Kind National

การขับเคลื่อนของประชาชนเพื่อสังคมผู้สูงอายุ สู่ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ (ภาคประชาชน)


รายงาน “World Population Ageing 2019” ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 32-33 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ แต่อีก 20 ปีข้างหน้าก็ดูจะเป็นตัวเลขที่ไกลเกินไป KIND NATIONAL จึงขออนุญาตขยับร่นปีพุทธศักราชให้เข้ามาใกล้อีกนิด เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นั่นคือ ในปี 2568 หรืออีกเพียงแค่ 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 22 นับเป็นการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) อย่างสมบูรณ์

แต่เมื่อหันมาเพ่งพิจารณาถึงสวัสดิการที่ได้รับจากรัฐบาลกลับแปรผกผันกับจำนวนตัวเลขผู้สูงอายุในประเทศเป็นอย่างมาก จึงทำให้กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการทำการยื่นร่างหนังสือ พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ก.ค.) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกมารับหนังสือฉบับร่าง เพื่อส่งต่อให้สำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

ขณะที่หลายคนอาจมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่เราอยากให้คุณลองจินตนาการถึงสังคมที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยคุณปู่/ คุณย่า คุณตา/ คุณยาย ที่ยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตวัยเกษียณควรจะได้พักผ่อนอยู่บ้านกับลูกหลาน แต่การจะทำแบบนั้นได้ สวัสดิการพื้นฐานภายในประเทศจะต้องครอบคลุมทุกครัวเรือน

จึงเป็นที่มาของการผลักดันร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติฯ โดยมี นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ออกมาขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยมากกว่าที่ผ่านมา เพราะครั้งหนึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เคยเป็นแรงงานสำคัญของประเทศที่คอยโอบอุ้มเศรษฐกิจไม่ให้ร่วงหล่น แต่เมื่อถึงคราวเกษียณสวัสดิการที่ได้รับกลับไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน แม้ว่ารัฐบาลจะได้ทำการมอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แล้วก็ตาม แต่การมอบเบี้ยยังชีพของรัฐบาลนั้นใช้เกณฑ์การพิจารณาร่วมกับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ซึ่งความต้องการของประชาชนคือ รัฐบาลควรนำเส้นความยากจนของประเทศเข้ามาพิจารณาร่วมกับการมอบเบี้ยยังชีพ

ส่วนตัวเลขเส้นความยากจนในประเทศไทย สามารถนำมาไล่เรียงตามช่วงเวลาของรัฐบาลสมัยต่าง ๆ ได้ ดังนี้

1. สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย พ.ศ. 2535-2538 (สมัยที่ 1) และ พ.ศ. 2540-2544 (สมัยที่ 2) 

เส้นความยากจน: ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ. 2535 เส้นความยากจนอยู่ที่ 1,086 บาท เมื่อสิ้นสุดวาระที่ 1 ในปี พ.ศ. 2537 เส้นความยากจนขยับเพิ่มมาที่ 1,306 บาท ต่อมาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระที่ 2 ในปี พ.ศ. 2541 เส้นความยากจนอยู่ที่ 1,533 บาท และเมื่อสิ้นสุดวาระ เส้นความยากจนได้ขยับเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คือ 1,555 บาท

2. สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2544-2549 

เส้นความยากจน: ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ. 2545 เส้นความยากจนอยู่ที่ 1,606 บาท และเมื่อสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ. 2549 เส้นความยากจนอยู่ที่ 1,934 บาท

3. เกิดการรัฐประหาร นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน พ.ศ. 2549 ต่อมารัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 29 มกราคม พ.ศ. 2551 

เส้นความยากจน: ปี พ.ศ. 2549 เส้นความยากจนอยู่ที่ 1,934 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 เส้นความยากจนขยับมาที่ 2,172 บาท


4. สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ.ศ. 2551-2554 

เส้นความยากจน: ในปี พ.ศ. 2552 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,174  บาท และเมื่อสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ. 2554 เส้นความยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 2,415 บาท


5. สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ.ศ. 2554-2557 

เส้นความยากจน: ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,492 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 2,647 บาท


6. รัฐบาลปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน 

เส้นความยากจน: ในปี พ.ศ. 2557 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,647 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 เส้นความยากเพิ่มขึ้นเป็น 2,710 บาท


ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ (ฉบับประชาชน) จึงได้อัดแน่นไปด้วยความต้องการของประชาชนอย่างเต็มเปี่ยม และสามารถสรุปเป็นหลักการสั้น ๆ 3 ข้อ ได้แก่

1. ครอบคลุม – จากเดิมที่รัฐบาลมอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในรูปแบบสงเคราะห์ ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุบางกลุ่มไม่ได้รับเบี้ยยังชีพอย่างทั่วถึง ควรเปลี่ยนมาเป็นการมอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแก่ทุกคน โดยไม่แบ่งแยกทางด้านรายได้ 

2. เพียงพอ – ใช้เส้นความยากจนที่ปรับเปลี่ยนตามสภาวะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในประเทศเข้ามาแทนที่การอ้างอิงจากอัตราเงินเฟ้อ เพราะอัตราเงินเฟ้อคือการที่สินค้ามีราคาแพงขึ้นแต่ปริมาณที่สามารถซื้อได้กลับเท่าเดิม เช่น ข้าวจานละ 40 ในอดีตกินได้ 2 จาน แต่ในปัจจุบันกลับกินได้เพียงแค่ 1 จาน จึงทำให้ประชาชนต้องใช้เงินมากกว่าเดิมเพื่อซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิมในราคาแพงขึ้น แต่เส้นความยากจนจะเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เบี้ยยังชีพที่อิงตามเส้นความยากจนจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

3. ยั่งยืน – การมีกฎหมาย พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติฯ มารองรับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร คือตัวแปรหลักที่ทำให้ชีวิตวัยเกษียณของผู้สูงวัยได้รับการรองรับว่าไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย สามารถมั่นใจได้เลยว่าผู้สูงอายุจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ. ฉบับนี้

สามารถอ่านร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ ฉบับเต็มได้ที่: www.parliament.go.th



ที่มา:

  • บำนาญแห่งชาติ. www.facebook.com
  • ธนพล ไชยภาษี. สังคมผู้สูงอายุ. www.posttoday.com
  • สถิติรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน. http://statbbi.nso.go.th
  • รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำใประเทศไทยปี 2555. www.dsdw2016.dsdw.go.th
  • N. Kakwani. A NEW MEASUREMENT OF POVERTY IN THAILAND. http://pioneer.netserv.chula.ac.th
  • Poverty: The History of a Measure. www.census.gov