Kind Words

เพราะรักจึงฆ่า: ซาดะ อาเบะ


ว่ากันว่าจิตใจมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึง ทั้งยังลึกลับและคดเคี้ยวเกินกว่าจะเข้าใจ เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของ “ซาดะ อาเบะ” ฆาตกรที่ฆ่าคนรักด้วยเหตุผลสุดขนลุกที่ว่า “ไม่อยากให้เขาได้โอบกอดใครอีก” จุดเริ่มต้นของความคลั่งรักในครั้งนี้คือสิ่งใด KiNd จะพามาย้อนถึงเรื่องราวนี้กัน

*บทความนี้เต็มไปด้วยความหดหู่และความน่ากลัว ควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ควรอ่านเพียงลำพัง

เมื่อชีวิตเริ่มต้น
ด้วยความผิดพลาด

“ซาดะ อาเบะ” เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง มีพี่น้องรวมแปดคน ด้วยความที่เป็นลูกคนเกือบสุดท้อง เธอจึงได้รับการศึกษาและมีอิสระในการใช้ชีวิตเฉกเช่นหญิงสาวทั่วไป ซาดะเป็นคนร่าเริงและชอบเพ้อฝัน เธอหลงใหลในเสียงดนตรี พ่อกับแม่จึงสนับสนุนให้เธอเรียนร้องเพลงและเล่นเครื่องดนตรีโบราณของญี่ปุ่นอย่างซามิเซ็ง (Shamisen) แม้ว่าในสมัยนั้นการร้องรำทำเพลงจะเป็นสัญลักษณ์ของเกอิชาและโสเภณีก็ตาม


เมื่อซาดะอายุย่าง 15 ปี สถานการณ์ในครอบครัวก็ไม่สู้ดีนัก พี่น้องบางคนเริ่มมีพฤติกรรมเสื่อมเสีย บางคนติดเหล้า บางคนติดพนัน ในขณะเดียวกัน ซาดะก็พบเจอกับเหตุการณ์ที่พลิกชะตาชีวิตเธอไปตลอดกาล ในวันนั้นเธอได้เดินทางไปท่องเที่ยวกับเพื่อน ๆ ตามประสาเด็กสาว และถูกคนรู้จักข่มขืน ทำให้เธอกลายเป็นคนกร้านโลกและดื้อด้าน ซาดะเริ่มใช้ชีวิตเหลวแหลกและรักสนุก ทิ้งความรักและความหวังดีของคนในครอบครัวไว้ข้างหลัง ด้านพ่อกับแม่เอือมระอาจนเกินจะรับไหว ในปี ค.ศ. 1922 ซาดะจึงถูกส่งไปขายที่บ้านเกอิชา ในเมืองโยโกฮามา

ช่วงแรกเริ่มการฝึกเป็นเกอิชา ซาดะต้องพบเจอกับการฝึกที่เคร่งครัดและกดดัน แม้ภายนอกจะดูแข็งกระด้างแต่จิตใจที่บอบช้ำข้างในไม่อาจทนได้อีก ในไม่ช้า ซาดะก็ตัดสินใจก้าวเข้าสู่โลกของการเป็นเกอิชาชั้นล่าง ซึ่งหมายถึงเธอขายบริการทางเพศร่วมด้วย ซาดะใช้ชีวิตเช่นนี้ราวห้าปี ก่อนจะพบว่าตัวเองเป็นโรคติดต่อซิฟิลิส (Syphilis) เธอจึงเลือกเดินเข้าสู่อาชีพโสเภณีแบบเต็มตัว

