จากเมล็ดโกโก้สู่การเป็นช็อกโกแลต เบื้องหลังที่มาของขนมหวานยอดฮิตกลับเต็มไปด้วยรสชาติหวานอมขมกลืนของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ขณะที่จุดหมายคือความอร่อยให้ผู้คนทั่วโลกได้ลิ้มรส แต่ระหว่างทางกลับต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อและความไม่เป็นธรรมมากมาย
เพราะผลผลิตโกโก้ส่วนใหญ่มาจากทวีปแอฟริกาใต้ จึงอาจกล่าวได้ว่าช็อกโกแลตในมือผู้บริโภคทั่วโลกนั้น มีส่วนผสมของประเทศโกตดิวัวร์กับประเทศกานาอย่างละนิดละหน่อย ท่ามกลางตลาดช็อกโกแลตที่มีมูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และชะตาของผลผลิตที่อยู่ในกำมือผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทางอย่างฟาร์มโกโก้ เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้กลับทำรายได้ต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐต่อวัน
เส้นทางสู่การเป็นขนมหวานระดับโลก
เมล็ดโกโก้จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมหวานอย่างช็อกโกแลต
1. ปลูก หมัก และตากแห้ง
—
อันดับแรก เกษตรกรจะปลูกต้นโกโก้โดยใช้เมล็ดจากฝักโกโก้มาเพาะ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะไปต่อที่กระบวนการหมักโดยปิดด้วยใบตอง และตากให้แห้งบรรจุลงบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งภายในประเทศต่อไป
2. ขนส่งภายในประเทศ ทำความสะอาด และส่งออก
—
เมล็ดโกโก้ที่ผ่านกระบวนการตากแห้งแล้วจะเดินทางต่อไปยังคลังทำความสะอาดสินค้าหรือโรงงานแปรรูป และเตรียมพร้อมสำหรับส่งออกไปยังโรงงานผลิตช็อกโกแลตทั่วโลก
3.แปรรูป เข้าสู่กระบวนการผลิตช็อกโกแลต
—
โรงงานแปรรูปจะทำงานจากการคัดแยก คั่ว และบดเมล็ดโกโก้ และทำให้กลายเป็น โกโก้ลิเคอร์ (Cocoa Liquor) หรือเนื้อโกโก้เหลว โกโก้บัตเตอร์ (Cocoa Butter) หรือไขมันจากโกโก้ และ โกโก้เค้ก (Cocoa Cakes) ที่เหลือจากการแยกโกโก้บัตเตอร์ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นผงโกโก้ต่อไปได้ ผลผลิตจากโกโก้เหล่านี้จะนำไปผสมส่วนผสมอื่น ๆ เช่น น้ำตาลหรือนม เพื่อผลิตเป็นช็อกโกแลตต่อไป
การทำฟาร์มและการค้าโกโก้ถือเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมช็อกโกแลต ปริมาณวัตถุดิบต้นทางที่เพียงพอคือปัจจัยสำคัญที่แปรตรงกับราคาขายต่อผู้บริโภค
แล้วโกโก้พวกนี้มาจากไหนกันแน่?
ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในโลกของห่วงโซ่อุปทานโกโก้
การปลูกโกโก้มีข้อจำกัดทั้งด้านอุณหภูมิ น้ำ และความชื้น กลายเป็นว่าภูมิภาคที่ต้นโกโก้จะเติบโตได้จึงเหลือแค่ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาตอนกลางและตอนใต้ และทวีปเอเชีย เท่านั้น
ประเทศผู้ส่งออกโกโก้รายใหญ่ของโลก 5 อันดับแรกประกอบด้วย ประเทศโกตดิวัวร์ มีมูลค่าการส่งออกโกโก้ถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศกานา 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศแคมารูน 680 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเอกวาดอร์ 657 ล้านเหรียญสหรัฐ และประเทศเบลเยียม 526 ล้านเหรียญสหรัฐ
อันดับ (2019) | ประเทศผู้ส่งออกโกโก้ | มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) |
1 | โกตดิวัวร์ | 3,575 |
2 | กานา | 1,851 |
3 | แคมารูน | 680 |
4 | เอกวาดอร์ | 657 |
5 | เบลเยียม | 526 |
โกตดิวัวร์และกานาครองสัดส่วนการส่งออกโกโก้มากถึง 70 % จากทั่วโลก การส่งออกโกโก้นี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และแม้ว่าผู้ส่งออก 4 อันดับแรกจะมาจากภูมิภาคใกล้เส้นศูนย์สูตรทั้งหมด แต่เบลเยียมก็เบียดติดอันดับเข้ามาเช่นกัน
ในทางกลับกัน ประเทศที่นำเข้าโกโก้มากที่สุดเป็นประเทศในทวีปยุโรป ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าการนำเข้า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเยอรมนี 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศสหรัฐอเมริกา 931 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศมาเลเซีย 826 ล้านเหรียญสหรัฐ และประเทศเบลเยียม 719 ล้านเหรียญสหรัฐ
อันดับ (2019) | ประเทศผู้นำเข้าโกโก้ | มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) |
1 | เนเธอร์แลนด์ | 2,283 |
2 | เยอรมนี | 1,182 |
3 | สหรัฐอเมริกา | 931 |
4 | มาเลเซีย | 826 |
5 | เบลเยียม | 719 |
โกโก้ที่ผู้นำเข้าอันดับสามอย่างสหรัฐฯ นำเข้ามา ส่วนใหญ่มาจากโกตดิวัวร์ กานา และเอกวาดอร์ ผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่อย่าง Mars Hershey Cargill และ Blommer ล้วนมีฐานที่ตั้งโรงงานและสำนักงานใหญ่ในอเมริกา
สุดท้ายปลายทางจึงไม่น่าแปลกใจเท่าไร เมื่อประเทศผู้นำเข้าโกโก้รายใหญ่เหล่านี้ กลายเป็นประเทศผู้ครองตลาดการส่งออกช็อกโกแลตเช่นกัน
5 อันดับประเทศผู้ส่งออกช็อกโกแลตอันดับแรกคือ ประเทศเยอรมนี มีมูลค่าการส่งออกถึง 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเบลเยียม 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศอิตาลี 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเนเธอร์แลนด์ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศโปแลนด์ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
อันดับ (2019) | ประเทศผู้ส่งออกช็อกโกแลต | มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) |
1 | เยอรมนี | 4,924 |
2 | เบลเยียม | 3,143 |
3 | อิตาลี | 2,100 |
4 | เนเธอร์แลนด์ | 1,992 |
5 | โปแลนด์ | 1,834 |
สำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากการเป็นผู้นำเข้าโกโก้มากที่สุดในโลก ยังเป็นประเทศที่แปรรูปโกโก้มากที่สุดในโลกเช่นกันโดยแปรรูปมากกว่า 600,000 ตันต่อปี และครองอันดับที่ 4 สำหรับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากช็อกโกแลต
เบลเยียมเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทอย่างมากในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมช็อกโกแลต ทั้งการนำเข้าเมล็ดโกโก้จากประเทศแหล่งวัตถุดิบและการส่งออกทั่วทวีปยุโรป นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานช็อกโกแลตระดับโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งออกช็อกโกแลตทุก ๆ ปี ดังที่เห็นจากมูลค่าการส่งออกซึ่งสูงถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
