Kind Local

27 เมืองย่านสร้างสรรค์ นำร่องการพัฒนา “เมืองตามใจผู้อยู่”



เคยจินตนาการไหม…
ว่าอยากให้เมืองที่เราอยู่มีหน้าตาเป็นแบบไหน…”

บ้าน ชุมชน ย่าน และเมือง กลายเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทกับทุกชีวิตมากขึ้น และโจทย์ท้าทายใหม่ในช่วงโควิด-19 ก็คือ การพัฒนาเมืองควบคู่ไปพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจ แล้วการพัฒนาเมืองแบบไหน จะรองรับการกลับมาของผู้คนได้อย่างมีชีวิตชีวา และยั่งยืน 

KiNd ชวนทุกคนมาเปิดประเด็นทางสังคมจากการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง สู่การพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์

_

“ย่านสร้างสรรค์” (Creative District) คือ พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ และระบบนิเวศสร้างสรรค์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่นั้น ๆ ถือเป็นโมเดลสำหรับปลุกเมืองเก่าซึ่งใช้กันทั่วโลก สำหรับเมืองไทยที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ “ย่านเจริญกรุง” กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นถนนสายแรกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าร้อยปี เป็นย่านที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการปลุกเมืองด้วยศิลปะ ดีไซน์ และธุรกิจสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย 

แม้ว่าในอดีตมีการพัฒนาเมืองอยู่แล้วตามนโนบายต่าง ๆ แต่อีก 10 ปีข้างหน้านี้ เมืองขนาดกลางทั่วโลกมีแนวโน้มการพัฒนาและมีอัตราการเติบโตในระดับสูง โดยเปลี่ยนทิศทางความร่วมมือในรูปแบบของพัฒนาแบบทุกภาคส่วน ในยุคที่ประชาชนมีจำนวนมากขึ้น พื้นที่มีจำกัด ความแออัดของเมืองเริ่มก่อตัวขึ้นมาหลายรูปแบบ หลายเมืองทั่วโลกแก้ปัญหานี้ด้วยการพัฒนาเมืองตามโจทย์ที่ว่า “สร้างเมืองให้รู้ใจผู้อยู่” ถือเป็นโจทย์สำคัญซึ่งหลายจังหวัดในประเทศไทยได้มีการดำเนินการเรื่องนี้มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว 

เมืองเป็นพื้นที่ใหญ่ต้องพัฒนาหลายมิติ หลายพื้นที่เริ่มพัฒนาจากพื้นที่เล็ก ๆ ไปจนถึงชุมชน ย่าน และเมือง พร้อมกับค้นหาอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของคนในเมือง เพื่อลุกขึ้นมาฟื้นฟูย่านเศรษฐกิจเก่า และจากข้อมูลของเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2563 มีการสร้างย่านสร้างสรรค์แล้ว 27 แห่ง แยกตามภูมิภาคของประเทศไทยได้ ดังนี้

  • ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และพะเยา
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น สกลนคร นครราชสีมา และอุบลราชธานี
  • ภาคตะวันออก ได้แก่ สระแก้ว และระยอง
  • ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพ พิจิตร นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
  • ภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา และพัทลุง

ตัวอย่างกิจกรรมที่ปลุกย่านต่าง ๆ ให้มีชีวิตด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่น “Portrait of Songkhla” บันทึกเรื่องราวชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นกิจกรรมการถ่ายภาพที่จังหวัดสงขลา จากนั้นจะนำมาจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายในย่านเมืองเก่าสงขลา เพื่อให้ผู้คนทั้งใน และนอกพื้นที่เข้าใจประวัติศาสตร์เมืองมากขึ้น โดยนิทรรศการจะเริ่มในช่วงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2563 นี้ และอีกจุดหนึ่งที่ได้จัดไปแล้ว เมื่อสิ้นปีที่แล้วคือ “ตอน ต่อนยอน ออนคร๊าฟสตรีท” ที่สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นถนนคนเดินสายวัฒนธรรม เป็นตลาดที่นำวัสดุทางธรรมชาติรวมถึงวัสดุเหลือใช้มาสรรสร้างอย่างมีอัตลักษณ์ โดยพัฒนาให้มีเอกลักษณ์ผ่านรูปแบบของภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชวนเจาะลึกเข้าไปที่ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น