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในขณะนั้นการทำอาชีพโสเภณีไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซาดะเริ่มทำงานเป็นโสเภณีที่ซ่องโทบิตะ ในโอซาก้า แต่การทำงานไม่ราบรื่นนัก ด้วยอุปนิสัยที่ดื้อรั้น ไม่ยอมคน อีกทั้งยังชอบลักเล็กขโมยน้อยหลายครั้ง เธอกลายเป็นตัวปัญหาที่ใครหลายคนเกลียดชัง ท้ายที่สุดก็ถูกผลักไสให้ออกจากซ่องไป เธอกลายเป็นโสเภณีไร้ใบอนุญาต แม้จะสามารถหาเงินได้เยอะ แต่ก็ไม่อาจนำพาชีวิตให้ดีขึ้นได้ ซ้ำยังตกต่ำลงเรื่อย ๆ ทั้งเป็นหนี้ ถูกจับเพราะไม่มีใบอนุญาต ซ้ำพ่อกับแม่มาเสียชีวิตไปในเวลาใกล้เคียงกัน ปัญหาต่าง ๆ ถาโถมใส่ซาดะแบบไม่ยั้ง ราวกับชีวิตกำลังเดินถอยหลังลงคลองอย่างไม่มีสิ้นสุด

 

ชีวิตรักอันบิดเบี้ยว
สู่การฆาตกรรมอันพิสดาร

ในปี ค.ศ. 1936 ซาดะได้เข้าไปทำงานเป็นแม่บ้านในบ้านของข้าราชการชั้นสูง ไม่นานก็กลายเป็นชู้รักกับเจ้าของบ้าน ซึ่งเขาก็ เอ็นดูซาดะ พร้อมสนับสนุนให้เธอได้มีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น โดยการส่งให้ไปเรียนรู้กิจการร้านอาหารกับคิจิโซ อิจิดะ เมื่อทั้งสองได้พบกัน คิจิโซที่เดิมทีมีนิสัยเจ้าชู้ แม้จะมีภรรยาอยู่แล้วแต่ก็แสดงออกว่าสนใจเธออย่างเปิดเผย ซาดะเองก็ตกหลุมรักคิจิโซตั้งแต่แรกพบ เธอได้รับความสนใจและการดูแลเอาใจใส่แบบที่ไม่เคยได้รับมาก่อน จึงหลงใหลในรักครั้งนี้อย่างลึกซึ้ง

 

นานวันเข้า จากความหลงใหลกลายเป็นความคลั่งไคล้ และลุ่มหลง เธอกลัวว่าคิจิโซจะหมดรักและทิ้งเธอไปในไม่ช้า ผนวกกับที่เริ่มติดเหล้าอย่างหนัก จึงทำให้อารมณ์แปรปรวน และเกิดภาพหลอน จนมีหลายครั้งที่เธอขู่ฆ่าคิจิโซหากเขาไปมีหญิงอื่น และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ขณะที่ทั้งสองร่วมรักกันอย่างเคย ซาดะได้ใช้สายโอบิรัดคอคิจิโซขณะสำเร็จความใคร่ ด้วยความตั้งใจหรือความพลั้งเผลอไม่อาจทราบได้ คิจิโซเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจในเวลาต่อมา

หลายชั่วโมงหลังจากคิจิโซเสียชีวิต ซาดะยังคงเฝ้ามองศพของเขาไม่จากไปไหนราวกับคนไร้สติ ก่อนจะตัดสินใจตัดอวัยวะเพศของศพออก และนำไปห่อกับปกนิตยสารเอาไว้ จากนั้นใช้เลือดเขียนชื่อทั้งสองไว้บนเตียงนอนและบริเวณต้นขาซ้ายของศพ พร้อมทั้งสลักชื่อของเธอไว้ที่แขนซ้าย ก่อนจะออกไปใช้ชีวิตตามปกติ และไม่ลืมที่จะพกอวัยวะเพศของศพไว้ติดตัวไปด้วย

 

ในเวลาต่อมา มีคนพบศพคิจิโซนอนเสียชีวิตในห้องพักโรงแรม เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสืบค้นหาเบาะแสของคนร้าย และแน่นอนว่าใช้เวลาตามจับไม่นานนัก เพราะซาดะได้เขียนชื่อเอาไว้บนเตียงและบนตัวของผู้ตายอย่างโจ่งแจ้ง พร้อมหลักฐานสำคัญอย่างอวัยวะเพศที่เธอซ่อนเอาไว้ภายใต้ชุดที่สวมใส่ สิ่งที่สร้างความประหลาดใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจคือ ใบหน้าที่ยิ้มแย้มไร้ซึ่งความหวาดกลัว ทั้งยังพูดคุยอย่างเป็นกันเองและเล่าถึงแผนการฆ่าตัวตายของเธอต่อจากนี้อย่างเปิดอก

