Kind Global

ญี่ปุ่น ต้นแบบการพัฒนาเมืองของบังกลาเทศ


หากจะเปรียบญี่ปุ่นและบังกลาเทศเสมือนบ้านพี่เมืองน้องกันก็คงไม่ผิดแผกมากนัก เพราะทั้งสองประเทศมีความพยายามอย่างมากในการกระชับความสัมพันธ์ต่อกัน เริ่มตั้งแต่ที่บังกลาเทศประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1971

KiNd Global จะพาไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น ประเทศมหาอำนาจแห่งเอเชียตะวันออก และบังกลาเทศ ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ว่ามีความเป็นมาอย่างไรทั้งสองประเทศถึงกลายเป็นพี่น้องกันได้


ธงชาติที่คล้ายกัน เกิดจากความตั้งใจเพื่อสานสัมพันธ์พี่น้อง
□ ■

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1971 บังกลาเทศ ได้แยกตัวออกจากประเทศปากีสถาน โดยได้รับการยินยอมให้เป็นเอกราชเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1971 สาเหตุมาจากที่ชาวปากีสถานตะวันออก (บังกลาเทศ) ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลาง ซึ่งอยู่ในปากีสถานตะวันตก เนื่องจากถูกแสวงหาประโยชน์และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก

หลังจากบังกลาเทศได้รับเอกราชแล้ว ญี่ปุ่นนับเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ยอมรับว่าบังกลาเทศเป็นรัฐชาติ (Nation State) อย่างเป็นทางการ โดยญี่ปุ่นรับรองสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างมิตรภาพอันอบอุ่นขึ้นระหว่างสองประเทศนับตั้งแต่นั้นมา

แม้แต่โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยังกล่าวว่า “เข้าใจว่าบังกลาเทศมีความตั้งใจในการออกแบบธงชาติให้มีลักษณะคล้ายธงชาติญี่ปุ่น เพื่อเปรียบให้เราเหมือนเป็นพี่น้องกัน”


ทัศนคติของชาวบังกลาเทศต่อประเทศญี่ปุ่น
□ ■

จากข้อมูลของ Pew Research Center ที่ทำการสำรวจทัศนคติของประเทศในภูมิภาคเอเชียต่อญี่ปุ่น พบว่า ชาวบังกลาเทศมีมุมมองที่ดีต่อประเทศญี่ปุ่นถึง 71% ซึ่งสูงกว่ามุมมองที่มีต่อประเทศอินเดียอยู่ที่ 70% ส่วนมุมมองที่ดีต่อประเทศปากีสถานมีเพียง 50% ทำให้บังกลาเทศเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนญี่ปุ่นมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นรองจากประเทศไทย เพราะผลสำรวจพบว่าคนไทยมีมุมมองที่ดีต่อประเทศญี่ปุ่นมากถึง 81%

แม้เศรษฐกิจของบังกลาเทศ จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในเอเชียใต้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบังกลาเทศมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมาก ทั้งก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ ถ่านหิน และทรัพยากรทางทะเล

แม้ชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่รัฐบาลบังกลาเทศเองก็เน้นให้เกิดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการดึงการลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่ญี่ปุ่นก็ได้สนับสนุนความพยายามของบังกลาเทศอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราช


ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและบังกลาเทศ
□ ■

โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในงานเฉลิมฉลอง 50 ปีการได้รับเอกราชของบังกลาเทศว่า ญี่ปุ่นจะทำงานร่วมกับบังกลาเทศต่อไป ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของบังกลาเทศอย่างจริงจัง เช่น ลงทุนสร้าง MRT ในอาคารผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติธากา และสร้างท่าเรือน้ำลึกมาตาร์บารีเพื่อการเชื่อมต่อในภูมิภาคที่ดีขึ้นภายใต้ Bengal Industrial Growth Belt (BIG-B) หรือแถบการเติบโตของอุตสาหกรรมของอ่าวเบงกอล


ยิ่งไปกว่านั้นญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของบังกลาเทศ เช่น สุขภาพ การศึกษา และให้การสนับสนุนในหลาย ๆ ด้านเพื่อตอบสนองความต้องการของบังกลาเทศต่อไป

“เรามั่นใจว่าความร่วมมือของญี่ปุ่นในด้านเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของบังกลาเทศให้ก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในที่สุด” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าว


บังกลาเทศซึ่งตั้งอยู่ในจุดสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุทวีปอินเดีย เรียกว่าประสบความสำเร็จในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และถือเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ซึ่งญี่ปุ่นได้ให้เงินกู้สนับสนุนงบประมาณฉุกเฉิน สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสนับสนุนด้านอื่น ๆ ต่อบังกลาเทศ เพื่อที่จะเอาชนะวิกฤตนี้ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็คาดหวังต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างบังกลาเทศให้ก้าวกระโดดไปข้างหน้าเช่นกัน


ที่มา


เรื่องโดย