กะเทาะเปลือกโกโก้: โครงสร้างราคาของช็อกโกแลตหนึ่งแท่ง
เรื่องน่าเศร้าที่พอจะเดาออกจากโครงสร้างราคาของช็อกโกแลตคือสัดส่วนราคาที่แบ่งกันไป ได้แก่ บริษัทผู้ค้าปลีกรับส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 44.2 % โรงงานผู้ผลิตช็อกโกแลตคิดเป็น 35.2 % โรงงานแปรรูปคิดเป็น 7.6 % เกษตรกรคิดเป็น 6.6 % การทำการตลาด 4.2 % และที่เหลือประมาณ 2.1 % คือค่าใช้จ่ายภายในกระบวนการขนส่ง
จากผู้ถือครองวัตถุดิบตั้งต้นของขนมหวานทั่วโลกและส่งออกโกโก้เป็นตัน ฟาร์มโกโก้กลับทำรายได้เพียง 6.6 % ซึ่งน้อยที่สุดในบรรดาผู้ค้าโกโก้
รายได้ที่ต่ำเตี้ยนำมาซึ่งปัญหาระดับชาติในอุตสาหกรรมการผลิตโกโก้
ธนาคารโลกได้กำหนด “เส้นความยากจน” หรือเกณฑ์รายรับต่อวันที่ใช้วัดระดับความยากจน ต่ำสุดอยู่ที่ 1.9 เหรียญสหรัฐ (57.48 บาท) ต่อวัน และเกษตรกรชาวกานาได้รับค่าแรงเพียง 1 เหรียญสหรัฐ (30.25 บาท) ต่อวันเท่านั้น ส่วนเกษตรกรชาวโกตดิวัวร์ได้รับค่าแรงต่ำถึง 0.78 เหรียญสหรัฐ (23.60 บาท) ต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนไปมาก
เหตุเพราะรายได้อันน้อยนิด ปัญหาที่ตามมาคือเกษตรกรไม่สามารถแบกรับต้นทุนในการปลูกโกโก้ได้ไหว เหล่าเกษตรกรจึงต้องจ้างแรงงานเด็กยากจนที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ และเด็กเหล่านี้ยังต้องเผชิญสภาพการทำงานที่โหดร้าย แลกกับรายได้เพียงน้อยนิด หรืออาจจะไม่ได้อะไรเลย
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบัน การทำฟาร์มโกโก้บางส่วนมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ฟาร์มโกโก้เถื่อนเหล่านี้เร่งปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างภาวะโลกร้อนให้เร็วขึ้น และทำลายระบบนิเวศภายในประเทศ ส่งผลให้สัตว์หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์
ปัญหาที่พันกันเป็นปมยุ่งเหยิงเหล่านี้ต้องการการจัดการอย่างเร่งด่วน แล้วเหล่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโกโก้ แก้ไขมันอย่างไรบ้าง?
มาตรการแก้ไขปัญหา
Mars, Nestle และ Hershey หนึ่งในผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ของโลก ได้กำหนดข้อผูกพันทางการค้าเพื่อจะลดการใช้แรงงานเด็กในฟาร์มโกโก้มามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ เช่น UTZ Certified หรือ Rainforest Alliance, and Fairtrade กำลังพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าได้ โดยการสร้างมาตรฐานการค้าโกโก้ ผ่านการรับรอง UTZ Certified ซึ่งผลผลิตโกโก้ที่ได้มาตรฐานนี้มาจากฟาร์มที่ปลูกโกโก้อย่างรับผิดชอบต่อสังคม ยั่งยืน และไม่มีการใช้แรงงานเด็ก
มากไปกว่านั้น ประเทศโกตดิวัวร์และประเทศกานาได้ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหา โดยการกำหนดราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน สำหรับสัญญาการซื้อขายล่วงหน้า มุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตเกษตรกรผ่านสหภาพผู้ค้าโกโก้ หรือที่รู้จักกันในนาม COPEC (Chamber of Petroleum Consumers)
แม้ว่านโยบายเหล่านี้จะเริ่มแสดงผลให้เห็นบ้างแล้ว แต่ปัญหายังคงเหลืออีกมากและการแก้ไขก็ยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อปลดแอกทั้งการใช้แรงงานเด็กและความยากจนของแรงงานทุกคนในห่วงโซ่อุปทานอันแสนขมขื่นของขนมหวานระดับโลกให้สำเร็จ
ที่มา
- Govind Bhutada. Cocoa: A Bittersweet Supply Chain. www.visualcapitalist.com