 

หากถามถึงสาเหตุการฆาตกรรมในครั้งนี้ ซาดะเล่าว่า “ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ คงมีผู้หญิงคนอื่นอีกมากมายที่จะเข้ามา หากฉันฆ่าเขา เขาก็จะโอบกอดใครไม่ได้อีก การที่ฉันเอาชิ้นส่วนของร่างกายเขาไป ฉันเพียงอยากเก็บไว้รำลึกความหลังระหว่างเราก็เท่านั้น”

คำให้การแสนบิดเบี้ยว บวกกับคดีฆาตกรรมแสนพิสดาร ในไม่ช้าก็กลายเป็นข่าวดังไปทั่วญี่ปุ่น สื่อหลายแห่งเริ่มนำประวัติของเธอมาตีแผ่ วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมและวิธีคิดที่ผิดแปลก ในชั้นศาลซาดะยอมรับทุกข้อกล่าวหา จึงได้รับโทษจำคุกราว 6 ปี และได้รับอภัยโทษในเวลาต่อมา

 

อิทธิพลของสื่อกับการสร้างภาพจำ
ในฐานะวีรสตรี

หลายปีต่อมา เรื่องราวของซาดะยังคงถูกเล่าขานผ่านสื่อต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาพจำของเธอถูกตีความไปหลายบริบทตามความเห็นของผู้สร้างสรรค์ อย่างในหนังสือจิตวิทยาชื่อ “Geisha, Harlot, Strangler, Star: A Woman, Sex and Morality in Modern Japan” ที่ตีแผ่คำให้การของซาดะพร้อมวิเคราะห์ถึงสาเหตุในการฆ่า ในสารคดีประวัติอาชญากรรมโดยผู้หญิงในยุคเมจิไทโชและยุคโชวะ ที่ตีพิมพ์ประวัติตั้งแต่เด็กจนโตของซาดะในชื่อ “Sada Abe Incident” ในบทกวี “Memories of Abe Sada : Half a Lifetime of Love” (1948) ที่เน้นบอกเล่าแง่มุมความรักไปจนถึงสาเหตุในการฆาตกรรม และในเรื่องสั้นอย่าง “The State of the Times” (1946) และ “The Seductress” (1947) ที่ยกย่องซาดะเป็นวีรสตรี เพราะเธอมีจิตใจที่เด็ดเดียวและกล้าหาญ ทั้งยังลบภาพจำของหญิงสาวผู้อ่อนโยนตามขนบดั้งเดิมของญี่ปุ่นออกไปได้ อาทิ การเริ่มทำงานนอกบ้าน การใช้ชีวิตตามความต้องการของตนเอง ไปจนถึงการแสดงออกถึงความปรารถนาทางเพศอย่างชัดเจน ซาดะจึงกลายเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญในการออกมาประท้วงของผู้หญิง เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้หญิงถูกกดขี่จากสังคมถึงขีดสุด 

สิ่งเหล่านี้ได้สร้างภาพจำใหม่ให้แก่ซาดะ เธอถูกพูดถึงอีกครั้งไม่ใช่ในฐานะฆาตกรโรคจิต แต่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกในฐานะ “ผู้หญิง” และกลายเป็นวีรสตรีคนสำคัญของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย



อ้างอิง

  • สินีนาฏ มาละอินทร์. บทความวิจัยเรื่อง Sada Abe ในภาพยนตร์ : ศึกษาเปรียบเทียบภาพยนตร์เรื่อง A Woman Called Sada และ In the Realm of the Senses. http://isas.arts.su.ac.th/?p=1077
  • คดีสะเทือนขวัญ. ซาดะ อาเบะ “ฉันรักผู้ชายคนนี้”. https://bit.ly/3EHTfgE
  • ซากุระเที่ยงคืน. ต้นฉบับคดีฆ่า-ตัด-ตอน ของญี่ปุ่น www.blockdit.com/posts/5eecc7669264aa4f64092b47

เรื่องโดย