือคนที่วันหนึ่งก็อยากเป็นแกสตอง ส่วนอีกวันก็อยากจูบแกสตอง” ผู้กำกับ บิล คอนดอน (Bill Condon) ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Attitude “เขาสับสนว่าตัวเองต้องการอะไร เขาคือใครสักคนที่เพิ่งรู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้ ซึ่งการแสดงของ จอช แกด เป็นอะไรที่ชาญฉลาดและมีรสชาติมาก”

เลอฟู เป็นลูกน้องที่ค่อนข้างรักเเละชื่นชมลูกพี่แบบเเกสตอง ซึ่งในความรักและเคารพอย่างสูงสุดนี่เอง ทำให้ในภาพยนตร์ถูกตีความใหม่ และเพื่ออุทิศให้กับ “ฮาเวิร์ด แอชแมน” (Howard Ashman) นักแต่งเนื้อเพลงมือทองของดิสนีย์ผู้มีรสนิยมชายรักชาย และเสียชีวิตจากโรคเอดส์ (AIDS) ก่อนที่เพลงในการ์ตูน Beauty and the Beast จะคว้ารางวัลออสการ์ได้ไม่นาน

แน่นอนว่าคาแรกเตอร์ตัวละคร LGBTQ+ จากการ์ตูนและภาพยนตร์หลายเรื่องนั้น ได้รับการยกย่องจากหลายฝ่ายด้านการเปิดกว้างเรื่องมุมมองความหลากหลายทางเพศ หากแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กลับสร้างเสียงต่อต้านจากอีกหลายฝ่ายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจากกลุ่มศาสนาหัวอนุรักษ์นิยม ที่ออกมาเรียกร้องให้ชาวคริสเตียนจากแต่ละประเทศคว่ำบาตรการ์ตูนหรือภาพยนตร์นั้น ๆ  ก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า สิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถเปิดกว้างได้มากเพียงใดทั้งในโลกชีวิตจริงและโลกบันเทิง


อ้างอิง

เรื่องโดย