Kind Global

เมื่อ “แซลมอน” เป็นชนวนเหตุนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองและบริษัทเอกชนในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย


ชนพื้นเมืองลุ่มแม่น้ำอามูร์และชาวเมืองฮาบารอฟสค์ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการที่เข้มงวดในการทำประมง หวังลดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชนพื้นเมือง ซึ่งขณะนี้พื้นที่ทำการประมงตรงบริเวณปากแม่น้ำถูกนายทุนครอบครองไปกว่า 800 กิโลเมตร พร้อมชี้ว่ารัฐไม่ควรมอบสิทธิพิเศษให้บริษัทเอกชนมากจนเกินไป

ความทรงจำเกี่ยวกับช่วงชีวิตวัยเด็กวัยเด็กของ Nadezhda Donkan เต็มไปด้วยภาพของหมู่บ้านที่เธอเติบโตมา ในเมืองฮาบารอฟสค์ ทางภูมิภาคตะวันออกไกลของประเทศรัสเซีย ซึ่งอุดมไปด้วยแซลมอนสีชมพู และแซลมอนชัม (Chum Salmon) ที่พากันแหวกว่ายทวนกระแสน้ำมาวางไข่ปลาสีส้มใบเล็กใบน้อยเต็มผืนน้ำไปหมด

__

FACT: ฮาบารอฟสค์ เป็นเขตการปกครองของประเทศรัสเซีย ตั้งอยู่ทางภูมิภาคตะวันออกไกลของประเทศ และมีศูนย์กลางการบริหารคือ ฮาบารอฟสค์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในดินแดนนี้และใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเมืองวลาดิวอสตอคของภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ในอดีตดินแดนแห่งนี้เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมาก่อน ทำให้ยังหลงเหลือร่องรอยของชนพื้นเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากทางเอเชีย เช่น ชนเผ่านาไน และชนเผ่าพื้นเมืองอีกหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ชนเผ่าอูเดเก ชนเผ่าโอรอช และชนเผ่าอุลช์ เป็นต้น

Donkan วัย 57 ปี ผู้สืบเชื้อสายจากชนพื้นเมืองนาไนที่มีวิถีชีวิตผูกติดอยู่กับแม่น้ำอามูร์แห่งนี้มานานหลายศตวรรษ เล่าถึงความทรงจำวัยเด็กด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข แต่ช่วงเวลาความสุขในวัยเยาว์ของเธอได้เลือนรางลงทุกขณะเมื่อจำนวนปลาแซลมอนในแม่น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย ซึ่งหากแม่น้ำไม่เหลือปลาให้จับอีกต่อไป ย่อมส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชนพื้นเมืองที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วดินแดนแห่งนี้กว่า 22,500 ชีวิตเป็นแน่

“เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ไม่อย่างนั้นในอนาคตลูกหลานของเราจะไม่มีโอกาสเห็นแม่น้ำที่อุดมไปด้วยปลาแซลมอนอีก” Donkan กล่าว


แต่ไม่ใช่เพียงแค่คนพื้นเมืองเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ หากยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อคนในเมืองหลวงของฮาบารอฟสค์กว่า 1.3 ล้านคน อีกด้วย ซึ่งปัญหาการทำประมงทั้งการลักลอบและเชิงพาณิชย์ไม่ได้เพิ่งมีมาเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา แต่มีมาตั้งแต่สมัยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 แต่ปัญหาการขาดแคลนปลาแซลมอนในแม่น้ำเริ่มเห็นภาพชัดในปี ค.ศ. 2017

“ในปีที่ผ่านมา ฉันแทบไม่เห็นปลาแซลมอนหรือปลาชนิดอื่นว่ายขึ้นมาให้เราเห็นเลย” Lyubov Odzyal หัวหน้าสมาคมชนพื้นเมืองของดินแดนคาบารอฟสค์ตอนเหนือ อีกทั้งยังเป็นหัวหอกในการพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้มานานกว่า 3 ปี กล่าว 


มังกรดำ

แม่น้ำอามูร์หรือแม่น้ำมังกรดำ เป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชีย ไหลลงสู่ช่องแคบทาร์ทารีซึ่งกั้นระหว่างทะเลญี่ปุ่นและทะเลโอค็อตสค์มีระยะทาง 4,440 กิโลเมตร และเป็นเส้นเขตแดนแบ่งระหว่างมณฑลเฮย์หลงเจียงของประเทศจีนกับประเทศรัสเซีย มีสายพันธุ์ปลาที่ใหญ่ที่สุด คือ ปลาสเตอร์เจียนขาว หากโตเต็มวัยสามารถมีความยาวได้ถึง 5.6 เมตร

ในแต่ละปี เมื่อถึงช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี บรรดาแซลมอนก็จะพากันแหวกว่ายทวนกระแสน้ำจากมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าหาฝั่ง ไปยังแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด โดยหาร่องน้ำตื้น ๆ และเลือกทำเลในการวางไข่ที่มีหินเล็กหินน้อยเป็นปราการกั้นไม่ให้ไข่ต้องลอยไปตามกระแสน้ำ เมื่อแซลมอนวางไข่ซึ่งถือเป็นภารกิจสุดท้ายของชีวิตจบสิ้นลง หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน แซลมอนอีกเจนเนอเรชันก็ได้ถือกำเนิดขึ้น และจะเติบโตในแหล่งน้ำจืดปากแม่น้ำซึ่งเป็นช่วงรอยต่อกับทะเลอยู่ประมาณ 2-4 ปี แล้วแต่ชนิดของสายพันธุ์ หลังจากนั้นก็พร้อมออกไปใช้ชีวิตในคาบมหาสมุทรต่อไป

Odzyal เล่าถึงปัญหาการกักตุนปลาแซลมอนที่เกิดขึ้นในเมือง Nikolayevsk-on-Amur ตั้งอยู่บริเวณริมปากแม่น้ำอามูร์ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของบริษัทเอกชนหลายราย ทำให้ปริมาณปลาแซลมอนที่จะส่งไปถึงท้ายน้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมืองทางฮาบารอฟสค์ตอนใต้ลดจำนวนลงตามไปด้วย 

จากจำนวนปลาแซลมอนที่ลดลงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการทำประมงแบบผิดกฏหมายและการกักตุนปลาแซลมอนจากทางปากแม่น้ำมากจนเกินไป Odzyal ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำสายสำคัญแห่งนี้ในการดำรงชีวิต

 “พวกเราชาวลุ่มแม่น้ำอามูร์หลายหมื่นชีวิต ล้วนต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำแห่งนี้ จริงอยู่ที่เราไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากนัก แต่เรามี ‘แม่น้ำ’ เป็นหนึ่งในความมั่งคั่งของเรา และเราไม่ต้องการสิ่งอื่นใดอีก” เธอกล่าว


“ดั่งเทพนิยาย”

ด้านบริษัทเอกชนหลายรายได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2010 มีการทำประมงเชิงพาณิชย์ในเมือง Nikolayevsk-on-Amur กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลกลางเองก็ได้ให้การสนับสนุนบริษัทเหล่านี้เป็นอย่างดี เช่น การลดหย่อนภาษี และสิทธิพิเศษอื่น ๆ โดยรัฐบาลมองว่า การทำประมงในแม่น้ำอามูร์ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกไกลอีกทางหนึ่ง

“ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นหลังจากมีหลายบริษัทเริ่มหันมาจับปลาแซลมอนกันมากขึ้น ทำให้ประชากรปลาแซลมอนเริ่มลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง” Alexander Pozdnyakov ประธานสมาคมวิสาหกิจประมงแห่งลุ่มแม่น้ำอามูร์กล่าว “ก่อนหน้านี้ หลายบริษัทได้กระจุกตัวกันอยู่ที่บริเวณปากแม่น้ำในบริเวณ 100 กิโลเมตรแรก หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มขยับออกมาเรื่อย ๆ จาก 100 กิโลเมตร ก็ลามมาถึง 700 กิโลเมตร ปัจจุบันขยายวงกว้างไปถึง 800 กิโลเมตรเข้าไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม Pozdnyakov ไม่ได้ต้องการตำหนิบริษัทเอกชนที่เข้ามาทำการประมงในแม่น้ำแห่งนี้เสียทั้งหมด เพราะชนพื้นเมืองเองก็นำสถานะพิเศษของตนมาใช้ในทางมิชอบเช่นกัน โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการยื่นขออนุญาตทำการประมงในกรณีพิเศษ สำหรับคนพื้นเมือง 30,000 คน ซึ่งการยื่นขออนุญาตนี้มีจำนวนประชากรมากเกินกว่าผลสำรวจสำมะโนประชากรที่ปรากฏออกมาเสียอีก

“พวกเขาได้พบกับเรื่องราวที่ ‘เหมือนดั่งเทพนิยาย’ ที่เชื่อว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้ได้เข้ามาปิดกั้นน่านน้ำ โดยไม่ปล่อยให้ชนพื้นเมืองที่อยู่ท้ายน้ำได้รับประโยชน์อย่างเช่นในอดีต แต่สิ่งที่พวกเขาคิดนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด”

“เป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องแย่งชิงกัน เพื่อครอบครองทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด” Pozdnyakov กล่าวปิดท้าย


การประท้วงและปลาแซลมอน

ในช่วงต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา เกิดการลุกฮือขึ้นมาประท้วงของประชาชนในเมืองฮาบารอฟสค์ หลังจากรัฐบาลได้ทำการจับกุม Sergei Furgal ผู้ลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ ของพรรคเสรีประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนักธุรกิจหลายรายในภูมิภาคและพื้นที่ใกล้เคียงในปี ค.ศ. 2004 และ ค.ศ. 2005 โดยการจับกุมครั้งนี้ผู้ประท้วงเชื่อว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

การประท้วงดังกล่าวนอกจากจะจัดขึ้นเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้ Sergei Furgal แล้ว ยังเป็นการแสดงออกของประชาชนว่าพร้อมที่จะต่อต้านรัฐบาลกลาง และหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงคือ ต้องการแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง เพราะทรัพยากรในดินแดนของพวกเราเหมือนถูกปล้นเอาไปปรนเปรอเมืองผู้คนในเมืองหลวงเกือบทั้งหมด ขณะเดียวกันผู้ประท้วงหลายคนได้ระบุว่า ปลาแซลมอนที่นำไปขายที่มอสโกกลับมีราคาถูกกว่าขายที่ฮาบารอฟสค์เสียอีก

Margarita Kryuchkova หัวหน้าบรรณาธิการ FishNews.ru รายงานว่า 90% ของจำนวนปลาแซลมอนที่จับได้ในแม่น้ำอามูร์ถูกส่งออกไปที่เอเชีย และอีก 10% ขายในประเทศ ซึ่ง Margarita เชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคไม่มีอะไรที่ถูกหรือผิดไปเสียทั้งหมด “การเข้ามาของบริษัทเอกชนเหล่านี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ” เธอกล่าว

หลังจากที่ Odzyal ได้ให้ข่าวแก่สื่อท้องถิ่นว่า จำนวนประชากรปลาแซลมอนลดลงเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 จึงทำให้หลายบริษัทได้ออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่จำนวนประชากรปลาลดลงนั้นมาจากภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เพราะการทำประมงเชิงพาณิชย์ของบริษัทแต่อย่างใด

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่และสถาบันวิจัยการประมงและสมุทรศาสตร์แห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำกรุงมอสโก ได้คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรปลาแซลมอนจะกลับมาวางไข่ในแม่น้ำอามูร์น้อยลง เนื่องจากปลาเหล่านี้ต้องการหลีกเลี่ยงกระแสน้ำอุ่นของแม่น้ำอามูร์ และเลือกวางไข่ที่เมืองคัมชัตกา ซึ่งเป็นคาบสมุทรอีกด้านหนึ่งของทะเลโอค็อตสค์ ถัดจากเมืองฮาบารอฟสค์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ

__

FACT: คัมชัตกา ได้รับฉายาว่าเป็นดินแดนแห่งน้ำแข็ง ไฟ และหมีใหญ่ โดยในดินแดนทางตะวันออกไกลแห่งนี้มีทั้งถ้ำน้ำแข็งและภูเขาไฟมากกว่า 150 ลูก ในจำนวนนี้ มีถึง 29 ลูกที่ยังคงมีการปะทุอยู่ ความงดงามและยิ่งใหญ่ของภูเขาไฟในคัมชัตกาได้รับการยอมรับในระดับสากลให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ. 1996 มีเมืองเปโตรปาฟลอฟสก์คัมชัตสกี เป็นเมืองหลวง นอกจากนี้ คัมชัตกายังมีหุบเขาน้ำพุร้อนและสรรพสัตว์มากมายหลายชนิด โดยเฉพาะปลาแซลมอนที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

Alexander Zavolokin ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาแซลมอนจาก North Pacific Fisheries Commission ในโตเกียว กล่าวว่า แม้กระแสน้ำอุ่นจะส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลาแซลมอนในภูมิภาค แต่จำนวนปลาแซลมอนในรัสเซียกลับเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่จำนวนปลาแซลมอนในญี่ปุ่นกลับลดลง เพราะกระแสน้ำเย็นของรัสเซียมีความเยือกเย็นสูงกว่าในทะเลญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชากรปลาแซลมอนในรัสเซียมีปริมาณมากกว่า

แต่ Sergei Korostelyov ผู้ประสานงานโครงการการประมงอย่างยั่งยืนประจำสำนักงานภูมิภาคคัมชัตกาของกลุ่ม World Wildlife Fund (WWF) กล่าวว่า แม้จะมีประเด็นเรื่องกระแสน้ำอุ่นเข้ามา ทำให้แซลมอนเปลี่ยนเส้นทางการวางไข่มาทางตอนเหนือมากขึ้น แต่ข้อมูลจากอามูร์ยังมีน้อยเกินกว่าจะนำมาใช้พิสูจน์ได้ เพราะที่คัมชัตกาเองก็มีอัตราการจับปลาแซลมอนที่ลดลงเช่นกัน 

ด้าน Alexei Kokorin หัวหน้าโครงการสภาพภูมิอากาศและพลังงานของ WWF Russia โต้กลับว่า การปัดความรับผิดชอบ และโยนความผิดไปที่สภาพอากาศนั้นเป็นเรื่องยากจะยอมรับ “การนำสภาพอากาศเข้ามาอ้างในกรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย มันก็แค่ข้ออ้างที่จะปัดความรับผิดชอบ และเราไม่ได้รับ ‘สัญญาณ’ ใด ๆ ที่บอกว่าแม่น้ำอามูร์มีความอุ่นขึ้นเลย” เขากล่าว


ที่มา

  • Evan Gershkovich. Salmon Is Disappearing From Russia’s Amur River. It’s Taking Local Tradition With It. www.themoscowtimes.com

เรื่องโดย