Kind Places

“ปรางค์วัดพระราม” สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาอันเก่าแก่กว่า ๖ ศตวรรษ


“พระนครศรีอยุธยา” หนึ่งในจังหวัดที่เรียกได้ว่ามีวัดและโบราณสถานอย่างอึดตะปือนัง ให้เราได้ไปสัมผัสร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์กันอย่างจุใจ แต่ช่วงนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ (ระลอก 3) ในประเทศไทยยังไม่เป็นใจนัก เพราะไม่ว่าจะเดินทางออกไปไหนก็ดูจะเสี่ยงไปเสียหมด ถ้าอย่างนั้นวันนี้ KiNd ขออาสาพาทุกคนไปเที่ยวทิพย์แบบออนไลน์กันก่อนพลาง ๆ ที่ “วัดพระราม” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และถ้าสถานการณ์กลับมาดีขึ้นเมื่อไหร่ ค่อยออกไปลั้นลากันแบบจัดเต็ม!


ปฐมบทแห่งตำนานวัดพระราม
∆∆∆

“…ศักราช ๗๓๑ ระกาศก (พ.ศ. ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ครั้นเถิงศักราช ๗๓๒ จอศก (พ.ศ. ๑๙๑๓) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา แลท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี…”


จากพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ข้างต้น ให้การไว้ว่า วัดพระรามสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๒ โดยสมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างวัดนี้ตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นพระราชบิดา แต่ในช่วงเวลานั้นสมเด็จพระราเมศวรเสวยราชสมบัติอยู่เพียงปีเดียว จึงสันนิษฐานว่าวัดพระรามไม่ได้รับการสร้างต่อให้แล้วเสร็จ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองช่วงการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพ่องั่ว แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ได้เสด็จมายึดราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ขณะที่สมเด็จพระราเมศวรกำลังเสวยราชสมบัติอยู่ จึงทรงตัดสินพระทัยถวายราชสมบัติให้แก่ขุนหลวงพ่องั่ว เพราะคิดว่าทรงมีพระราชอำนาจเป็นรอง และได้ถอยทัพกลับไปตั้งหลักที่ลพบุรี)


ปัจจุบันยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในสมัยใด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าคงจะสร้างต่อในสมัยที่สมเด็จพระราเมศวรเสวยราชย์ครั้งที่ ๒ หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ สวรรคตแล้ว หรือสร้างแล้วเสร็จในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑ ถึงอย่างไรก็ตามร่องรอยแห่งความรุ่งเรือง และความงดงามของสถาปัตยกรรมก็ยังคงทอดยาวมาให้เราได้เห็นกันในปัจจุบันนี้

วัดพระรามตั้งอยู่นอกเขตพระราชวังไปทางด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับวิหารพระมงคลบพิตร สำหรับพื้นที่โดยรอบของวัดนี้จะมีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด สันนิษฐานว่าเมื่อครั้งสถาปนากรุงศรีอยุธยาคงจะมีการขุดนำดินในหนองมาถมพื้นที่พระราชวังและวัด พื้นที่ที่ขุดนำดินไปนั้นจึงกลายเป็นบึงใหญ่ ซึ่งบึงนี้มีชื่อปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่า “บึงชีขัน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บึงพระราม” และปัจจุบันคือ “สวนสาธารณะบึงพระราม” ซึ่งใช้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

Photo Credit : Google Maps


พระปรางค์องค์ใหญ่สูงตระหง่านตระการตา
∆∆∆


เมื่อเดินลอดผ่านซุ้มประตูเข้าไปภายในวัด สิ่งที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างแรกเลยก็คือ “พระปรางค์องค์ใหญ่” ที่ตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่น หนึ่งในสถาปัตยกรรมไทยซึ่งเป็นหลักประธานในวัดเช่นเดียวกับพระเจดีย์ โดยพระปรางค์องค์นี้เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลแบบเขมรโบราณจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งมีคติความเชื่อในศาสนาฮินดูว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “เขาพระสุเมรุ”



พระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ที่มุมปรางค์ประกอบด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ และมีพระปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศเหนือ โดยใต้รอบปรางค์เล็กจะมีเจดีย์ล้อมรอบอีก ๔ ด้าน นอกจากนี้ยังมีเจดีย์เล็กบ้างใหญ่บ้างล้อมอยู่รอบ ๆ องค์พระปรางค์ ประมาณ ๒๘ องค์ รวมถึงมีวิหารเล็กและใหญ่อยู่ตามทิศต่าง ๆ รอบวัดซึ่งเชื่อมต่อกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ทว่าจะเห็นเป็นเพียงเค้าโครงของซากปรักหักพังเท่านั้น เพราะโครงสร้างกำแพงของวิหารทรุดโทรมไปมาก

อีกจุดเด่นหนึ่งของวัดพระรามคือ ภายในองค์พระปรางค์มีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัยบนบัลลังก์ (ปัจจุบันปิดไม่ให้ขึ้นไปชม เนื่องจากความทรุดโทรมของพระปรางค์) และยังมีเจดีย์รายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าวัดนี้มีการบูรณะและก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง


“วัดพระราม” ถือเป็นอีกหนึ่งวัดในอยุธยาที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เคยมา เพราะเป็นวัดที่ไม่โด่งดังหรือขึ้นชื่อมากนัก แต่ขอบอกเลยว่าถ้าได้ลองมาแล้วจะประทับใจ ควรค่ายิ่งแก่การมาศึกษาหาความรู้ หรือท่องเที่ยวทัศนา พร้อมกับซึมซับร่องรอยทางประวัติศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะเรื่องสถาปัตยกรรมของโบราณสถานอันงดงาม



ที่มา

  • ชวนเที่ยวกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา. ww2.ayutthaya.go.th
  • เทคนิค “รัฐประหาร” ฉบับกรุงศรีอยุธยา วงศ์สุพรรณภูมิยึดบัลลังก์วงศ์อู่ทอง. www.silpa-mag.com
  • พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. https://vajirayana.org
  • วัดพระราม พระนครศรีอยุธยา พ.ศ.๒๔๘๙. www.facebook.com/77PPP/posts/

เรื่องและภาพโดย