“Srichan is…” นึกถึงศรีจันทร์ แล้วนึกถึงอะไร
“เส้นเลือดใหญ่เมืองขอนแก่น”


ย่านถนนศรีจันทร์นั้น เรียกได้ว่าเป็นถนนที่อยู่กลางใจกลางเมืองขอนแก่น นอกเหนือจากความยาวจะคล้ายกับถนนเจริญกรุงแล้ว ในอดีตยังเป็นย่านการค้าดั้งเดิม ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และศูนย์รวมของวัฒนธรรม มีทั้งโรงเรียน ร้านหนังสือ โรงภาพยนตร์ และร้านค้าร้านอาหารหลากหลายแห่ง แต่ปัจจุบันเมืองขยายขึ้น ถนนเส้นนี้จึงไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้จึงได้เกิดการพัฒนาย่านนี้ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อ “ขอนแก่น x ศรีจันทร์” เพื่อรื้อฟื้นถนนสายเศรษฐกิจที่เคยคึกคักในอดีต ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยได้ร่างแนวคิดแผนพัฒนาย่านสร้างสรรค์ศรีจันทร์เบื้องต้น 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้นที่เน้นสร้างการรับรู้ แผนระยะกลางที่เน้นกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว และแผนระยะยาวที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วมและต่อยอดพัฒนา “สู่การเป็นย่านสร้างสรรค์”

โดยกิจกรรมล่าสุดของการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ คือ “MADE  IN  SRICHAN” กับ 10 ร้านย่านศรีจันทร์ x 10 นักออกแบบรุ่นใหม่ภายใต้ Concept : Srichan Old But Cool ซึ่งเป็นโปรเจกต์ต่อยอดสินทรัพย์อันมีคุณค่าของย่านศรีจันทร์ และพัฒนาศักยภาพของธุรกิจดั้งเดิม โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นเครื่องมือสําคัญ ผ่านการการทำงานร่วมกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เมนูใหม่ การเล่าเรื่องราวแบบใหม่ ที่จะกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ “ศรีจันทร์” เท่านั้น

“สวนแบ่งปัน” สร้างสัมพันธ์ย่านเมืองเก่าสงขลา

อีกหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองคือ ความสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองนั้น ๆ และการมีสวนต้นไม้เล็ก ๆ เป็นพื้นที่หย่อนใจที่ดึงดูดให้คนมาใช้เวลาในพื้นที่เดียวกัน นำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากขึ้น “สวนแบ่งปัน” ถือเป็นชุมชนขนาดย่อมสีเขียวใจกลางเมืองเก่าสงขลา ที่ใช้แนวคิด Pocket Park หรือสวนขนาดเล็กขนาด 6 x 17 เมตร โดยการเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว จากการชวนให้คนในชุมชนมาปลูกผัก ตอนนี้มีสมาชิกจากคนหลายรุ่นมาใช้เวลาและพูดคุยกันมากขึ้น ช่วยเติมความชีวิตชีวาให้เมืองสงขลาได้ไม่น้อย

“ผักเป็นตัวนำในการทำกิจกรรม จากคนที่ไม่ค่อยได้คุยกันไม่ค่อยได้พบปะกัน มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การทำแบบนี้ถือเป็นการสร้างเครือข่าย สร้างชุมชุนให้สนับสนุนชุมชนด้วยกัน ทุก ๆ เย็นเวลาผ่านมาก็จะเห็นคนมานั่งทานข้าวกัน ถางหญ้า รดน้ำต้นไม้ เอาอาหารมาแบ่งกันทาน เป็นภาพที่น่ารัก เป็นภาพที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้” 


เพราะเราทุกเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเมืองได้
มาร่วมสร้างเมืองย่านสร้างสรรค์ในแบบที่เราอยากให้เป็น
พร้อมเชื่อมร้อยผู้คน จากย่านที่เคยเงียบเหงาให้กลับมามีชีวิตชีวา


ที่มา


เรื่องโดย

ภาพโดย