การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2564 สร้างความตระหนกให้กับคนไทยทั่วประเทศไม่น้อย เพราะสาเหตุของการเกิดวิกฤตครั้งนี้หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า เกิดจากระบบบริหารจัดการของภาครัฐที่อาจย่อหย่อนเกินไป ทั้งกรณีระบบการเข้าเมืองผิดกฎหมายและการปล่อยให้มีบ่อนการพนัน อันนำมาสู่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเองก็เร่งจัดการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยประกาศจัดซื้อวัคซีนเพิ่มรวมเป็น 63 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกือบ 60 ล้านคนได้รับวัคซีนที่นำเข้ามาอย่างเพียงพอ (อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 6 ม.ค. 64)
ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งเรื่องการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ การรักษาระยะห่าง รวมถึงไทยยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติในเรื่องของการสาธารณสุข เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับโลก อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดนี้ ยังคงเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยในการจัดการกับสถานการณ์ที่มิอาจประเมินได้ในอนาคต
ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 รัฐบาลได้ปรับปรุงวิธีการทำงานให้เป็นแบบ New Normal โดยมีแนวทางสำคัญ คือ จัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม รับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ โดยออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ การดูแลสภาพแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นเรื่อง “ความยั่งยืน” และ “การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน”
❛❛
รัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนใน 5 มิติ คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ ความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
❜❜
ปัจจุบันรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ซึ่งเกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมไทยสู่โลก และเดินหน้าไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนอย่างน้อยใน 5 มิติ คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ ความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลมีการจัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ, โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย, อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค, โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี และสร้าง Big Data ซึ่งช่วยให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
สำหรับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจไทยบนเวทีโลก รัฐบาลมุ่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน พึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยลง โดยคาดหวังให้ภาคเกษตรกรรมต้องเป็น Smart Farming ใช้ช่องทาง Online ในการจำหน่าย สินค้าต้องมีการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) และต้องเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ผนวกกับการใช้จุดแข็งด้านการแพทย์ของไทย และมุ่งเน้นด้าน Creative Economy โดยนำวัฒนธรรมของไทยมาใช้เพิ่มมูลค่า รวมทั้งสนับสนุน Local Startup หรือ Local Artist เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
ด้านบริการสาธารณสุข แม้ไทยมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลมองว่าควรเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่น การผลิตวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 และให้ความสำคัญกับการแพทย์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งหากพัฒนาจุดนี้ได้ จะทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของโลกอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรวัยแรงงานกำลังลดลง จึงต้องหาวิธีดึงศักยภาพของประชาชนออกมา เช่น ดูแลให้คนสูงอายุมีสุขภาพดี ขจัดการคุกคามทางเพศ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความสำคัญต่อการดูแลแรงงานย้ายถิ่นฐาน และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 96 ของเศรษฐกิจโดยรวม
ประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกคน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน จึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง