น่านน้ำนอกจังหวัดฟุกุชิมะ เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งตกปลาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น อุตสาหกรรมรุ่งเรือง โดยเฉพาะปลากระเบนที่มีราคาสูงสุดในตลาด แต่ทุกสิ่งกลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2011 หลังเกิดอุบัติเหตุสารกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ ซึ่งเป็นผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งร้ายแรง
เศรษฐกิจด้านประมงเปลี่ยนไปหลังภัยธรรมชาติ
﹏
แม้เวลาผ่านไปเกือบทศวรรษแล้ว ภาคการประมงของจังหวัดฟุกุชิมะต่างก็กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังเผชิญกับปัญหาจากน้ำที่ปล่อยออกมาจากโรงงานนิวเคลียร์ที่ยังคงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอยู่ ชาวประมงในฟุกุชิมะต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัด ทั้งเวลาและสถานที่ โดยมีแนวคิดคือป้องกันการผูกขาดสินค้าและดูแลด้านราคาไม่ให้สูงเกินไป
ปี ค.ศ. 2019 ปริมาณการจับปลาจากน่านน้ำนอกจังหวัดฟุกุชิมะอยู่ที่ 14% ของปริมาณที่จับได้ในปี ค.ศ. 2011 อย่างไรก็ตามยังพอมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ราคาของปลาตระกูลซีกเดียว (Flatfish) อย่างปลากระเบน หรือปลาลิ้นหมา ที่ส่งไปยังตลาดค้าส่งกลางกรุงโตเกียวเริ่มฟื้นตัวขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วญี่ปุ่น
ท่าเรือประมงทั้งหมดของฟุกุชิมะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังจากซ่อมแซมและสร้างท่าเรือขึ้นใหม่ รวมถึงการนำเรือที่สูญหายหรือถูกทำลายจากสึนามิกลับมาซ่อมแซมอีกครั้ง โดยแรงกระตุ้นครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 เมื่อคณะผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลยืนยันความปลอดภัยของปลาทุกชนิดในภูมิภาค
ชิบะ โคอิจิ เจ้าของธุรกิจค้าส่งอาหารทะเลในเมืองนามิเอะ จังหวัดฟุกุชิมะ เล่าว่า เขาสร้างโรงงานแปรรูปขึ้นมาใหม่ หลังจากถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดหายไป โดยเริ่มกลับมาดำเนินการธุรกิจอีกครั้งในเดือนเมษายน ค.ศ. 2020 เขากำลังดำเนินการตามคำขอจากคู่ค้าทางธุรกิจในโตเกียว ซึ่งคู่ค้าเหล่านี้พร้อมที่จะซื้อปลาจากฟุกุชิมะอีกครั้ง
“เราไม่ได้รู้สึกว่ามีคนคิดว่าสินค้าของเราแปดเปื้อนอีกต่อไป ส่วนข่าวลือแย่ ๆ ก็บรรเทาลงแล้ว ผมเชื่อว่าสินค้าจากน่านน้ำฟุกุชิมะที่เราจับได้จะสามารถกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งตราบเท่าที่เรายังคงคุณภาพต่อไป”
Photo Credit: leisure/dict.longdo.com
ชีวิตของชาวประมงรุ่นเยาว์ในน่านน้ำฟุกุชิมะ
﹏
สหกรณ์ประมงแห่งหนึ่งในเมืองโซมะ จังหวัดฟุกุชิมะ มีโครงการที่กำลังดำเนินการในอนาคต รวมถึงแผนการขยายพื้นที่ลากอวนและเพิ่มความถี่ในการลากอวนเป็นสองเท่า ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของโครงการคือ การเลี้ยงดูชาวประมงรุ่นเยาว์กว่า 20 คน พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของประมงอวนลากตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011
ทาคาฮาชิ โทรุ หัวหน้าอุตสาหกรรมประมงกล่าวว่า “วันนี้เราเห็นแล้วว่าบนเรือประมงทุกลำมีชาวประมงอายุน้อยมากขึ้น ตั้งแต่วัยรุ่นถึง 30 ปี เราต้องการให้พวกเขาตั้งความหวังสำหรับอนาคตที่จะประสบความสำเร็จ เป็นเวลาเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ เราจำเป็นต้องก้าวผ่านไปให้ได้และเร่งการฟื้นตัวให้เกิดเร็วขึ้น”
ความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
﹏
แม้จะมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ภาคการประมงของจังหวัดฟุกุชิมะยังต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกในไม่กี่ปีข้างหน้า ด้านเจ้าหน้าที่เองก็ไม่แน่ใจว่าจะจัดการกับน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีได้อย่างไร
ขณะที่คณะผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลเปิดเผยรายงานเมื่อต้นปี ค.ศ. 2020 ว่า วิธีแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือ การปล่อยน้ำที่มีระดับไอโซโทปต่ำกว่า (ตามที่รัฐบาลกำหนด) ลงสู่ทะเลหรือชั้นบรรยากาศ จากรายงานพบว่า ควรมีการปล่อยลงมหาสมุทร โดยสังเกตว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อื่น ๆ ทั่วญี่ปุ่นได้ดำเนินการไปแล้ว
ขณะที่ ทาชิยะ คันจิ หัวหน้าอุตสาหกรรมประมงของฟุกุชิมะ จากสหกรณ์ประมง Soma Futaba กล่าวว่า
“ในที่สุดเราก็มาถึงจุดที่ผู้บริโภคบอกว่า ปลาฟุกุชิมะปลอดภัยและสามารถกินได้ หากคุณยังปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนลงน่านน้ำฟุกุชิมะอีก ความพยายามทั้งหมดและสิ่งที่เราทำจนถึงตอนนี้ก็จะสูญเปล่า และไม่มีทางที่จะดำเนินต่อไปได้อีก แม้ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลก็ตาม”
ด้าน TEPCO ได้เสนอว่า จะให้เงินชดเชยเพิ่มเติมหากการปล่อยน้ำจากโรงงานลงสู่ทะเลจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของจังหวัดฟุกุชิมะ แม้ชาวประมงส่วนใหญ่ในพื้นที่จะได้เงินชดเชยจาก TEPCO กันแล้วก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ
“เราต้องการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ต้องพึ่งพาเงินชดเชย ความหวังหลักของเราคือการหารายได้จากปลาที่พวกเราจับได้เอง” ทาชิยะ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา
- Fukushima’s fishing industry claws back from the brink. Goto Shunsuke. Tateyama Ryo. www3.nhk.or.jp/nhkworld