ท่ามกลางผืนทะเลทรายซาฮาราที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ความว่างเปล่า เม็ดทรายละเอียดที่พัดมาตามสายลมร้อนกำลังทำให้ดวงตาของผู้มาเยือนพร่าเลือนลงช้า ๆ แต่ในดินแดนที่ดูเหมือนจะถูก “พระเจ้าทอดทิ้ง” แห่งนี้ กลับเป็นแหล่งพำนักชั้นดีของชนเผ่าทูอาเร็ก (Tuareg) หรือที่รู้จักกันในนาม The Blue Men of The Sahara ชนเผ่าที่มีชื่อเป็นภาษาอาหรับนี้ เมื่อแปลตรงตัวจะได้ความว่า “ผู้ที่ถูกพระเจ้าทอดทิ้ง” และตอนนี้พวกเขาก็กำลังใช้ชีวิตอย่างอิสระในดินแดนที่พระเจ้าไม่เหลียวแล
ชนเผ่าทูอาเร็ก ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและอาศัยอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึงสองล้านราย พวกเขาจึงใช้ชีวิตเยี่ยงเสรีชนอยู่ในหลายประเทศ เช่น ไนเจอร์ มาลี ลิเบีย แอลจีเรีย บูร์กินาฟาโซ และชาด หากเล่าย้อนไปถึงต้นกำเนิดของชาวทูอาเร็กจริง ๆ ยังไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขามาจากไหนกันแน่ หลักฐานที่ชัดเจนที่สุด ได้รับการจดบันทึกโดย เฮอรอโดทัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช
Photo Credit: R. Kyurdski /druginovini.com Photo Credit: R. Kyurdski /druginovini.com Photo Credit: Nicholas Jubber /cnn.com
ชนเผ่าผ้าคลุมสีคราม
●●●
แม้ว่าชนเผ่าทูอาเร็กจะนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ แต่ความแตกต่างของพวกเขาคือ มีเพียงผู้ชายที่อายุครบ 25 ปีบริบูรณ์เท่านั้นที่ต้องสวมชุดคลุมสีครามปกปิดร่างกายทุกส่วน เว้นไว้เพียงดวงตาเท่านั้น ส่วนผู้หญิงสามารถแต่งกายได้ตามอิสระ ตามแต่พวกเธอต้องการ
นอกจากนี้ชนเผ่าทูอาเร็กยังให้เกียรติสตรีอย่างมาก พวกเธอสามารถมีสิทธิมีเสียงในทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ในครอบครัวไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับเผ่า และไม่ต้องกังวลว่าชายที่แต่งงานด้วยจะมีภรรยาหลายคนตามหลักศาสนาอิสลามที่อนุญาตให้สามีมีภรรยาหลายคนได้ เพราะที่ชนเผ่าแห่งนี้พวกเขารักเดียวใจเดียว การมีภรรยาหลายคนจึงไม่ใช่สิ่งที่คนในเผ่าปรารถนา
อีกทั้งผู้หญิงยังสามารถมีสิทธิขึ้นเป็นผู้นำเผ่าได้อีกด้วย เพราะตามบันทึกโบราณระบุว่า ครั้งหนึ่งชาวทูอาเร็กเคยได้รับการปกครองโดยราชินี Tin Hinan ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล แม้หลายคนจะเชื่อว่าราชินี Tin Hinan จะเป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนาน แต่ในปี ค.ศ. 1925 นักโบราณาคดีได้ค้นพบหลุมศพของ Tin Hinan ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโอเอซิสแห่งอาบาเลสซา ประเทศแอลจีเรีย ห่างจากแอลเจียร์ทางใต้ประมาณ 1,000 ไมล์ (1,550 กิโลเมตร) นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ชั้นดีว่า ชนเผ่าทูอาเร็กเคยได้รับการปกครองโดยสตรีมาก่อน
Photo Credit: Nicholas Jubber / cnn.com Photo Credit: R. Kyurdski /druginovini.com Photo Credit: R. Kyurdski /druginovini.com
หนึ่งในวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดมานับพันปีของชาวทูอาเร็กคือ Tam Tam การเต้นรำแบบโบราณ โดยผู้ชายในชนเผ่าจะขี่อูฐและบังคับอูฐให้เดินเป็นวงกลมล้อมรอบสตรีที่กำลังร้องเพลงและตีกลอง เสียงเพลงและบทสนทนาระหว่างกองไฟ เป็นยาชั้นดีคอยกล่อมเกลาจิตใจและร่างกายที่อ่อนล้าจากอากาศอันร้อนระอุในตอนกลางวัน ส่วนที่พักของชนเผ่าทูอาเร็กจะมีลักษณะเรียบง่าย เป็นกระท่อมที่สร้างขึ้นมาจากโครงไม้และผ้า กลายเป็นอาณาเขตเล็ก ๆ คอยปกป้องตัวเองและคนในครอบครัวในยามที่ความมืดมิดมาเยือน
เจ้าแห่งทะเลทราย
●●●
เนื่องจากต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในทะเลทราย การทำปศุสัตว์และเกษตรกรรมจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก ชนเผ่าทูอาเร็กมักเดินทางไปแลกเปลี่ยนสินค้าในเมืองข้างเคียง เพื่อนำความเจริญมาสู่ดินแดนของตน ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่พวกเขาชื่นชอบในการทำการค้ากับเมืองรอบข้างคือ อัญมณี เพชร พลอย หรือก็คือสินค้าฟุ่มเฟือยทุกชนิด เพราะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และขายได้ราคางาม จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมของเล็ก ๆ เหล่านี้จึงทำให้พ่อค้าทูอาเร็กเลือกบรรทุกลงหลังอูฐ พร้อมเคลื่อนขบวนคาราวานออกเดินทางไกลนับพันกิโล
Photo Credit: Anna Gibiskys /flickr.com Photo Credit: R. Kyurdski /druginovini.com
แต่ความมั่งคั่งที่พวกเขาได้รับยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากเกลือที่พ่อค้าทูอาเร็กจะนำกลับเผ่ามาด้วยทุกครั้งแล้ว สินค้าอีกหนึ่งชนิดที่ได้กำไรมหาศาลคือ “มนุษย์” พวกเขาลักลอบใช้เส้นทางทะเลทรายที่มีน้อยคนนักจะเชี่ยวชาญ ในการขนส่งมนุษย์ออกนอกประเทศ เพื่อไปเป็นแรงงานทาสในเมืองอื่น โดยผู้รับซื้อมักจะเป็นชาวยุโรปและชาวตะวันออกกลาง ด้วยเหตุนี้พ่อค้าทูอาเร็กส่วนใหญ่จึงเลือกตั้งรกรากในเมืองเพื่อความสะดวกทางการค้ามากขึ้น
Photo Credit: James Michael Dorsey / transitionabroad.com Photo Credit: Russian Seven /zen.yandex.ru Photo Credit: IomMonica Chiriac /medium.com
ผู้กล้าหรือกบฎ?
●●●
เพื่อความอยู่รอดของชนเผ่า ทูอาเร็กบางคนเลือกสมัครเข้าร่วมกองทัพลิเบีย ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตเผด็จการลิเบีย แม้ว่ากัดดาฟีจะถูกโค่นล้มอำนาจและเสียชีวิตลง แต่ความจงรักภักดีที่มีต่อผู้นำคนนี้ยังไม่เสื่อมคลาย กองกำลังที่มีเชื้อสายทูอาเร็กนี้จึงเลือกที่จะปกป้องซาอีฟ อัล-อิสลาม กัดดาฟี ลูกชายคนที่สองของเขาต่อไป
มูฮัมมาร์ กัดดาฟี ถึงขนาดกล่าวยกย่องความแข็งแกร่งของทหารชาติพันธุ์ทูอาเร็กว่า พวกเขาคือนักสู้ที่มีความมุ่งมั่นสูงและมีไหวพริบเป็นเลิศ ด้วยเหตุนี้ทูอาเร็กจึงได้รับหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของซาอีฟ อัล-อิสลาม กัดดาฟี ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่กัดดาฟีผู้พ่อได้วางตัวไว้ให้เป็นทายาททางการเมืองคนต่อไป ในระหว่างที่ลี้ภัยไปทางทะเลทรายซาฮารา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างประเทศไนเจอร์และมาลี นอกจากนี้ ทหารทูอาเร็กได้จัดตั้งกองกำลังอิสระขึ้นในปี ค.ศ. 2011 โดยใช้ชื่อว่า The National Movement for the Liberation of Azawad (NMLA) ทำหน้าที่ต่อต้านรัฐบาลมาลีภายใต้การนำของประธานาธิบดีอามาดู ตูมานี ตูเร เนื่องจากรัฐบาลเพิกเฉยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าทูอาเร็กที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ชาวทูอาเร็กจึงลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลตูเรที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 จนสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ในปี ค.ศ. 2012
อ้างอิง
- In the shadow of jihad, nomadic life across the Sahara hangs by a thread. https://edition.cnn.com/nicholas-jubber-nomad-life-sahara
- Lost Lords of the Sahara. www.nationalgeographic.com/sahara-tuareg
- The Tuareg of the African Sahara. www.bradshawfoundation.com
- THE TUAREG OF THE SAHARA. www.fjhakimian.com/tuareg-sahara
- Timbuktu: The Blue Men of The Sahara. www.gonomad.com/timbuktu-the-blue-men-of-the-sahara
- Tuaregs: 5 Things You Need to Know. www.pri.org/tuaregs-5-things-you-need-know
- Tuareg people. https://en.wikipedia.org/wiki/Tuareg_people
- ชมวัฒนธรรมสุดแปลกของชนเผ่าในแอฟริกา. www.posttoday.com/world/468952
- สาธารณรัฐมาลี. www.mfa.go.th