- หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) คือตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจากการออกหุ้นกู้ ไปใช้ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 โดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 3,000 ล้านบาท แก่นักลงทุนสถาบันรายใหญ่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ฉบับนี้ไม่ได้เปิดเผยว่าอ้างอิงตามหลักเกณฑ์การออก Green Bond ที่เป็นมาตรฐานใด นักลงทุนบางส่วนจึงไม่นับว่าเป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่เสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักลงทุนที่เป็นประชาชนทั่วไป โดยเสนอขายมูลค่าไม่เกิน 2,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี
ในยุคที่ผู้บริโภคคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หันมาบริโภคสินค้าทางเลือก หรือเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจหันมาทำธุรกิจภายใต้แนวคิดอย่างยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
สำหรับการจัดการธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจจดทะเบียน ซึ่งคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้กำหนดมาตรฐานการประเมินด้านความยั่งยืนและส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ (Environmental Social and Governance: ESG) ในรายงานประจำปีด้วย
โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนในประเทศไทยเริ่มมีการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจยั่งยืนและตอบโจทย์นักลงทุนที่หันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน
สำหรับหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจากการออกหุ้นกู้ไปใช้ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนพลังงานหมุนเวียน โครงการขนส่งสาธารณะด้วยพลังงานไฟฟ้า โครงการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและลดภาวะโลกร้อน โครงการรีไซเคิลขยะ เป็นต้น โดยราคาเสนอขายทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 1,000 บาท จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท เป็นต้นไป
ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็สามารถระดมทุนจากนักลงทุนในกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้จะเกิดความมั่นใจว่าเงินที่นำไปลงทุนนั้น นำไปใช้ในการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ตลาดหุ้นกู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เติบโตขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าประมาณ 580,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตถึง 4 เท่า จากปี พ.ศ. 2557 และคาดว่า ปี พ.ศ. 2563 มูลค่าตลาดหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะสามารถทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้
ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหันมาทำนโยบายด้านความยั่งยืนมากขึ้น โดยด้านการลงทุนได้ออกตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำเงินทุนไปใช้ในโครงการที่มุ่งพัฒนาและแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพิ่งเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักลงทุนที่เป็นประชาชนทั่วไปครั้งแรก เพื่อนำไปลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับการปลูกป่า หรือ เมื่อปี พ.ศ. 2562 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นแรกที่ออกภายใต้เกณฑ์การเสนอขายของ ก.ล.ต. มูลค่า 13,000 ล้านบาท แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศ เพื่อนำไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม เป็นต้น
Photo Credit: wid turbine/ pexels
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ปี พ.ศ. 2563 อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ทั่วไป และอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่มีอายุ 3 ปี เรตติ้ง AAA (THA) หรือหุ้นกู้ที่ออกในประเทศไทยที่มีอันดับเครดิตสูงสุด เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 3 ปี พบว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจเสนอให้แก่นักลงทุน กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ต่ำกว่าส่วนต่างผลตอบแทนของหุ้นกู้ทั่วไปที่มีเรตติ้งในระดับเดียวกัน ส่งผลให้ธุรกิจที่เสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่ากรณีเสนอขายหุ้นกู้ทั่วไป
อัตราผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้และพันธบัตร อายุ 3 ปี เรตติ้ง AAA (THA) ณ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563
- หุ้นกู้ทั่วไป 1.78% ต่อปี
- หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 1.67% ต่อปี
- พันธบัตรรัฐบาล 0.58% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอัตราผลตอบแทนที่ธุรกิจจะเสนอขายให้แก่นักลงทุน อาจถูกกำหนดจากอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการ แผนการลงทุนในอนาคต ความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงภาพรวมตลาดในแต่ละช่วงเวลา
การขยายตัวของตลาดหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่หลายองค์กรเสนอขายออกมานั้น นอกจากองค์กรผู้ออกหุ้นกู้จะได้เงินทุนไปดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว นักลงทุนทั้งสถาบันรายใหญ่ รายย่อย และประชาชน ก็มีทางเลือกลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง